ไม่พบผลการค้นหา
ไต้หวันกำลังสั่นคลอนจากกระแสการล่วงละเมิดทางเพศและการทำร้ายร่างกาย ซึ่งได้รับการจุดประกายมาจากซีรีส์ใน Netflix โดยหลายคนมองว่าเป็นการปลุกกระแส MeToo ให้เกิดขึ้นในไต้หวัน

ในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมามีเหยื่อมากกว่า 90 ราย ที่ออกมาเปิดเผยว่า พวกเธอเป็นเหยื่อของการถูกล่วงละเมิดทางเพศ โดยในช่วงแรกกระแสดังกล่าวมีศูนย์กลางการวิจารณ์มาจากประเด็นการเมืองและพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล และต่อมาก็ได้แพร่กระจายไปทั่วสังคมไต้หวัน โดยมีการกล่าวหาแพทย์ อาจารย์ กรรมการกีฬา และยูทูบเบอร์ ในข้อหาการล่วงละเมิดทางเพศและการคุกคาม

สำหรับผู้หญิงหลายคนแล้ว ก่อนที่จะเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในครั้งนี้ ไต้หวันได้รับการยกย่องไปทั่วโลกในประเด็นทางการเมืองที่ก้าวหน้า และความมุ่งมั่นต่อความเท่าเทียมทางเพศ อย่างไรก็ดี ไช่อิงเหวิน ประธานาธิบดีหญิงคนแรกของไต้หวัน ได้ออกมากล่าวขอโทษและสัญญาว่าจะมีการปฏิรูปในประเด็นทางเพศของประเทศ

“ก่อนหน้านี้ เรามีคดีเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศเพียงคดีเดียว และไม่เคยเกิดขึ้นเยอะถึงขนาดนี้” หลิวเหวิน นักวิจารณ์สังคมจากสถาบัน Sinica Academia ของไต้หวันกล่าวกับ BBC "นี่เป็นครั้งแรกที่ประเด็นสำคัญในอุตสาหกรรมต่างๆ ถูกเปิดเผยในเวลาเดียวกัน"

ผู้หญิงคนหนึ่งในวัย 30 ปีบอกกับ BBC ว่า เธอรู้สึกถึงแรงผลักดันที่จะเรียกร้องถึงความยุติธรรมอีกครั้ง หลังจากที่เธอถูกเจ้านายของเธอ ซึ่งเป็นนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมที่มีชื่อเสียงล่วงละเมิดทางเพศ เมื่อปีที่แล้ว เซิงได้เรียกร้องขอการเยียวยาครั้งแรกแต่กลับถูกปฏิเสธ แต่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเธอได้โพสต์เรื่องนี้ในโลกออนไลน์อีกครั้ง และได้รับคำขอโทษจากที่ทำงานและนักเคลื่อนไหวที่ล่วงละเมิดทางเพศเธอ นอกจากนี้ นักเคลื่อนไหวรายดังกล่าวยังลาออก โดยเขากล่าวว่าเขารู้สึกเสียใจกับการกระทำของเขา ในขณะเดียวกันกล่องจดหมายของเธอก็เต็มไปด้วยข้อความจากผู้หญิงคนอื่นๆ ที่ส่งเรื่องร้องเรียนของตนเองเกี่ยวกับนักเคลื่อนไหวคนดังกล่าว

Wave Makers ออกอากาศบน Netflix เมื่อปลายเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ถูกมองเป็นตัวจุดชนวนกระแส MeToo ในช่วงแรกของไต้หวัน โดยซีรีส์ดังกล่าวมีเนื้อหาเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่การเมืองของไต้หวัน ที่ทำงานเกี่ยวกับการเลือกตั้ง โดยฉากที่โด่งดังในขณะนี้ คือตอนผู้ช่วยสาวอยู่ตามลำพังกับที่ปรึกษาของเธอ ซึ่งเป็นโฆษกหญิงของพรรคและตัวละครหลักของรายการ โดยผู้ช่วยสาวลังเลที่จะเปิดเผยเรื่องการล่วงละเมิดที่เธอได้รับจากเพื่อนร่วมงานชาย เพราะรู้ว่าเรื่องนี้จะเป็นอันตรายต่อจุดยืนของพรรค และอาจส่งผลต่ออาชีพของเธอได้ แต่สุดท้ายเธอก็ตัดสินใจที่จะบอกเรื่องนี้แก่ที่ปรึกษาของเธอ และที่ปรึกษาของเธอที่ดำรงตำแหน่งโฆษกพรรคก็ตัดสินใจที่จะช่วยเธอ

“อย่าปล่อยให้เรื่องนี้หายไปเฉยๆ” ที่ปรึกษาษาพูดเพื่อปัดความกังวลของผู้ช่วยสาวออกไป "เราไม่สามารถปล่อยให้สิ่งต่างๆ เป็นไปอย่างง่ายดาย มิฉะนั้น เราจะเหี่ยวเฉาและตายไป" ทั้งนี้ ฉากดังกล่าวนี้ถูกมองว่าเป็นการเรียกร้องอย่างชัดเจน สำหรับช่วงเวลาที่ MeToo กำลังเป็นกระแสแผ่ไปทั่วไต้หวัน

เมื่อวันที่ 31 พ.ค. เฉินเชียนจิ่ว อดีตเจ้าหน้าที่ของพรรค DPP ได้โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก สะท้อนถึงรายการ "อย่าปล่อยให้เรื่องนี้หายไปเฉยๆ" โดยเธอเล่าถึงประสบการณ์การถูกคุกคามทางเพศในที่ทำงานของเธอ เมื่อเธอแจ้งความร้องทุกข์ เธอกล่าวว่า หัวหน้างานหญิงของเธอ ซึ่งรับผิดชอบกิจการสตรีของพรรค ได้ถามเธอว่า "ทำไมคุณไม่พูดอะไรเลย" ก่อนที่จะแนะนำให้เธอเก็บเรื่องนี้เป็นความลับ 

โพสต์ของเฉินได้สร้างความสนใจให้กับชาวไต้หวันเป็นอย่างมาก จนโพสต์ดังกล่าวได้ถูกแชร์ไปหลายพันครั้ง และเหมือนเรื่องนี้จะเป็นแรงกระตุ้นให้คนอื่นๆ ทั้งในและนอกแวดวงการเมือง ให้ออกมาเปิดเผยประสบการณ์การถูกล่วงละเมิดที่เคยได้รับ 

หลังจากโพสต์ของเฉินได้เผยแพร่ออกไป เจ้าหน้าที่หญิงอดีตสมาชิกพรรค DPP อีกคนได้ออกมาเปิดเผยว่า เธอเคยถูกหัวหน้างานชายของเธอคุกคามเธอด้วยวาจา อีกทั้งยังขัดขวางการร้องเรียนของเธอเกี่ยวกับการล่วงละเมิดของเพื่อนร่วมงานชายอีกคน ทั้งนี้ หลังจากที่เรื่องราวดังกล่าวได้ถูกเผยแพร่ออกไป มันส่งผลให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงของพรรค DPP หลายคนลาออก 

ในขณะเดียวกัน ทางพรรคก๊กมินตั๋ง (KMT) ที่เป็นฝ่ายค้าน ก็ถูกกล่าวหาในกรณีคล้ายกัน โดยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผู้สื่อข่าวคนหนึ่งกล่าวว่า ฟูคุนไค ส.ส.จากพรรค KMT ได้บังคับให้เธอจูบกับเขาในงานแถลงข่าวเมื่อปี 2557 อย่างไรก็ดี ฟูปฏิเสธข้อกล่าวหา อีกทั้งยังกล่าวว่าเขาไม่เคยล่วงละเมิดทางเพศต่อผู้หญิงหรือผู้ใต้บังคับบัญชา

ยังมีสมาชิกพรรค KMT เองที่ได้ออกมาเปิดเผยว่า เธอเคยถูกผู้สื่อข่าวที่มีชื่อเสียงล่วงละเมิด ซึ่งหลังจากนั้นเขาก็ออกมขอโทษสำหรับพฤติกรรมของเขา โดยบอกว่าเขาเมาและจำเหตุการณ์ในคืนที่เป็นประเด็นไม่ได้

โดยขณะนี้ ผู้หญิงไต้หวันหลายคนได้ออกมาเปิดเผยถึงการถูกล่วงละเมิดทางเพศมากกว่า 90 ราย โดยกล่าวหาผู้ชายที่มีชื่อเสียงจำนวนหลายคนในไต้หวัน เช่น หวังตัน ผู้นำการประท้วงที่เทียนอันเหมิน เป่ยหลิง นักกวีที่ลี้ภัย และ บาร์โตสซ์ รีส์ นักการทูตชาวโปแลนด์ 

ความเท่าเทียมทางเพศถือเป็นความภาคภูมิใจของไต้หวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างจีน ที่รัฐบาลคอมมิวนิสต์ส่งเสริมบทบาททางเพศแบบดั้งเดิม และกดดันให้ผู้หญิงมีลูกมากขึ้น อีกทั้งยังไม่มีผู้หญิงเป็นผู้นำทางการเมืองระดับสูงในจีน ในขณะที่ไต้หวันมีผู้หญิงเป็นผู้นำมาเกือบทศวรรษแล้ว โดนไต้หวันมีผู้แทนที่เป็นผู้หญิงในรัฐสภากว่า 43% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 29%

ไช่ ประธานาธิบดีไต้หวัน ออกมาตอบรับต่อกรณีที่เป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าวอย่างรวดเร็ว โดยเธอได้กล่าวขอโทษสำหรับความล้มเหลวของพรรคของเธอ ทั้งนี้ ไช่ได้กล่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ผู้ที่ออกมาพูดเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศคือเหยื่อ ไม่ใช่ผู้ก่อปัญหา และเธอขอบคุณพวกเขาที่เปิดเผยประสบการณ์ของพวกเขา “สังคมโดยรวมของเราต้องให้การเรียนรู้แก่ตัวเองอีกครั้ง” เธอกล่าว

กระแส MeToo ในไต้หวัน ยังมาถึงในช่วงเวลาสำคัญของการเมืองประเทศ โดยไต้หวันกำลังเตรียมพร้อมสำหรับการเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือน ม.ค.ปีหน้า

หนึ่งวันหลังจากการโพสต์บนเฟซบุ๊กของเหยื่อที่ถูกสมาชิกพรรค DPP ล่วงละเมิดทางเพศ วิลเลียม ไหล่ ประธานพรรค DPP และผู้สมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือน ม.ค.ปีหน้า ได้ออกมากล่าวขอโทษและสั่งให้มีการปรับปรุง กับวิธีที่พรรคจัดการกับข้อกล่าวหาการล่วงละเมิดทางเพศ "เราจะไม่ปล่อยให้มันเป็นแบบนี้" ไหล่กล่าวสะท้อนวลีของซีรีส์ Wave Makers โดยเขาได้เสนอให้มีการสอบสวนอย่างเป็นทางการ เกี่ยวกับข้อกล่าวหาและการปฏิรูปเพื่อเสริมสร้างกฎหมายการล่วงละเมิดทางเพศ

ผู้เขียนบทของซีรีส์กล่าวว่า พวกเขาไม่เคยคาดหวังปฏิกิริยาสาธารณะเช่นนี้ โดยพวกเขาระบุกับ BBC ว่าพวกเขาหวังว่า "ผ่านการพรรณนาถึงการคุกคามในที่ทำงานในละคร ผู้คนสามารถค้นหาภาษาที่ใช้ร่วมกันเพื่อแสดงความคาดหวังว่าควรจัดการกับปัญหาดังกล่าวอย่างไร"

สำหรับเซิง เธอรู้สึกขอบคุณที่ซีรีส์เปิดบทสนทนา ในประเด็นการคุกคามทางเพศต่อผู้หญิงเธอ “ขณะชมการแสดง ฉันรู้สึกถึงสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น แต่ฉันไม่มีผู้บังคับบัญชาที่สนับสนุนเหมือนกับที่ปรากฏในซีรีส์ซึ่งต่อสู้เพื่อความยุติธรรม” เธอกล่าว "ในละคร ในที่สุดหัวหน้าพรรคหญิงก็ออกมาขอโทษและบอกให้ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อรอเธอเพื่อทวงความยุติธรรม อย่างไรก็ตาม ฉันไม่แน่ใจว่าสังคมจะพร้อมรับการเคลื่อนไหวของ MeToo ในไต้หวันอย่างเต็มที่หรือไม่"


ที่มา:

https://www.bbc.com/news/world-asia-65875474?fbclid=IwAR3EXg2jEPUWZpv6bfMSo-pGhKvCnQA9u3UmCtAHbwK-eIXJ-Tr3cNL-DmM