แม้การทำแท้งอย่างเสรีและถูกต้องตามกฎหมายจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้น้อยครั้งในประเทศที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกซึ่งมีมุมมองต่อพฤติกรรมดังกล่าวว่า 'เป็นบาป' อย่างไรก็ดี เมื่อ 30 ธ.ค.ที่ผ่านมา ตามเวลาท้องถิ่นประเทศอาร์เจนตินา สภาล่างของรัฐบาลลงมติด้วยคะแนน 38 ต่อ 29 เสียง ผ่านกฎหมายการทำแท้ง สำหรับสตรีที่มีอายุครรภ์ภายในระยะเวลา 14 สัปดาห์แรก
ความก้าวหน้าดังกล่าว ทำให้ประเทศบ้านเกิดของ สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส หรือ โป๊ป ฟรานซิส ผู้ดำรงตำแหน่งประมุขคริสตจักรนิกายโรมันคาทอลิกคนปัจจุบันที่เข้ามาดำรงตำแหน่งในปี 2556 กลายเป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในกลุ่มประเทศลาตินอเมริกาที่ผ่านกฎหมายดังกล่าว ก่อนหน้านี้ รัฐบาลคิวบาอนุญาตให้สตรีทำแท้งได้เป็นรายกรณี ขณะที่รัฐบาลเม็กซิโกและอุรุกวัยอนุญาตเป็นบางส่วนเท่านั้น
วุฒิสมาชิก ซิลเวีย ซาเพ็ก เผยความอัดอั้นตันใจของเธอหลังการลงมติว่า "ณ วันที่ฉันเกิดเกิด ผู้หญิงไม่มีสิทธิเลือกตั้ง เราไม่ได้รับมรดก เราไม่สามารถจัดการทรัพย์สินของตนเองได้ เราไม่สามารถมีบัญชีธนาคาร เราไม่มีบัตรเครดิต เราสามารถเข้าเรียนระดับอุดมศึกษา"
"ณ วันที่ฉันเกิด ผู้หญิงคือคนไม่สำคัญ"
เพื่อตอกย้ำกับความก้าวหน้าที่ผู้หญิงทุกคนร่วมผลักดันกันมา เธอทิ้งท้ายเพียงว่า ให้สิ่งที่ร่วมสู้กันมากลายเป็นความคงอยู่ถาวรและมั่นคงผ่านการ "ทำให้เป็นกฎหมาย"
ขณะ มาเรียลา เบลสกี กรรมการบริหาร แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศอาร์เจนตินา ทั้งยังดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูต โครงการ 'ชีดีไซด์ส' (She Decides) การเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิสตรีทั่วโลก เผยว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในอาร์เจนตินาวันนี้เป็นย่างก้าวสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงการปกป้องสิทธิของผู้หญิงกับการตัดสินใจต่อการสืบพันธุ์ของพวกเธอเอง
แม้ความก้าวหน้านี้จะเป็นสัญลักษณ์สำคัญกดดันประเทศข้างเคียง ทว่าการตัดสินใจของอาร์เจนตินายังนับเป็นส่วนน้อยของวิถีปฏิบัติในลาตินอเมริกา อย่างไรก็ดี ข้อมูลจากสถาบันกัตมาเชอร์ชี้ว่า ระหว่างปี 2558 - 2563 การทำแท้งเถื่อนในลาตินอเมริกาและแคริเบียนมีสูงถึง 5.4 ล้านครั้ง ข้อมูลยังชี้เพิ่มว่า การท้องไม่พร้อมเกิดขึ้นสูงในประเทศที่กฎหมายห้ามให้เกิดการทำแท้งเสรี
อ้างอิง; NPR, CNN. NYT, Reuters
ข่าวที่เกี่ยวข้อง;