กรณีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ผ่านกฎหมายเดือนเดียวมากถึง 66 ฉบับ จนถูกตั้งคำถามถึงความชอบธรรมหลังมีพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้ง ตลอดจนมารยาททางการเมือง ความรอบคอบ และการไม่มีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนอย่างเพียงพอ
เช่น พ.ร.บ.โรงงาน, พ.ร.บ.อุทยาน, พ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์และพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ล่าสุด รัฐบาล คสช.สั่งกระทรวงพาณิชย์เตรียมการแสดงเจตจำนงเข้าร่วม CPTPP ก่อนหน้ารัฐบาลเลือกตั้ง โดยรองนายกฯ สมคิดจะไปรายงานต่อประเทศญี่ปุ่นสิ้นเดือนนี้
นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 18 ก.พ. ที่ผ่านมา มีการประชุมร่วมระหว่างนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ และนางสาวชุติมา บุณยะประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ รักษาการ รมว.พณ.
โดยจากเดิมที่กำหนดให้มีการประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) เพื่อพิจารณาขอเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิค (CPTPP) ในวันอังคารที่ 26 ก.พ.นี้เพื่อเร่งนำเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต้นเดือนมีนาคมนั้น เปลี่ยนเป็นการเข้าที่ประชุม ครม. ที่เกี่ยวข้องเพื่อหารือลดความเห็นต่าง แล้วค่อยยื่นหนังสือแสดงเจตจำนง (Letter of Intent) ในช่วงหลังวันที่ 24 มี.ค. แต่ต้องทำให้เสร็จก่อนที่จะมีรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศ
“ขณะนี้ สังคมไทยกำลังเผชิญกับการบริหารราชการแผ่นดินที่ผิดปกติที่สุดครั้งหนึ่ง เมื่อสภานิติบัญญัติที่มาจากการรัฐประหารใช้ช่วงวาระสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งออกกฎหมายหลายฉบับที่มีความขัดแย้งและอาจสร้างผลประโยชน์ให้กระจุกตัวกับนายทุนเพียงบางกลุ่ม ซึ่งภาคประชาชนและภาควิชาการกำลังส่งเสียงท้วงติง"
ขณะเดียวกันในซีกของฝ่ายบริหาร รัฐบาล คสช.กำลังจะนำประเทศไปผูกพันกับความตกลง CPTPP โดยจะไปยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงหลังวันเลือกตั้งวันอาทิตย์ที่ 24 มี.ค. เพื่อลดผลกระทบกับคะแนนเสียง แต่ก่อนที่รัฐบาลที่จะมาจากการเลือกตั้งจะเข้ามาบริหารประเทศ แม้ว่า รัฐธรรมนูญปี 2560 ที่หนึ่งในแม่น้ำห้าสายของ คสช.จะเขียนให้ทำได้ด้วยการลดทอนกระบวนการจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ แต่คำถามที่ใหญ่กว่าคือเรื่องความชอบธรรมที่จะทิ้งทวนเอื้อประโยชน์ต่อทุนใหญ่เช่นนี้ เพราะความตกลง CPTPP มีข้อผูกพันที่ทำคนไทยทั้งประเทศต้องประสบหายนะชั่วลูกชั่วหลาน
สำหรับการเข้าเป็นสมาชิก ไทยจะส่งหนังสือแสดงเจตจำนงไปที่นิวซีแลนด์ ซึ่งเป็นผู้ประสานงานรับสมาชิกใหม่ จากนั้นสมาชิกทั้ง 11 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา ชิลี ญี่ปุ่น มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ เปรู สิงคโปร์ และเวียดนาม จะตั้งคณะทำงานขึ้นเพื่อพิจารณาและเจรจาต่อรองกับไทย ก่อนที่จะประกาศรับไทยเป็นสมาชิกใหม่ ซึ่งรายงานข่าวระบุว่า รองนายกฯ สมคิดจะไปแจ้งต่อญี่ปุ่นปลายเดือนนี้
ทางด้านนายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) ระบุว่า การเข้า CPTPP บังคับให้ไทยแก้กฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชในเอกสารการประชุมเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาระบุชัดว่า ต้องมีการแก้ พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช เพื่อให้เป็นไปตามอนุสัญญา UPOV1991 ซึ่งที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรพยายามเสนอแก้ไข แต่ถูกเกษตรกรคัดค้าน เพราะจะไม่อนุญาตให้เกษตรกรเก็บหรือแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ แต่เราก็ยังเห็นความพยายามเช่นนี้ในการเสนอ พ.ร.บ.ข้าว ที่มีทุนเกษตรยักษ์ใหญ่เข้ามาเกี่ยวข้อง
รวมถึงการใช้ความตกลงระหว่างประเทศมาบีบบังคับให้ไทยต้องทำตาม จากการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพที่คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติได้สนับสนุนการวิจัยพบว่า ผลกระทบจากการปฏิบัติตาม UPOV1991 จะทำให้เกษตรกรต้องจ่ายค่าเมล็ดพันธุ์แพงขึ้น 50,000-100,000 ล้านบาท ไทยจะสูญเสียรายได้จากการที่บรรษัทไม่แบ่งปันผลประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพในประเทศ คิดเป็นมูลค่า 10,000-50,000 ล้านบาท และความสูญเสียที่เกิดจาการปิดกั้นการพัฒนายาจากทรัพยากรชีวภาพของไทยอีก 60,000 ล้านบาท
ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี ตั้งคำถามว่า ทำไมญี่ปุ่นต้องเชียร์ไทยให้เข้า CPTPP จนรองนายกฯ สมคิดต้องไปรายงานด้วยตัวเองปลายเดือนนี้ ให้ดูตัวเลขตลาดเมล็ดพันธุ์โลก 8 บริษัทครอง 75% ญี่ปุ่น 2 บริษัท คือ ซาคาตะ และ ตาคิอิ บริษัทไทย เจียไต๋ เป็นพันธมิตรกับตาคิอิ และยังเป็นพันธมิตรกับมอนซานโต/ไบเออร์ ญี่ปุ่นพยายามผลักดันมาโดยตลอด เพื่อให้เกิดการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่และนักปรับปรุงพันธุ์ที่เข้มข้น ตาม UPOV1991 ความตกลงนี้จะขยายสิทธิผูกขาดให้บริษัทมีสิทธิผูกพันคล้ายกับกฎหมายสิทธิบัตร
พร้อมสนับสนุนให้บริษัทครอบครองเมล็ดพันธุ์อย่างถูกกฎหมายโดยไม่แบ่งปันผลประโยชน์ให้กับชุมชนเจ้าของเมล็ดพันธุ์ อุตสาหกรรมเกษตรยักษ์ใหญ่ในประเทศจะได้ประโยชน์ เชื่อมโยงกับบริษัทเมล็ดพันธุ์ยักษ์ใหญ่ เช่น เจริญโภคภัณฑ์ และสมาชิกสมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย ที่สมาชิกคือบรรษัทข้ามชาติด้านเมล็ดพันธุ์ทั้งสิ้น ดังนั้น การที่รายงานของกระทรวงพาณิชย์ที่ว่าจะมีการเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจึงเป็นเรื่องที่ไม่เป็นจริง เพราะนี่คือหายนะถาวรของสังคมไทย ไม่มีทางเยียวยาได้เลย” ผอ.ไบโอไทระบุ
รองประธานเอฟทีเอ ว็อทช์ กล่าวเสริมว่า ความตกลงนี้แม้จะมีการพักประเด็นที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับยาออกไป แต่ไทยจะต้องแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับยา ให้ อย. ต้องไม่รับขึ้นทะเบียนยาจากบริษัทอื่น หากยานั้นได้มีอีกบริษัทยื่นจดสิทธิบัตรไว้แล้ว ซึ่งเท่ากับเป็นการสะกัดกั้นและชะลอการแข่งขันของบริษัทยาอื่น ทำให้เกิดการผูกขาดด้วยบริษัทยาเพียงบริษัทเดียวได้ยาวนานยิ่งขึ้น ทั้งๆที่สองกระบวนการนี้ คือ การขึ้นทะเบียนยาโดย อย. กับการจดสิทธิบัตรโดยกรมทรัพย์สินทางปัญญาที่ผ่านมา เป็นกระบวนการที่ไม่ต้องขึ้นต่อกันและกัน
"นอกจากนี้ยังมีข้อบทที่ใช้ชื่อว่า Regulatory Coherent และ Anti-Corruption ที่ปิดกั้นการเจรจาต่อรองราคายา, การออกนโยบายสาธารณะที่คุ้มครองผู้บริโภค คุ้มครองสิ่งแวดล้อมและสุขภาพประชาชน ทั้งนี้ คณะทำงานของกระทรวงสาธารณสุขได้เคยชี้ให้เห็นผลกระทบที่จะเกิดขึ้น แต่ถูกเจ้าหน้าที่ของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศตำหนิว่า กระทรวงสาธารณสุขไม่ใช่เจ้าจักรวาล ให้สนใจแต่เฉพาะบทที่ตัวเองเกี่ยวข้องเท่านั้น”
รองประธานเอฟทีเอ ว็อทช์ ระบุว่า รัฐบาล คสช.ต้องยุติกระบวนการยื่นหนังสือเจตจำนงเข้า CPTPP แล้วรอให้รัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งเป็นผู้ตัดสินใจด้วยการมีกระบวนการการจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศที่ดีเพียงพอ ดังที่เคยปรากฎในรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่มีทั้งการทำวิจัยที่เป็นกลาง การรับฟังความคิดเห็นที่รอบด้านมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง การเสนอร่างกรอบเจรจาเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาเพื่อลดผลกระทบ และการลงประชามติก่อนที่รัฐสภาจะตัดสินใจผูกพันในความตกลง
“เราขอเรียกร้องให้ทุกพรรคการเมืองออกมาแสดงจุดยืนในเรื่องนี้ เพราะตามมารยาททางการเมือง รัฐบาลใดที่ใกล้หมดวาระนั้น จะไม่ไปแอบทำความตกลงระหว่างประเทศที่มีผลกระทบต่อประชาชนชั่วลูกชั่วหลาน โดยต้องวางมือเพื่อให้ประชาชนได้เลือกรัฐบาลใหม่เป็นผู้เข้ามาตัดสินใจ อย่ายอมให้รัฐบาล คสช.ใช้ช่วงเวลาสุดท้ายลักไก่สร้างประโยชน์มหาศาลให้กับกลุ่มทุนที่หนุนหลัง”