จากกรณีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง โพสต์ภาพพร้อมเล่าเรื่องราวเพื่อร้องขอความเป็นธรรม กรณีที่คุณพ่อป่วยฉุกเฉิน แต่รถ 1669 ไม่สามารถเข้ามารับที่สนามบินดอนเมืองได้ เพราะสนามบินเป็นเขตต้องห้าม พอให้รถโรงพยาบาลในสนามบินไปส่ง ก็ส่งให้แค่รัศมี 8 กิโลเมตร สุดท้ายพ่อลำไส้ปริแตก ทำให้เสียโอกาสการใช้สิทธิ UCEP ที่ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ สามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทุกแห่งที่ใกล้ที่สุดได้ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ภายใน 72 ชั่วโมง ทำให้ทางครอบครัวไม่สามารถเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลได้
ล่าสุด ร.อ.อ. นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ชี้แจงถึงเรื่องนี้ว่า อยากให้พี่น้องประชาชนให้เข้าใจ การทำงานในพื้นที่พิเศษ เช่น สนามบิน รถไฟใต้ดิน ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานความปลอดภัยของของสถานที่นั้นๆ ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานสากล ทำให้มีข้อจำกัดการเข้าการออก สำหรับกรณีการเจ็บป่วยฉุกเฉิน ขอเรียนว่า ทางสนามบินเอง ก็มีทีมแพทย์ฉุกเฉินอยู่ตลอดเวลา อย่างในสนามบินดอนเมือง เข้าใจว่าอยู่ในรูปแบบของคลินิก ที่ทำการรักษาในเบื้องต้น แต่ในส่วนของเรื่องการผ่าตัดอาจไม่มีขีดความสามารถ จึงจำเป็นต้องส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลใกล้เคียง เช่น โรงพยาบาลภูมิพล
กรณีของผู้ที่ร้องเรียนเข้ามานั้น เข้าใจว่า ผู้ร้องเรียนไม่ทราบเบอร์ฉุกเฉินของสนามบิน คงจำได้เฉพาะเบอร์โทร 1669 จึงโทรมาเบอร์นี้ ซึ่งถือเป็นเรื่องดี แต่พื้นที่พิเศษ โดยเฉพาะสนามบินมีข้อจำกัดเรื่องความปลอดภัยอยู่ ตรงนี้ ควรประสานไปยังทีมแพทย์ของสนามบินนั้นๆ เพื่อทำการรักษา หรือ ส่งต่อผู้ป่วยจะดีที่สุด อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ สพฉ.เองไม่ได้นิ่งนอนใจ ต่อไปจะมีการพูดคุยกับสนามบินต่างๆ รวมทั้งพื้นที่พิเศษอื่นๆ เช่น รถไฟฟ้าใต้ดิน การทางพิเศษว่าเราจะเชื่อมต่อกันอย่างไร หรืออาจจัดตั้ง หน่วยปฏิบัติการฉึกเฉินเชื่อมต่อกับระบบ 1669 อยู่ในทุกสนามบินเลย ตรงนี้เราก็จะมีการพูดคุยเพื่อพัฒนาต่อไป
เลขาธิการ สพฉ. กล่าวด้วยว่า กรณีที่ผู้ร้องเรียนระบุ เสียโอกาสใช้สิทธิ UCEP ขอเรียนว่า จากการตรวจสอบในเบื้องต้น บิดาของผู้ร้องเรียนเป็นโรคเกี่ยวกับลำไส้ หากคัดแยกประเภท ก็จะเข้าการเจ็บป่วยแบบเร่งด่วน ไม่ใช่การเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ ที่อาจทำให้เสียชีวิตในทันที ทั้งนี้สพฉ.จะทำการตรวจสอบอีกครั้ง ว่าเข้าเกณฑ์ หรือไม่ และยินดีเป็นหน่วยงานกลางในการทำความเข้าใจกับทุกฝ่าย
ยืนยันว่า ประชาชนคนไทยทุกคน มีสิทธิในการใช้ UCEP เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติมีสิทธิทุกที่ โดยไม่มีเงื่อนไขในการเรียกเก็บค่า รักษาพยาบาล ภายใน 72 ชั่วโมง ที่ไม่ต้องจ่าย เพราะมี การคุ้มครองจากกองทุนต่างๆ อยู่แล้ว ทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน ถ้าโรงพยาบาลรัฐ ก็จะมีทุกกองทุนจ่ายอยู่แล้ว แต่โรงพยาบาลเอกชน กองทุนจะจ่ายเฉพาะฉุกเฉินวิกฤติ ถ้าไม่เข้าฉุกเฉินวิกฤติ ต้องสำรองจ่ายไปก่อน และขอเบิกกับกองทุนในภายหลังได้ กรณีจะเข้าเกณฑ์ หรือไม่เข้าเกณฑ์ทางโรงพยาบาลเอกชน จะส่งเรื่องมายังสพฉ. จากนั้นไม่เกิน 1 ชั่วโมง ก็จะรู้ทันทีว่าเข้าเกณฑ์ เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ หรือไม่อย่างไร
ประสบการณ์จากหญิงสาว
ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อ ผู้ใช้เฟซบุ๊กวันดี สันติวุฒิเมธี ได้โพสต์ภาพพร้อมข้อความเล่าว่า เมื่อวันที่ 6 ส.ค.ที่ผ่านมา คุณพ่อของเธอเดินทางกลับจากสนามบินอุดรธานีมายังสนามบินดอนเมือง เวลา 21.15 น. ด้วยอาการปวดท้องอย่างหนักและท้องบวมมากขึ้นเรื่อยๆ จนกดทับปอด และหายใจสั้นมาก ซึ่งก่อนขึ้นเครื่องคุณพ่อโทรมาบอกลูกๆ ให้มารอรับ แต่เมื่อมาถึงสนามบิน ทางสายการบินพาคุณพ่อไปของโรงพยาบาลเอกชนในสนามบิน
ลูกๆ ช่วยกันโทรเรียก 1669 ให้เข้ามารับที่สนามบิน แต่ทาง 1669 แจ้งว่าเข้ามารับไม่ได้เพราะสนามบินเป็นเขตต้องห้าม และบอกว่าให้พาคนป่วยออกมานอกเขตสนามบินถึงจะรับไปส่งที่ รพ. ได้ ซึ่งขณะนั้นคุณพ่อปวดท้องมาก และลูกๆ ไม่กล้าเสี่ยง จึงขอให้รถพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชนให้ไปส่งโรงพยาบาลให้ ซึ่งทางคลินิกบอกว่า สามารถไปส่งได้แค่โรงพยาบาลในรัศมี 8 กิโลเมตรเท่านั้น
หลังจากคุณพ่อไปถึงโรงพยาบาลรัฐใกล้สนามบินดอนเมือง ทางโรงพยาบาลบอกว่า เคสของคุณพ่อไม่เร่งด่วน และให้รอผ่าตัดอีก 2 วัน แต่ทางลูกๆ ไม่สามารถทนเห็นคุณพ่อเจ็บได้ จึงตัดสินใจติดต่อโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งให้มารับ
คุณหมอของโรงพยาบาลเอกชนดังกล่าวประเมินว่าลำไส้ของคุณพ่อมีความเสี่ยงต่อการปริแตก ถ้าไม่ผ่าตัดด่วนคุณพ่อก็จะต้องเสียชีวิตจากลำไส้แตกอย่างแน่นอน และคุณพ่อได้รับการผ่าตัดในวันรุ่งขึ้น (7 ส.ค.) เวลา 10.00 น. และรับการผ่าตัดเป็นครั้งที่ 2 ที่โรงพยาบาลอีกแห่ง รวมแล้วพักรักษาตัวในโรงพยาบาลนาน 1 เดือนเต็ม
หลังจากคุณพ่อได้รับการผ่าตัดช่วยชีวิตแล้ว ทางลูกๆ ได้ติดต่อไปยังสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน หรือ UCEP เพื่อสอบถามถึงการใช้สิทธิฉุกเฉิน 72 ชั่วโมง ซึ่งเจ้าหน้าที่คอลเซ็นเตอร์บอกว่า อาการของคุณพ่อเข้าข่ายผู้ป่วยฉุกเฉินจริง แต่ไม่สามารถใช้สิทธินี้ได้ เพราะคุณพ่อไม่ได้มาถึงโรงพยาบาลด้วยรถ 1669 หรือรถยนต์ส่วนตัวของครอบครัว แต่เพราะถูกส่งต่อมาจากโรงพยาบาลอื่น
ขณะนี้ทางครอบครัวกำลังเตรียมยื่นจดหมายเรียกร้องความเป็นธรรมกรณีป่วยฉุกเฉินที่สนามบิน เพราะอยากให้กรณีของพ่อได้เป็นวิทยาทานกับครอบครัวอื่นที่อาจเกิดเหตุป่วยฉุกเฉินที่สนามบินหรือหากต้องการใช้สิทธิฉุกเฉินในอนาคต