ไม่พบผลการค้นหา
‘ชัชชาติ’ แถลงบริหาร กทม. ครบ 1 ปี รับต้องปรับปรุงเรื่องประชาสัมพันธ์ควบคู่ลงพื้นที่ ให้ประชาชนชีวิตดีขึ้นได้จากการทำงาน พร้อมเปิดเว็บไซต์ติดตามความคืบหน้านโยบาย

วันที่ 13 มิ.ย. 2566 ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. แถลงผลงาน “365 วัน ทำงาน ทำงาน ทำงาน” ตามนโยบาย 9 ด้าน 9 ดี เนื่องในวาระครบรอบ 1 ปีการทำงาน ตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2565 

ชัชชาติ เริ่มต้นกล่าวถึง 5 แนวคิดหลักในการขับเคลื่อนงาน กทม. ตั้งแต่ปีแรก และในอีก 3 ปีข้างหน้าว่า มุ่งเน้นที่

1. ผลักดันโครงการขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจ็กต์) เชื่อมโยงกับการพัฒนาเส้นเลือดฝอย

2.เปลี่ยนวิธีคิดในการทำงานของข้าราชการกทม.โดยยึดประชาชนเป็นที่ตั้ง

3.เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานโดยใช้เทคโนโลยีและข้อมูล

4.สร้างความโปร่งใสในการทำงาน เริ่มต้นตั้งแต่แนวคิดของผู้บริหาร

5.แสวงหาความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการพัฒนาเมือง

“ขณะนี้ กทม. เริ่มดำเนินการไปแล้ว 211 จากทั้งหมด 226 นโยบาย มีที่ยังไม่ดำเนินการ 11 นโยบาย เพราะรอการประสานงานกับหน่วยงานอื่น เช่น การกระตุ้นเศรษฐกิจเมือง ผลักดันให้เมืองกลายเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของภูมิภาค ขณะที่ 4 นโยบายได้ยุติการดำเนินการไป เช่น การทำห้องให้นมบุตร หรือห้องสมุดเคลื่อนที่ตามชุนชน เพราะวิถีชีวิตของคนเปลี่ยนไป ซึ่งประชาชนสามารถเข้าไปติดตามความคืบหน้าของทุกนโยบาย กทม. ได้ที่เว็บไซต์ http://openpolicy.bangkok.go.th “ ชัชชาติ กล่าว

พร้อมย้ำว่า หลักการทำงานในปีแรกจะเป็นปีของการนำนโยบายมาทำ Sandbox หรือต้นแบบ เช่น ในมิติการศึกษาหรือสาธารณสุข เพราะหากนำนโยบายใหม่ไปปฏิบัติกับกรุงเทพทั้งหมด เมื่อเกิดข้อผิดพลาดขึ้น ความเสียหายก็จะรุนแรง เราจึงเริ่มต้นจากการทำต้นแบบเล็กๆ นำแนวคิดนโยบายมาทดสอบก่อน และเมื่อประสบความสำเร็จ ในปีถัดๆ ไป จะเป็นการต่อยอดและขยายผลนโยบายไปสู่การปฏิบัติในวงกว้างมากขึ้น

ในรายละเอียดของการดำเนินนโยบายในแต่ละด้านที่โดดเด่นที่ ชัชชาติ กล่าวไว้ มีดังนี้

“ปลอดภัยดี” — กทม.แก้ปัญหาไฟฟ้าดับแล้ว 28,000 ดวง เปลี่ยนเป็นหลอดไฟ LED แล้ว 11,400 ดวง โดยคาดว่าภายใน 2 เดือนนี้ จะเปลี่ยนได้ครบ 25,000 ดวง ติดตั้งกล้องป้องกันอาชญากรรมเพิ่ม 160 ตัว และปรับปรุงระบบการขอภาพจากกล้องวงจรปิดให้สามารถขอได้ภายใน 24 ชั่วโมง

“โปร่งใสดี” — การรายงานปัญหาโดยประชาชนผ่าน Traffy Fondue จากทั้งหมด 3 แสนกว่าเรื่อง กทม.แก้ไปแล้วกว่า 2.1 แสนเรื่อง พร้อมส่งต่ออีกกว่า 6 หมื่นเรื่องให้หน่วยงานอื่นช่วยเข้ามาดูแล เพราะปัญหาทุจริตคอร์รัปชันไม่ใช่แค่เรื่องของเงิน แต่ยังรวมถึงเวลา หากเราแก้ปัญหาให้ประชาชนล่าช้า มันก็เหมือนเราทุจริตเวลาพวกเขาด้วย 

“เศรษฐกิจดี” — จัดระบบสอบรับคนพิการเข้าเป็นข้าราชการ กทม. โดยตรง ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของหน่วยงานรัฐ สามารถสร้างการจ้างงานคนพิการได้แล้ว 9 อัตรา ยังไม่รวมลูกจ้างซึ่งเป็นผู้พิการอีกกว่า 300 ราย ร่วมมือกับธนาคารกรุงไทย ออกสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ค้าหาบเร่แผงลอยที่มีอยู่ราว 2 หมื่นรายทั่วกทม. รวมถึงปรับสัดส่วนคณะกรรมการหาบเร่ฯ ให้มีส่วนร่วมจากผู้ค้า ประชาชน และนักวิชาการมากขึ้น

“เดินทางดี” - ปรับปรุงทางเท้า 221.47 กม. เป็นคอนกรีตเสริมเหล็กด้านล่างให้แข็งแรงขึ้น สร้างมาตรฐานทางเท้าใหม่ ลอกท่อ 7,115.4 กม. ลอกคลองและเปิดทางน้ำไหลรวม 2,948 กม. ซึ่งประชาชนหลายคนสะท้อนมาว่า ฝนตกแล้ว น้ำลงเร็ว 

“สิ่งแวดล้อมดี” - ประชาชนและผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการแยกขยะกันแล้วกว่า 6,400 ราย สามารถทำให้ขยะลดลงได้ถึง 300-700 ตัน/วัน ตรวจค่าฝุ่น 9,291 สถานประกอบการ ตรวจควันดำยานพาหนะแล้วกว่า 1.3 แสนคัน 

“สุขภาพดี” — เพิ่มเวลาการให้บริการศูนย์บริการสาธารณสุข บริการหมอถึงชุมชนผ่านหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ เปิดให้บริการหมอทางไกล (telemedicine) ในโรงพยาบาลสังกัดกทม. แล้ว 11 แห่ง 

“สังคมดี” — เปิดระบบจองการขออนุญาตใช้พื้นที่สาธารณะทำกิจกรรมต่างๆ 21 แห่ง เปิดจุดบริการคนไร้บ้าน ทำให้จำนวนคนไร้บ้านลดลงได้ถึง 490 คน เมื่อเทียบกับตัวเลขปี 2565 

“เรียนดี” — ปรับค่าอาหารกลางวันเด็กจาก 20 เป็น 32 บาท จ้างงานพนักงานธุรการกว่า 300 คนเพื่อช่วยลดภาระงานครูในโรงเรียน แจกผ้าอนามัยฟรี 3.8 แสนชิ้น ให้เด็กกว่า 2.3 หมื่นคน ติดตั้งคอมพิวเตอร์ 2.1 หมื่นเครื่อง ใน 437 โรงเรียน

“บริหารจัดการดี” — จัดสรรงบฯ ปี 2566 กว่า 5,024 ล้านบาทเพื่อพัฒนาเส้นเลือดฝอย ยกเลิกข้อบัญญัติที่ล้าสมัยเกี่ยวกับการควบคุมอาคาร 11 ฉบับ ทำประกันอุบัติเหตุให้พนักงานกวาดถนนกว่า 9 พันคน 

ดำเนินการประเมินที่ดินในกทม.แล้ว 99.42% เพื่อจัดเก็บภาษี ทดสอบทำงบฯฐานศูนย์ในปี 2567 เริ่มต้นที่ 1,000 ล้านบาท 

ระหว่างแถลงผลงาน ชัชชาติ ได้กล่าวถึงสัดส่วนรายรับของ กทม.ในปี 2566 แบ่งเป็นรายได้ที่รัฐเก็บให้ 65,000 ล้านบาท รายได้ที่ กทม.จัดเก็บจากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอีก 14,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับรายจ่าย กทม.มีรายจ่ายที่ประจำพื้นฐาน ประมาณ 46,847 ล้านบาท รายจ่ายผูกพัน 14,010 ล้านบาท โครงการงบลงทุนนโยบายผู้บริหาร 18,555 ล้านบาท หรือคิดเป็น 23% พร้อมชี้แจงภาระหนี้สิ้นของ กทม.ที่เกี่ยวข้องกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว แบ่งเป็นหนี้ค่าติดตั้งระบบการเดินรถ (E&M) 19,000 ล้านบาท หนี้ค่าเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) 42,400 ล้านบาท และหนี้โครงสร้างพื้นฐาน 50,000 ล้านบาท ทั้งที่ กทม.มีเงินสะสมปลอดภาระผูกพันเพียง 49,837 ล้านบาท ดังนั้น แนวทางการดำเนินโครงการในอนาคตต้องระวัง และทำอย่างรอบคอบ 

ชัชชาติ ยังกล่าวถึงกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถามหาถึงผลงานของตนเองว่า จากนี้อาจจะต้องประชาสัมพันธ์ให้มากขึ้น แต่ใจจริงอยากให้ประชาชนรู้สึกด้วยตนเองว่าชีวิตดีขึ้นจากการบริหารของเรา จากงานที่เราทำ หากประชาสัมพันธ์ให้ตายแล้วประชาชนไม่รู้สึกว่าชีวิตดีขึ้น ก็ไม่มีความหมาย สิ่งสำคัญ คือ "ทำงานให้หนัก ลงพื้นที่" หากทำดีจริง ประชาชนจะรับรู้ได้เอง โดยไม่ต้องประชาสัมพันธ์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าภายในงานยังได้มีการเปิดตัว LINE OA: @bangkokofficial ให้ประชาชนติดตามนโยบาย และเข้าถึงบริการต่าง ๆ ของ กทม.ได้ด้วย