ไม่พบผลการค้นหา
ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขของอังกฤษเตือนว่า อย่าทุ่มความหวังทั้งหมดไปที่วัคซีนป้องกันไวรัสโคโรนาเท่านั้น และทุกคนอาจต้องปรับตัวให้เข้ากับไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้ รวมถึงควรมีวิจัยสำรองในกรณีที่ไม่สามารถคิดค้นวัคซีนได้ในปีหน้า

เดวิด นาบาร์โร อาจารย์ด้านสาธารณสุขจากมหาวิทยาลัยอิมพีเรียลคอลเลจ กรุงลอนดอนของอังกฤษ และทูตเรื่องโควิด-19 องค์การอนามัยโลกหรือ WHO กล่าวเตือนว่า มนุษยชาติจะต้องใช้ชีวิตร่วมกับไวรัสโคโรนา “ในอนาคตอันใกล้นี้” และต้องปรับตัวให้ได้ เนื่องจากยังไม่มีอะไรสามารถการันตีได้ว่าวัคซีนจะพัฒนาได้สำเร็จ

นาบาร์โรให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวดิออบเซฟเวอร์ว่า ประชาชนไม่ควรสรุปเอาว่าวัคซีนจะพัฒนาได้สำเร็จแน่นอนเร็วๆ นี้ และมนุษย์ไม่จำเป็นจะต้องพัฒนาวัคซีนที่ปลอดภัยและประสิทธิภาพในการป้องกันไวรัสทุกตัว เพราะการพัฒนาวัคซีนสำหรับไวรัสบางตัวก็เป็นเรื่องยากมาก ดังนั้น ในอนาคตอันใกล้นี้ ทุกคนก็จะต้องหาทางใช้ชีวิตร่วมกับไวรัสตัวนี้ในฐานะที่เป็น “ภัยคุกคามประจำ”

ดังนั้น New normal พฤติกรรมใหม่ที่จะกลายเป็นเรื่องปกติหลังวิกฤตครั้งนี้ ก็ควรต้องกักตัวคนที่แสดงอาการของโรคและคนที่มีปฏิสัมพันธ์ใกล้ชิด ป้องกันคนแก่ เพิ่มความสามารถของโรงพยาบาลให้รองรับผู้ป่วยได้มากขึ้น 

ก่อนหน้านี้ มาเรีย ฟาน แคร์โคฟ หัวหน้าหน่วยโรคใหม่และโรคติดต่อจากสัตว์สู่มนุษย์ของ WHO ก็ออกมาเตือนว่า ยังไม่มีหลักฐานใดๆ บ่งชี้ว่า การทดสอบแอนติบอดี้นี้จะแสดงผลออกมาว่าผู้รับวัคซีนจะมีภูมิคุ้มกันหรือไม่มีความเสี่ยงที่จะกลับมาติดเชื้ออีกรอบ 

 

ควรคิดแผนสำรอง เผื่อคิดวัคซีนไม่สำเร็จ

แม้ผู้เชี่ยวชาญหลายคนจะเตือนว่ารัฐบาลต่างๆ ยังไม่ควรผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองและเว้นระยะทางสังคมจนกว่าจะสามารถคิดค้นวัคซีนได้ ซึ่งคาดว่าจะพัฒนาวัคซีนได้สำเร็จพร้อมใช้งานในปี 2564 แต่หากวัคซีนและยารักษาโรคช่วยเราไม่ได้ ก็ควรมีมีการวิจัยทางเลือกสำรองโดยด่วน

การวิจัยเกี่ยวกับโควิด-19 ทั้งหมด มีการวิจัยที่เกี่ยวกับมาตรการที่ไม่ใช้วัคซีนหรือยารักษาโรคประมาณร้อยละ 40 แต่งานวิจัยเหล่านี้กลับได้รับความสนใจน้อยกว่าการพัฒนายารักษาโรคและการทดสอบต่างๆ อย่างมาก

ปัจจุบัน มีการทุ่มงบประมาณไปให้งานวิจัยเกี่ยวกับวัคซีนและยารักษาโรคโควิด-19 แล้วหลายล้านดอลลาร์ มีการพัฒนาวัคซีนและยารักษาโรคอยู่หลายร้อยตัว แต่มีการทดลองมาตรการที่ไม่ใช้ยาอยู่ไม่มีโครงการ และไม่มีการทดลองวิธีการปรับปรุงมาตรการที่ไม่ใช้ยาเหล่านี้

เอียน เฟรเซอร์ นักวิจัยที่เคยพัฒนาวัคซีน HPV และผู้เชี่ยวชายอีกหลายคนกล่าวว่า การคิดค้นวัคซีนไม่ใช่เรื่องง่ายหรือรวดเร็ว ดังนั้นควรจะมีแผนสำรองในการใช้มาตรการที่ไม่ใช่ยา ซึ่งต้องอาศัยงานวิจัยคุณภาพสูงเพื่อจะหาวิธีที่ได้ผลและเป็นไปได้

มาตรการที่ไม่ใช้ยา เช่น การล้างมือ สวมหน้ากาก และการเว้นระยะทางสังคมอาจดูเหมือนเป็นเรื่องง่าย แต่มาตรการเหล่านี้มีความซับซ้อนมาก และต้องการการวิจัยที่ดีเช่นกัน เพราะไม่ได้มีแค่การวิจัยเกี่ยวกับมาตรการนั้นๆ แต่ยังต้องวิจัยว่าจะกระตุ้นให้คนเริ่มทำตามและทำต่อไปอย่างไร จะต้องสื่อสารกับประชาชนอย่างไรจึงจะได้ผล

ยกตัวอย่าง แคมเปญรณรงค์ให้คนใส่หน้ากาก จะต้องให้ข้อมูลว่าหน้ากากแบบไหน ทำจากวัสดุอะไร ใครควรสวมหน้ากากบ้าง คนป่วย คนที่ดูแลผู้ป่วย หรือทุกคน? ควรสวมหน้ากากเมื่อไหร่และที่ไหน ส่วนการล้างมือก็มีรายละเอียดที่ต้องวิจัยเช่น ล้างมือบ่อยแค่ไหน ล้างเมื่อไหร่ สอนวิธีล้างมือที่ถูกต้องให้ประชาชนอย่างไรจึงจะดีที่สุด ใช้สบู่หรือเจลล้างมือดีกว่ากัน 

 

ปรับปรุงความมั่นคงด้านสาธารณสุขระดับโลก

ก่อนหน้านี้ เจเรมี ฮันต์ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขของอังกฤษออกมาแสดงความเห็นว่า ทางเดียวที่ประเทศจะเดินต่อไปได้ก็คือการสนับสนุนระบบสาธารณสุขระดับโลกใหม่ เพื่อให้มีความร่วมมือด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ และจะทำให้ประเทศร่ำรวยจะต้องช่วยเหลือระบบสาธารณสุขของประเทศยากจนมากขึ้น

ฮันต์กล่าวว่า ความมั่นคงด้านสาธารณสุขโลกควรจะมุ่งเน้นไม่กี่เรื่องที่สำคัญ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะสามารถแก้ไขปัญหาด้วยการร่วมมือกันกับประเทศอื่น ฮันต์ยังแสดงความเห็นเกี่ยวกับท่าทีของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ว่า หนึ่งในบทเรียนสำคัญจากวิกฤตครั้งนี้คือ “รักษาไม่ใช่สังหาร” และไม่ใช่การระงับเงินช่วยเหลือให้กับ WHO เพราะระบบสาธารณสุขทั่วโลกจะเข้มแข็งมากแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับประเทศที่อ่อนแอที่สุด

ฮันต์ยังระบุว่า แม้จีนจะถูกวิจารณ์อย่างชอบธรรมแล้วในเรื่องการปกปิดช่วงต้นการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งทำให้สถานการณ์ย่ำแย่ลงอย่างมาก แต่จะยิ่งแย่หากแพร่ระบาดไปในแอฟริกา ความร่วมมือระหว่างประเทศและความช่วยเหลือระบบสาธารณสุขของประเทศยากจนเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญอันดับต้นๆ

 

 ที่มา : The Guardian, The Conversation