ไม่พบผลการค้นหา
ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เผยรัฐบาลเตรียมตั้งทีมกฎหมายสู้ข้อกล่าวในอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ยืนกรานคำสั่ง คสช. ไม่ละเมิดข้อตกลงว่าด้วยการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย

มติชนออนไลน์รายงานว่านายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยความคืบหน้าในการเตรียมต่อสู้ทางกฎหมายกรณีบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด ออสเตรเลีย ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของบริษัท อัครา รีซอร์เซส จำกัด (มหาชน) ได้กล่าวหาการออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 72/2559 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2559 เรื่องการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ ซึ่งส่งผลให้การดำเนินกิจการเหมืองทองคำต้องถูกระงับลงตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 เป็นต้นมา เป็นการกระทำที่ละเมิดข้อตกลงว่าด้วยการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA : ทาฟต้า)

โดยปลัดกระทรวงอุตสหากรรมระบุว่า รัฐบาลได้สั่งการให้กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงยุติธรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันจัดตั้งคณะนักกฎหมายเพื่อต่อสู้หักล้างข้อกล่าวหาในคณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ และยืนยันว่ารัฐบาลไทยมีความพร้อมที่จะชี้แจงข้อกล่าวหาในทุกรณี และมั่นใจว่าคำสั่งของ คสช. ฉบับดังกล่าวนั้นมีเจตนารมณ์ชัดเจนในการแก้ปัญหาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน ซึ่งภาคประชาชนร้องเรียนมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งแก้ปัญหาความขัดแย้งของประชาชนในพื้นที่โครงการเหมืองแร่ทองคำ

“รัฐบาลมีหน้าที่ต้องดูแลประชาชนเพื่อให้เกิดความชัดเจน มิได้มุ่งหวังที่จะทำลายธุรกิจของภาคเอกชน แต่คำนึงถึงผลประโยชน์ของรัฐ ชุมชน ประชาชน ผู้ประกอบการอย่างครบถ้วนและชอบธรรม และคำสั่งคสช.เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย ชอบด้วยข้อตกลงทาฟต้าทุกประการ อีกทั้งยังสอดคล้องกับเป้าหมายแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ(ยูเอ็น) หรือ Sustainable Development Goals-SDGs ด้วย” นายพสุกล่าว

บริษัทคิงสเกต คอนโซลิเดทเทต ลิมิเท็ดผู้ดำเนินการเหมืองแร่ทองคำชาตรีได้ออกคำแถลงเมื่อวันที่ 2 พ.ย.ลงชื่อโดยนายรอส สมิท เคิร์ก ประธานกรรมการบริหาร โดยกล่าวว่าบริษัทตัดสินใจเดินหน้ายืนเรื่องเข้าสูกระบวนการอนุญาโตตุลาการกรณีเหมืองอัครา เนื่องจากที่ผ่านมาไม่สามารถผลักดันในเรื่องการต่อรองเรื่องค่าเสียหายที่เรียกร้องจากรัฐบาลไทยอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการปิดเหมืองทองชาตรีที่เป็นการดำเนินการที่ “ไม่ชอบตามกฎหมาย” ได้

บริษัทกล่าวในแถลงการณ์ว่า การดำเนินการเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายจากการถูกรัฐบาลไทยสั่งปิดเหมืองหนนี้อาศัยความตามข้อตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย และได้แต่งตั้งให้บริษัทกฏหมายสากลชื่อ คลิฟฝอร์ด ชานส์ เป็นตัวแทน และให้นายแอนดรู เบลล์ เป็นที่ทนายความที่ปรึกษากฎหมาย บริษัทกล่าวว่า การดำเนินการหนนี้ยังไม่ชัดเจนว่าจะใช้เวลาเท่าไหร่และบริษัทจะต้องใช้เงินจำนวนไม่น้อยขณะที่ผลนั้นยังไม่แน่ชัดว่าจะออกมาอย่างไร แต่การร้องเรียนอนุญาโตตุลาการเกิดขึ้นควบคู่ไปกับการเจรจาต่อรองที่กำลังดำเนินไประหว่างสองฝ่ายซึ่งอาจบรรลุข้อตกลงกันในระหว่างนี้ก็ได้

ก่อนหน้านี้รัฐบาลไทยได้สั่งปิดเหมืองทองชาตรีไปเป็นระยะเวลาราว 8 เดือนตั้งแต่ต้นปี 2560 โดยระบุว่าเป็นมาตรการรับมือกับผลกระทบที่เกิดจากการทำเหมือง โดยที่ก่อนหน้านั้นมีประชาชนร้องเรียนว่าได้รับผลกระทบด้านสุขภาพ การดำเนินการดังกล่าวใช้อำนาจตามมาตรา 44 ซึ่งบริษัทกล่าวว่าเป็นการสั่งปิดที่มิชอบ ขณะที่ยังไม่มีข้อสรุปชัดเจนในเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นภัยต่อสุขภาพของประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้เหมือง พร้อมกับเรียกร้องค่าเสียหายจนกลายเป็นเหตุให้มีการตั้งคณะบุคคลสองฝ่ายขึ้นมาเจรจาต่อรองกัน แต่ทั้งนี้ทางบริษัทไม่พอใจกับความล่าช้าและดำเนินการฟ้องร้องต่ออนุญาโตตุลาการดังกล่าว