นายแพทย์อีกุกจง ศัลยแพทย์ประจำโรงพยาบาลอาโจในกรุงโซลของเกาหลีใต้ แถลงความคืบหน้าเรื่องทหารแปรพักตร์ชาวเกาหลีเหนือซึ่งถูกส่งมารักษาอาการบาดเจ็บจากแผลถูกยิง หลังจากที่เขาหลบหนีข้ามเขตปลอดทหาร (DMZ) บริเวณหมู่บ้านปันมุนจอมที่กั้นแดนระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน โดยนายแพทย์อีระบุว่า ทหารคนดังกล่าวอายุประมาณ 20 ปี สูง 170 เซนติเมตร และหนักประมาณ 60 กิโลกรัม มีกระสุนฝังอยู่ที่ไหล่ บั้นท้าย รักแร้ และหัวเข่า
แม้การผ่าตัดจะสำเร็จไปได้ด้วยดี แต่อาการของทหารคนดังกล่าวยังไม่ดีขึ้น เพราะมีภาวะติดเชื้อ เนื่องจากร่างกายอ่อนแอ และแพทย์พบพยาธิหลายชนิดอยู่ในระบบทางเดินอาหารของเขาเป็นจำนวนมาก รวมถึงพยาธิตัวกลมที่มีความยาวกว่า 27 เซนติเมตร และ นพ.อีระบุว่า ตลอดเวลา 20 ปีที่เป็นแพทย์ในเกาหลีใต้ เขาไม่เคยพบคนไข้ที่มีพยาธิในร่างกายเป็นจำนวนมากขนาดนี้มาก่อน และภายในกระเพาะอาหารยังมีข้าวโพดและแกนข้าวโพดรวมอยู่ด้วย ทำให้สื่อตะวันตกหลายสำนักรายงานว่า ชะตากรรมของทหารแปรพักตร์คนดังกล่าวคือภาพสะท้อนของภาวะทุพโภชนาการที่กำลังเกิดขึ้นในเกาหลีเหนือ
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานอ้างอิงเกษตรกรแปรพักตร์ชาวเกาหลีเหนือรายหนึ่ง ซึ่งระบุว่าช่วงทศวรรษ 1990 เกิดภัยแล้งครั้งใหญ่ทั่วประเทศ ประกอบกับรัฐบาลเกาหลีเหนือถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ ทำให้การปันส่วนปุ๋ยเคมีสำหรับการเกษตรลดลงอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งถูกยกเลิกไป รัฐบาลจึงรณรงค์ให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยคอกแทน แต่การทำปศุสัตว์ในประเทศมีน้อย จึงไม่มีมูลสัตว์มากพอที่จะนำไปทำปุ๋ยคอก เกษตรกรจึงหันมาใช้อุจจาระจากครัวเรือนของตัวเอง ทั้งยังมีความเชื่อว่า พืชที่รดด้วยอุจจาระจะเติบโตงอกงามและรสชาติดีกว่าพืชที่ใช้ปุ๋ยชนิดอื่น
การใช้อุจจาระในการเกษตรเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้พยาธิวนเวียนอยู่ในวิถีชีวิตของประชาชนเกาหลีเหนือ เนื่องจากไข่พยาธิในอุจจาระจะปนเปื้อนไปกับพืชผัก ซึ่งถือเป็นอาหารหลักของชาวเกาหลีเหนือ และระบบสาธารณสุขของเกาหลีเหนือไม่ได้ถูกพัฒนาให้ทันสมัยหรือครอบคลุมทั่วถึงประชากรกว่า 25 ล้านคนในประเทศ ทำให้ปัญหาพยาธิเป็นสิ่งที่พบได้ทั่วไปในประชากรแทบทุกกลุ่ม
ศาสตราจารย์อันเดร ลันคอฟ ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพของมหาวิทยาลัยกุกมินในกรุงโซล ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบีบีซีว่า เกาหลีเหนือไม่ต่างจากประเทศยากจนอื่นๆ ที่ประชาชนส่วนใหญ่มีปัญหาสุขภาพเรื้อรัง โดยเขาอ้างถึงผลสำรวจสุขภาพชาวเกาหลีเหนือแปรพักตร์ที่เคยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลชอนันของเกาหลีใต้ เมื่อปี 2006-2014 พบว่า กลุ่มคนเหล่านี้ป่วยด้วยโรคติดเชื้อจากพยาธิ, วัณโรค รวมถึงไวรัสตับอักเสบชนิดบีและซี สูงกว่าอาการป่วยอื่นๆ
(AFP: ภัยแล้งและภาวะขาดแคลนอาหารในเกาหลีเหนือช่วงทศวรรษ 90 ทำให้ทารกเกิดใหม่มีปัญหาสุขภาพ)
อย่างไรก็ตาม ชาวเกาหลีเหนือแปรพักตร์ส่วนใหญ่ยังถือว่ามีสุขภาพแข็งแรงกว่ากลุ่มประชากรในประเทศอื่นๆ ที่มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวพอๆ กัน เช่น บังกลาเทศหรือกลุ่มประเทศในแอฟริกา เพราะอายุขัยเฉลี่ยของชาวเกาหลีเหนือสูงกว่าประชากรในประเทศที่กล่าวมาแล้วทั้งหมด
องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า ปัญหาโภชนาการของชาวเกาหลีเหนือในปัจจุบันไม่ใช่ภาวะขาดแคลนอาหารเพียงอย่างเดียว เพราะประชากรร้อยละ 70 ได้รับปันส่วนอาหารจากรัฐ ขณะที่ร้อยละ 30 เป็นเกษตรกร ซึ่งเพาะปลูกผลผลิตต่างๆ ด้วยตัวเองได้ และภาวะภัยแล้งระดับรุนแรงเท่าเมื่อ 20 ปีก่อนก็ไม่เคยเกิดขึ้นอีก แต่ปัญหาที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดในปัจจุบัน คือ การบริโภคสารอาหารไม่ครบหมู่ โดยเฉพาะโปรตีนกับไขมัน, ปัญหาการกระจายอาหารที่ไม่เท่าเทียมกันในประชากรหลากหลายกลุ่ม และการคว่ำบาตรจากนานาชาติจะทำให้ชาวเกาหลีเหนือจำนวนมากตกงานหรือขาดรายได้จนไม่สามารถซื้ออาหารที่หลากหลาย
รอยเตอร์เผยรายละเอียดว่า ช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา ชาวเกาหลีเหนือประยุกต์ตำรับอาหารให้เข้ากับสภาพความเป็นอยู่ เช่น เมนู 'อินจอก็อกกี' ซึ่งเป็นการนำกากถั่วเหลืองที่เหลือจากการทำน้ำมันมาอัดเป็นแผ่นแล้วปรุงรส ก่อนจะนำไปรับประทานกับซอสพริก เป็นแหล่งโปรตีนที่คนเกาหลีเหนือบริโภคแทนเนื้อสัตว์ซึ่งมีราคาแพงกว่ามาก แต่ปัจจุบันเมนูดังกล่าวกลายเป็นอาหารยอดนิยมที่คนเกาหลีเหนือรับประทานกันเพราะชอบในรสชาติมากกว่าจะกินเพื่อเป็นแหล่งโปรตีนทดแทนเหมือนสมัยก่อน
นับตั้งแต่นายคิมจองอึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือคนปัจจุบัน สืบทอดอำนาจต่อจากนายคิมจองอิลผู้เป็นบิดาในปี 2011 (พ.ศ.2554) เขาได้ผ่อนคลายกฎควบคุมการจำหน่ายอาหารทั่วประเทศ ทำให้มีร้านอาหารนอกระบบ หรือ 'ตลาดตั๊กแตน' (Jangmadang) เกิดขึ้นหลายร้อยแห่ง ขณะที่การค้าชายแดนระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือก็เติบโตขึ้น ทำให้มีการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ และประชาชนมีทางเลือกด้านอาหารเพิ่มขึ้น
ในกรุงเปียงยางมีร้านอาหารตะวันตก เช่น ร้านพิซซา ให้บริการแก่นักท่องเที่ยว และภายหลังได้เริ่มขยายบริการให้แก่ประชาชนเกาหลีเหนือที่ใช้เงินสกุลต่างประเทศจ่ายเป็นค่าอาหาร ทั้งยังมีการจัดเทศกาลเบียร์ขึ้นเมื่อปี 2016 (พ.ศ.2559) แต่ร้านอาหารเหล่านี้ยังกระจุกตัวเฉพาะในเขตเมือง ส่วนผู้ที่อาศัยในเขตชนบทยังต้องพึ่งพิงแหล่งอาหารที่พบในท้องถิ่น เช่น ผู้ที่อยู่ในเขตที่ราบสูงหรือภูเขาก็จะล่ากระต่าย สุนัข หรือสัตว์อื่นๆ มารับประทาน ผู้ที่อยู่ใกล้ทะเลก็พึ่งพิงโปรตีนจากอาหารทะเล
อย่างไรก็ตาม มาตรการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติบังคับใช้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เพื่อเป็นการตอบโต้ที่รัฐบาลเกาหลีเหนือละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ ทดสอบขีปนาวุธและอาวุธนิวเคลียร์อย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมายังเกาหลีเหนือเช่นกัน และอาจกระทบต่อปากท้องของประชาชนในอนาคต เช่น คนงานในเหมืองแร่ที่อาจตกงานเพราะเหมืองปิดตัว ขณะที่ชาวประมงก็ไม่สามารถนำสินค้าไปขายยังจีนได้อีก
ส่วนเดอะการ์เดียนรายงานว่า 'ทหารชั้นผู้น้อย' เป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่จะประสบปัญหาด้านอาหาร เพราะเกาหลีเหนือเป็นประเทศที่มีทหารและกำลังพลสำรองมากกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค เมื่อรัฐบาลเกาหลีเหนือถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและถูกตัดความช่วยเหลือจากต่างประเทศ สิ่งที่ปันส่วนให้กับประชากรกลุ่มนี้ก็จะลดน้อยลงไปด้วย และปัญหาทุจริตในกองทัพเกาหลีเหนือก็ทำให้ปัญหาต่างๆ แย่ลง เพราะนายทหารระดับสูงซึ่งมีกำลังซื้ออาหารราคาแพง นำสิ่งที่ได้รับปันส่วนจากรัฐไปขายโก่งราคาในตลาดนอกระบบ และแทบไม่เหลืออะไรไว้สำหรับเลี้ยงดูทหารชั้นผู้น้อย
โครงการอาหารและการเกษตรของสหประชาชาติออกแถลงการณ์เตือนเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาด้วยว่า ปัญหาขาดแคลนอาหารในเกาหลีเหนืออาจทวีความรุนแรงขึ้นอีกครั้ง เพราะปริมาณอาหารที่ผลิตได้และที่ได้รับความช่วยเหลือจากต่างประเทศจะลดน้อยลง ถ้าหากเกิดภัยแล้งรอบใหม่จะทำให้ประชาชนกว่า 25 ล้านคนได้รับผลกระทบที่รุนแรงอย่างไม่มีทางเลี่ยง
(AFP: ร้านอาหารในเกาหลีเหนือมีจำนวนเพิ่มขึ้น แต่อาจได้รับผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรในอนาคต)
เรียบเรียงโดย: ตติกานต์ เดชชพงศ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ทหารเกาหลีเหนือแปรพักตร์ถูกยิงขณะข้ามมาฝั่งใต้
ผู้อพยพเกาหลีเหนือใช้ไทยเป็นทางผ่านเพิ่มขึ้น
ทำไมคิมจองอึนถึงไม่ระงับโครงการนิวเคลียร์?
ดื่ม-กิน ข้ามเส้นเวลาและอุดมการณ์ที่ร้านอาหารเกาหลีเหนือกลางกรุงเทพฯ