ไม่พบผลการค้นหา
ดัชนีหุ้นไทยปิดตลาดติดลบ 25.14 จุด หลุดระดับ 1,700 จุด ครั้งแรกในรอบ 9 เดือน ผลจากแรงเทขายหุ้นขนาดใหญ่กลุ่มพลังงาน-วัสดุก่อสร้าง-ธนาคาร ผสมโรงเงินทุนต่างชาติไหลออกต่อเนื่อง หลังเฟดประกาศขึ้นดอกเบี้ยปีนี้ 4 ครั้ง นักวิเคราะห์ชี้ สถานการณ์ต่างประเทศแรงขึ้นผสมโรงปัจจัยการเลือกตั้งในประเทศไม่ชัดเจน ทำหุ้นไทยไร้เสน่ห์

ความเคลื่อนไหวของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศ ในวันที่ 18 มิ.ย. ดัชนีปิดตลาดท้ายวันที่ระดับ 1,679.68 จุด ลดลง 25.14 จุด หรือติดลบร้อยละ 1.47 มูลค่าการซื้อขาย 51,882.68 ล้านบาท โดยดัชนีสูงสุดอยู่ที่ 1,695.44 จุด และต่ำสุดที่ 1,679.48 จุด โดยมีแรงขายมาจากกลุ่มหุ้นขนาดใหญ่ เช่น กลุ่มพลังงาน วัสดุก่อสร้าง และธนาคาร ฉุดให้ดัชนีปิดตลาดในระดับต่ำสุดในรอบ 9 เดือน นับตั้งแต่ระดับปิด 1,673.16 จุด เมื่อวันที่ 29 ก.ย. 2560

โดยหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าการซื้อขายสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 

1. บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT มูลค่าการซื้อขาย 7,732.74 ล้านบาท ปิดที่  49.00 บาท ลดลง  1.00 บาท

2. บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) หรือ IVL มูลค่าการซื้อขาย 2,805.89 ล้านบาท ปิดที่  55.25 บาท ลดลง  3.25 บาท

3. บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCC มูลค่าการซื้อขาย 2,528.32 ล้านบาท ปิดที่ 422.00 บาท ลดลง 12.00 บาท

4. บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP มูลค่าการซื้อขาย 2,309.47 ล้านบาท ปิดที่ 130.00 บาท ลดลง  4.00 บาท

5. บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC มูลค่าการซื้อขาย 1,669.07 ล้านบาท ปิดที่  80.25 บาท ลดลง  3.25 บาท

ขณะที่นักลงทุนสถาบัน ขายสุทธิ 1,829.39 ล้านบาท บัญชีหลักทรัพย์ (prop trade) ขายสุทธิ 355 ล้านบาท นักลงทุนต่างประเทศ ขายสุทธิ 2,806.84 ล้านบาท ขณะที่นักลงทุนในประเทศ ซื้อสุทธิ 4,991.24 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน (1 ม.ค. -18 มิ.ย.2561) นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 165,620.10 ล้านบาท

นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ กรรมการผู้จัดการบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ซีแอลเอสเอ (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้ปรับตัวลดลงอยู่แดนลบมาหลายวันติดกันแล้ว นับตั้งแต่วันที่ 13 มิ.ย. ปิดตลาดดัชนีติดลบร้อยละ 0.52 วันที่ 14 มิ.ย. ติดลบร้อยละ 0.49 วันที่ 15 มิ.ย. ติดลบร้อยละ 0.29 และวันนี้ (18 มิ.ย.) ติดลบร้อยละ 1.47 ซึ่งนับว่า ลงมาแรงกว่าทุกๆ วัน เนื่องจากปัจจัยต่างประเทศที่กดดัน เช่น ความชัดเจนในการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด ซึ่งมีเสียงหนักแน่นขึ้นว่า จะขึ้นถึง 4 ครั้งติดต่อกันในปีนี้ ทำให้เงินลงทุนต่างชาติไหลกลับไปตลาดสหรัฐอเมริกามากขึ้น เงินบาทอ่อนค่า แม้จะอ่อนค่าไม่เท่าเงินริงกิต มาเลเซีย แต่ตอนนี้ก็อ่อนค่ามาเยอะ เมื่อเทียบกับต้นปี 

ประกอบกับปัจจัยภายในประเทศ ทั้งเรื่องการเลือกตั้งทั่วไปที่ยังไม่ชัดเจน คำสั่ง คสช. ในการปลดล็อกการทำกิจกรรมทางการเมืองของพรรคการเมือง การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ยังชะลอตัวมาตั้งแต่ปีแล้ว จากปัญหาของ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฉบับใหม่ ที่ทำให้งานรัฐยังไม่เดินหน้า รวมถึงภาวะเศรษฐกิจที่ยังกระจุกตัว การขยายตัวทางเศรษฐกิจยังไม่ทั่วถึง เป็นต้น 

"ตอนนี้ปัจจัยต่างประเทศแรงขึ้น และเป็นแง่ลบกับหุ้นไทย แต่เราก็มีปัจจัยภายในกดดันอยู่ด้วย ทั้งเรื่องการจัดการเลือกตั้ง การปลดล็อคพรรคการเมือง เพราะไม่ได้มีแต่นักการเมืองที่รอเรื่องนี้ นักลงทุนก็รอด้วย เพราะการทำกิจกรรมการเมืองได้ สะท้อนถึงความเป็นปกติแล้ว แต่ตราบใดที่ยังทำพรรคการเมืองยังทำกิจกรรมทางการเมืองไม่ได้ มันก็ไม่ใช่ภาวะปกติ" นายปริญญ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ซีแอลเอสเอ (ประเทศไทย) มองกรณีการตอบโต้ทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกาในขณะนี้ ว่าประเด็นนี้ไม่ได้รุนแรง แต่เป็นสถานการณ์ที่ทำลายบรรยากาศการค้าโลก ในภาวะที่เศรษฐกิจโลกฟื้นตัว เพราะถ้าดูตัวเลขไส้ในของการค้าที่เกิดขึ้นขนาดไม่ได้เยอะ จนน่ากังวลใจอะไร 

นายวีระวัฒน์ วิโรจน์โภคา ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ฟินันเซีย ไซรัส กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยวันนี้อ่อนแรงตามตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียที่ส่วนใหญ่จะติดลบ เนื่องจากหุ้นในกลุ่มพลังานที่ปรับตัวลงนำตลาดฯ หลังราคาน้ำมันปรับตัวลงแรง จากคาดการณ์ว่ากลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) อาจจะมีการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมัน และยังมีความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้าระหว่างจีน และสหรัฐฯ หลังจากมีการเปิดเผยรายชื่อสินค้าที่จะเรียกเก็บภาษีระหว่างกัน ซึ่งได้กดดันสงครามการค้า และทำให้ดัชนีฯ หลุดแนว 1,700 จุด

ข่าวเกี่ยวข้อง :