เป็นการยากที่จะสรุปชีวิตย่นย่อของผู้ชายชื่อ ริวอิจิ ซากาโมโตะ เพราะศิลปินชาวญี่ปุ่นวัย 66 ปีผู้นี้มีผลงานมาตั้งแต่ยุค 70 แต่หากให้เล่าอย่างสั้นที่สุด ในช่วงต้นของอาชีพ ซากาโมโตะ เป็นที่รู้จักในฐานะผู้นำทางด้านดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งจากการเป็นสมาชิกวง Yellow Magic Orchestra และผลงานเดี่ยวของเขา
อย่างไรก็ตาม ผลงานช่วงหลังของซากาโมโตะมีทิศทางไปในทางมินิมอลลิสม์มากขึ้น ทั้งอัลบั้มเพลงที่เป็นเดี่ยวเปียโนทั้งชุด, งานเพลงที่เน้นซาวด์ทดลอง หรือที่ผู้เขียนชื่นชอบเป็นพิเศษคือ Ryuichi Sakamoto Trio การแสดงสดที่มีเครื่องดนตรีเพียงสามชิ้น เปียโน ไวโอลิน และเชลโล่
แต่อีกบทบาทที่คนทั้งโลกจดจำซากาโมโตะได้ คือ การเป็นนักแต่งเพลงประกอบภาพยนตร์ เช่นเรื่อง The Last Emperor หรือ The Sheltering Sky ทว่าชิ้นที่โด่งดังที่สุดคงหนีไม่พ้นเพลง Merry Christmas Mr. Lawrence จากหนังชื่อเดียวกันปี 1983 ของนางิสะ โอชิมะ เพลงที่หลายคนต้องเคยได้ยินแม้จะไม่รู้จักชื่อ ถ้าคนรุ่นเก่าอาจคุ้นเพลงนี้จากโฆษณาฟิล์มสีฟูจิที่เบิร์ด ธงไชย เป็นพรีเซนเตอร์
ส่วนคนรุ่นใหม่ได้ผ่านหูจากการที่อูทาดะ ฮิคารุ เอาเพลงนี้มา sampling ใน Merry Christmas Mr. Lawrence - FYI
ในช่วงทศวรรษ 10 ซากาโมโตะยังทำงานอย่างต่อเนื่องทั้งด้านดนตรี ศิลปะ หรือกระทั่งการเป็นกรรมการตัดสินในเทศกาลภาพยนตร์ชื่อดัง แต่ในปี 2014 เขาก็ประกาศข่าวน่าตกใจว่ากำลังเป็นมะเร็งลำคอระยะที่สาม และขอหยุดพักโปรเจกต์ทั้งหมดไว้ก่อน ถึงกระนั้น ซากาโมโตะเขียนไว้ในเว็บไซต์ทางการว่า “ผมจะหายดีและกลับมาแน่นอน”
สารคดี Ryuichi Sakamoto: Coda โดย สตีเฟน โนมูระ ชีเบิล คือการบันทึกช่วงเวลาที่ซากาโมโตะพักรักษาตัวที่บ้านในนิวยอร์ก แม้ภายนอกจะยังดูปกติดี แต่เราก็เห็นฉากที่เขาต้องกินยาเป็นจำนวนมาก อีกทั้งเจ้าตัวยังเล่าว่าการกลืนของเขาหลงเหลือราว 70 เปอร์เซ็นต์ แต่เหมือนโชคชะตาจะไม่ยอมให้ซากาโมโตะห่างหายจากการเป็นนักดนตรีได้นานนัก เขาได้รับการติดต่อจากผู้กำกับ อเลฮานโดร กอนซาเลซ อินาร์ริตู ให้ช่วยแต่งดนตรีประกอบให้กับหนังเรื่อง The Revenant (2015) ซึ่งซากาโมโตะบอกว่ามันเป็นงานที่ไม่อาจปฏิเสธได้
เนื้อหาต่อจากนั้นเป็นการพาไปเห็นกระบวนการทำงานกับ ‘เสียง’ ของซากาโมโตะ ทั้งในส่วนของซาวด์แทร็กเรื่อง The Revenant และอัลบั้มชุดใหม่ของเขา async (วางจำหน่ายในปี 2017)
ผู้ชมจะได้ประสบกับความเหวอมากมาย ทั้งการอัดเสียงฝนตกกระทบหลังคา การเดินเข้าไปในป่าแล้วเอาไม้ไล่ตีกองขยะพร้อมกับบันทึกเสียงไว้
หรือพีคสุดคือฟุตเทจตอนที่ซากาโมโตะเดินทางไปยังขั้วโลกเหนือ เมื่อได้อัดเสียงน้ำไหลเขาก็พูดว่า “นี่แหละคือเสียงที่บริสุทธิ์ที่สุด”
เห็นได้ชัดว่าแม้จะเริ่มต้นอาชีพด้วยเสียงสังเคราะห์แบบอิเล็กทรอนิกส์ แต่เสียงที่ซากาโมโตะหลงใหลและผูกพันด้วยมากที่สุดก็คือ ‘เสียงธรรมชาติ’
อย่างที่ทราบกันดีว่านอกจากจะเป็นนักดนตรีแล้ว ชายผู้นี้ยังมีส่วนร่วมกับกิจกรรมทางสังคมอยู่เสมอ เมื่อเกิดเหตุสึนามิปี 2011 ที่ญี่ปุ่น และตามมาด้วยการหลอมละลายของเตาปฏิกรณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ซากาโมโตะนี่เองเป็นหนึ่งในปากเสียงสำคัญของฝั่งต่อต้านพลังงานนิวเคลียร์ นอกจากนั้นยังเคยมีประเด็นที่ชาวญี่ปุ่นโหวตให้ซากาโมโตะเป็นศิลปินที่สมควรแสดงในพิธีเปิดโอลิมปิก 2020 และเขากลับให้สัมภาษณ์ว่ารัฐบาลญี่ปุ่นควรเอาเวลาไปจัดการกับของเสียจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มากกว่า
เกี่ยวกับประเด็นเรื่องมนุษย์และธรรมชาติ มีฉากที่น่าจดจำคือฉากเปิดของเรื่องที่ซากาโมโตะเล่นเปียโนที่กู้ขึ้นมาหลังจากถูกคลื่นสึนามิปี 2011 ซัดลอยไป เขาให้สัมภาษณ์ทำนองว่าเปียโนตัวนี้อาจจะเสียงเพี้ยนเพราะอยู่ในน้ำมานาน แต่นั่นเป็นวิธีคิดของ ‘มนุษย์’ ที่คิดว่าเสียงมันบิดเบี้ยวจนต้องปรับจูนใหม่ แท้จริงแล้วนี่อาจจะเป็นเสียงที่ถูกต้องแล้วในแบบของ ‘ธรรมชาติ’ ก็เป็นได้
แม้ดูเผินๆ Ryuichi Sakamoto: Coda จะเป็นหนังที่เอาตัวรอดได้ง่ายเพราะมีซับเจกต์ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวน่าตื่นเต้นอย่างซากาโมโตะ แต่สิ่งที่หนังทำได้ดีคือการตัดต่อที่สลับไปมาระหว่างอดีต/ปัจจุบันและประเด็นหลากหลายทั้งเรื่องดนตรี สังคม และชีวิตได้อย่างกลมกลืน มีผู้ตั้งข้อสังเกตด้วยว่าหนังมีโครงสร้างแบบวงกลมที่วนกลับมาที่เดิม เช่นว่าหนังเปิดด้วยเปียโนที่กู้มาจากสึนามิและปิดท้ายด้วยฉากที่ซากาโมโตะพูดถึงเปียโนตัวนี้ หรือในฉากจบที่แสนจะธรรมดาที่ซากาโมโตะพูดว่า “ต่อจากนี้จะเล่นเปียโนทุกวัน” ก็เปรียบเสมือนการกลับสู่วิถีธรรมชาติในแบบของนักดนตรีนั่นเอง
กระทั่งชื่อหนังเองก็มีเรื่องโครงสร้างทางดนตรีอยู่ด้วย นั่นคือคำว่า Coda ที่เป็นภาษาอิตาลีแปลว่า ‘หาง’ ซึ่งในภาษาดนตรีนั้นหมายถึงท่อนทิ้งท้ายที่จะนำไปสู่การจบบทเพลง ดังนั้นสารคดีเรื่องนี้คงถือเป็นการบันทึกช่วงบั้นปลายชีวิตของซากาโมโตะที่ไม่เพียงทำให้เราเห็นถึงความสามารถทางดนตรี แต่ยังได้เห็นการใช้ชีวิตของมนุษย์ผู้เผชิญกับโรคร้าย แต่กลับสู้ไม่ถอยและเดินหน้าทำงานต่อไป อย่างที่เขากล่าวไว้ว่า “ผมไม่รู้จะมีชีวิตอยู่อีกนานเท่าไร แต่ผมอยากฝากผลงานที่ไม่ทำให้ผมรู้สึกอับอายทิ้งไว้”
เช่นนั้นแล้ว หากผลงานช่วงเวลานี้ถือเป็น Coda หรือท่อนส่งท้ายของซากาโมโตะแล้ว เราภาวนาให้เป็นท่วงทำนองที่ยาวนานไม่มีวันจบสิ้น
**เช็ครอบฉายของ Ryuichi Sakamoto: Coda ได้ที่เพจ Documentary Club