สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญออกเอกสารข่าว โดยศาลรัฐธรรมนูญได้ประชุมพิจารณาเรื่องที่ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ส่งความเห็นของสมาชิก สนช. จำนวน 27 คน ขอให้วินิจฉัยว่า ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 35 (4) และ(5) ซึ่งเป็นประเด็นเกี่ยวกับการตัดสิทธิผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง โดยให้ผู้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ข้าราชการรัฐสภา รองผู้บริหารท้องถิ่น ที่ปรึกษา ต้องพ้นจากตำแหน่งทันทีที่ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 95 วรรคสามหรือไม่
โดยผลการลงมติปรากฎว่าศาลโดยมติเอกฉันท์วินิจฉัยว่า ไม่มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ เนื่องจากการดำรงตำแหน่งตามมาตรา 35 (4) และ (5) เป็นสิทธิชนิดหนึ่ง ซึ่งรัฐธรรมนูญบัญญัติให้ออกกฎหมายจำกัดสิทธิดังกล่าวได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 95 วรรคสาม
นอกจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญยังมีมติเอกฉันท์วินิจฉัยว่า ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 92 วรรคหนึ่ง ที่กำหนดให้อำนวยความสะดวกให้แก่คนพิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุ ในการออกเสียงลงคะแนน ไม่มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ เนื่องจากการอำนวยความสะดวกหรือจัดให้มีการความช่วยเหลือในการออกเสียงลงคะแนนของคนพิการหรือทุพพลภาพหรือผู้สูงอายุตามมาตรา 92 วรรคหนึ่งยังอยู่ในขอบเขตของวิธีออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 85 วรรคหนึ่ง
ขณะเดียวกัน ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาเรื่องที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน ในฐานะผู้ร้อง เสนอเรื่องว่า พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 140 มาตรา 141 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่53/2560 เรื่องการดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 25 มาตรา 26 มาตรา 27 และมาตรา 45 หรือไม่ โดยผู้ร้องได้มีความเห็นว่าคำสั่งหัวหน้า คสช. มีสถานะเป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ที่ไม่ได้รับรองและคุ้มครองการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 25 ประกอบมาตรา 45 อีกทั้งยังมีลักษณะเป็นการเพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุตามรัฐธรรมนูญ และเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล ซึ่งขัดกับหลักความเสมอภาคที่รัฐธรรมนูญมาตรา 27 ได้รับรองและคุ้มครองไว้
โดยผลการพิจารณา ศาลรัฐธรรมนูญได้อภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยและกำหนดประเด็นที่ต้องพิจารณาวินิจฉัยตามคำร้อง พร้อมทั้งนัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ และลงมติในวันอังคารที่ 5 มิ.ย.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ว่าไม่มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ โดยขั้นตอนหลังจากนี้นายกรัฐมนตรีจะต้องนำร่างกฎหมายดังกล่าวนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย เพื่อประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา ประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป หากกฎหมายดังกล่าวประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาแล้วจะต้องเวลาอีก 90 วันถึงมีผลบังคับใช้ ซึ่งจะทำให้การเลือกตั้งจะยังคงเกิดขึ้นอย่างช้าสุดไม่เกินกลางปี 2562
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง