ไม่พบผลการค้นหา
สมาชิก สนช. ยื่นกฎหมาย ส.ว. ให้ศาล รธน. ตีความ แม้เห็นว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญ เพื่อความสบายใจของ กรธ. แต่ไม่ยื่นร่างกฎหมาย ส.ส. ให้ศาลวินิจฉัยด้วย เนื่องจากไม่เห็นว่าขัดรัฐธรรมนูญ แม้ กรธ. จะทักท้วงมาด้วยเช่นกัน

นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เผย สนช. เตรียมยื่นร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยภายในวันที่ 19 มี.ค.นี้ ตามประเด็นที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ทักท้วงมา เช่น เรื่องการได้มาซึ่ง ส.ว. เป็นต้น โดยมีนายกิตติ วะสีนนทน์ พร้อมสมาชิก สนช. อีก 30 คนเข้าชื่อกัน

แม้ผลการหารือกับสมาชิก สนช. เห็นว่าร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ไม่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ ก็ตาม แต่เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของผู้ทักท้วงและเพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย

ขณะเดียวกัน คาดว่าจะไม่เกิดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการยื่นศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากร่างกฎหมาย ส.ส. ได้ขยายเวลาการบังคับใช้ออกไป 90 วันหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปแล้ว จึงมีเวลาเพียงพอที่จะส่งร่างกฎหมาย ส.ว. ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย 

ส่วนร่างกฎหมาย ส.ส. ที่มีข้อทักท้วงมานั้น สนช.เห็นว่าข้อท้วงติงทั้งเรื่องการตัดสิทธิ์การดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง และการให้ความช่วยเหลือผู้พิการลงคะแนนนั้นไม่ขัดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ แต่อาจจะขัดกับเจตนารมณ์ของ กรธ. ซึ่งเป็นผู้ร่างกฎหมายดังกล่าว ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา สนช.จึงไม่ยื่นร่างกฎหมายฉบับนี้ให้ศาลวินิจฉัยด้วย และจะส่งนายกรัฐมนตรีได้ภายในวันจันทร์ที่ 19 มีนาคมนี้

นายพรเพชร กล่าวเพิ่มเติมว่าหากมีผู้ไม่สบายใจและกังวลว่าร่างกฎหมาย ส.ส. อาจขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เช่น ประเด็นการให้ความช่วยเหลือผู้พิการ ก็สามารถไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญได้หลังกฎหมายประกาศในราชกิจจานุเบกษา ก่อนถึงวันเลือกตั้ง แต่หากยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความในขณะนี้จะกระทบกับโรดเเมปจนทำให้กระบวนการเลือกตั้งล้มทั้งยืน

ทั้งนี้ การยื่นร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ก็อาจจะไม่ได้ส่งผลให้กฎหมายทั้งฉบับต้องเป็นอันต้องตกไป