ไม่พบผลการค้นหา
เพิ่งจบการประกาศผลโครงงานของคณะครูอาจารย์และนักเรียนจากสถาบันอาชีวศึกษา สำหรับโครงการประกวดด้านความรู้ทางการเงิน ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. จัดทำขึ้นครั้งแรก โดยมีสถาบันอาชีวศึกษา ใน 17 แห่ง ทั่วประเทศ แบ่งการประกวดเป็นผลงานนวัตกรรมการสอนสำหรับครู และโครงงานสำหรับนักศึกษา ในชื่อโครงการ 'Fin. ดี We can do!!!'

โดยในปีนี้มีทีมชนะเลิศ ประเภทนวัตกรรมการสอน ได้แก่ ทีม Smart Fin. จากครูวิทยาลัยเทคโนโลยีพายัพและบริหารธุรกิจ ส่วนทีมชนะเลิศ ประเภทโครงการ ได้แก่ ทีม Smart Saving Start Future ของนักเรียนอาชีวศึกษา วิทยาลัยเทคโนโลยีภาคตะวันออก หรือ อี.เทค 

อาจารย์เตือนใจ อารีโรจนนุกุล ตัวแทนครูจากวิทยาลัยเทคโนโลยีพายัพและบริหารธุรกิจ จ.เชียงใหม่ ทีมชนะเลิศประเภทนวัตกรรมการสอน เล่าว่า ในมุมมองทั่วไป อาจมองนวัตกรรมในแง่ของฮาร์ดแวร์ แต่เราทำนวัตกรรมการสอนเรื่องความรู้ทางการเงิน หรือ 'skill for life' เป็นซอฟต์แวร์ คือเน้นกระบวนการคิดผ่านแผนการสอนในรายวิชา 'skill for life' ซึ่งจัดทำขึ้นมาใหม่ บรรจุด้วยกระบวนการ วิธีการเพื่อให้นักศึกษาตระหนักในเรื่องวินัยทางการเงิน และไม่ว่าครูที่โรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาใดก็ตาม หยิบแผนการสอนอันนี้ไปใช้ จะสามารถนำไปใช้ได้ทันที เพราะมีทั้งวิธีการ ปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นในการสอน พร้อมทางเสนอแนะแนวทางแก้ปัญหา ซึ่งนำไปใช้ได้เลย 

ทั้งนี้ วิชานี้สอนให้กับนักศึกษา ปวช. ชั้นปีที่ 1 ทุกสาขาวิชา 450 คน ซึ่งหลังจากเด็กๆ ได้เข้าเรียนในวิชานี้แล้ว สรุปผลได้ว่า ร้อยละ 32 เด็กสามารถออมได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ ร้อยละ 49 มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม โดยเริ่มออมแล้ว และอีกร้อยละ 19 ยังไม่ออมเลย ซึ่งเป็นโจทย์ที่ต้องค้นหาคำตอบว่าจะทำอย่างไรกับกลุ่มนี้ 


BOT 2.jpg

"สำหรับเด็กอาชีวะ เขายังมองว่า การออมเป็นเรื่องไกลตัวของเขา เขายังมองว่า เขายังเด็ก เขายังไม่จำเป็นต้องออม และคาดว่าโดยภาพรวมแล้วน่าจะมีนักเรียนเพียงร้อยละ 10 ของทั้งสถาบันเท่านั้น ที่มีการออม แต่เมื่อทดลองนวัตกรรมการสอนนี้กับนักเรียนแล้ว มีร้อยละ 32 ที่ออมได้ตามเป้าหมาย เราพบว่า ความสำเร็จเกิดจากการได้เห็นตัวอย่างจากเพื่อนที่ประสบความสำเร็จจากการออม และที่สังเกตพบคือ เด็กกลุ่มนี้เป็นนักเรียนสายพาณิชย์ เป็นเด็กผู้หญิงที่เห็นเพื่อนออมแล้วประสบความสำเร็จจึงอยากทำได้บ้าง ทำให้เราสรุปผลได้ว่า ตัวอย่างที่ดีมีค่ากว่าสิ่งที่เราบอกเขาทุกวัน" อาจารย์เตือนใจกล่าว  

สำหรับการทดลองใช้แผนการสอนนี้ ใช้เวลาทำ 2 เดือนเต็ม แบ่งเด็กเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ประเมินว่าตัวเองเหลือเงินวันละ 10 บาท กลุ่มที่ 2 แต่ละวันเหลือไม่ถึง 10 บาท และกลุ่มที่ 3 คือไม่เหลือเงินเลย ซึ่งกลุ่มแรกจะมีกระปุกออมสินให้ กลุ่มที่สอง จะออมผ่านธนาคารโรงเรียน ซึ่งเป็นธนาคารออมสิน ซึ่งทำให้สอดคล้องกับชีวิตของเด็กที่สุด 

"เด็กของเรามีความสามารถในการหาเงิน เขาขวนขวายในการหาเงิน แต่สิ่งที่พบคือ เอาเงินไปใช้ผิดวิธี เช่น แต่งรถ ทำศัลยกรรม โอ้ย มีหมดทุกอย่าง ซึ่งอันนี้ก็เป็นโจทย์ใหญ่ว่า ทำอย่างไรให้เขาออม และวิชา skill for life (ทักษะชีวิต) ก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้เขาเปลี่ยนพฤติกรรม" อาจารย์เตือนใจกล่าว 

Start Saving, Start Future เรียนจบ ไม่ติดหนี้

ขณะที่ทีมนักศึกษาที่ชนะเลิศประเภทโครงงาน อย่างทีม Start Saving Start Future นายสรรเสริญ แพงสี นักศึกษาแผนกบัญชี วิทยาลัยเทคโนโลยีภาคตะวันออก (อี.เทค) เล่าว่า คอนเซ็ปต์ของโครงงานที่นำเสนอคือแก้ปัญหาเรื่องเงินทุนทำโครงการภาคจบการศึกษาของกลุ่มเพื่อนนักศึกษาแผนกช่างอุตสาหกรรมที่ประสบปัญหาไม่มีเงินทุน ไม่มีความรู้บริหารเงิน สำหรับนำมาทำโครงการภาคจบ ซึ่งต้องใช้เงินหลักพัน หลักหมื่นบาท จนบางคนต้องกลายเป็นคนมีหนี้สิน รุ่นพี่บางคนเรียนไม่จบ เพราะไม่มีเงินทำโครงการนี้ เป็นต้น


BOT 3.jpg

"เราทำโครงการกับเพื่อนนักศึกษา 237 กลุ่ม กลุ่มละ 3-10 คน แล้วแต่ขนาดของโครงการ โดยให้เขาเปิดบัญชีออม และพวกเราติดตาม แนะนำ ชักจูง ดึงดูดให้พวกเขาเก็บออมตามที่วางเป้าหมายไว้ และที่ทำโครงการนี้ เพราะที่ผ่านมา เมื่อเพื่อนๆ ไม่มีเงินออมเลย พอจะต้องทำโปรเจ็กต์จบการศึกษา เขาก็ไม่มีเงินทุน ต้องกู้ยืมเงิน และกลายเป็นหนี้สินติดตัวเป็นงูกินหาง เป็นปัญหาเบื้องต้นและเป็นปัญหาหนักภายในสถาบัน ซึ่งมีคนประสบปัญหานี้ราวร้อยละ 30 ในแต่ละปี" นายเสกสรร กล่าว

ดังนั้น จึงทำโครงการนี้ เพื่อฝึกวินัยการออม และการบริหารจัดการเงิน เพื่อให้เพื่อนๆ ได้ทำโครงการจบการศึกษา โดยไม่ต้องมีปัญหาหนี้สิน 

สร้างพลัง สร้างคนรุ่นให้วางแผนทางการเงิน สร้างความมั่นคง สร้างประเทศ

ด้านนางสาวนวพร มหารักขกะ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายวางแผนและงบประมาณ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ที่เลือกทำประเด็นนี้กับกลุ่มนักเรียนอาชีวศึกษา เกิดจาก 3 เหตุผล คือ 1) เขามี pain point คือ มีฐานะทางการเงินที่ไม่ได้ร่ำรวยนัก 2) เขาสามารถหาเงินได้เอง หาเงินเป็น เขาเข้าใจค่าของเงิน และรู้ว่ากว่าจะได้เงินต้องลงแรง ซึ่งเราต้องการให้เขารู้จักวิธีบริหารเงิน และ 3) ต้องการสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงินให้กับคนรุ่นใหม่ เจเนอเรชั่น วาย 

"หัวใจของคนเรียนอาชีวะ คือ นักแก้ปัญหา ดังนั้น น้องๆ ที่เข้าโครงการจึงมองโจทย์ออก ตีโจทย์แตก เขาทำงานเป็นทีม การที่เราเข้ามาทำงานนี้ เราดูแล้ว รู้สึกภูมิใจ รับรู้ถึงพลัง และความหวังของประเทศ โดยเฉพาะในโลกยุคใหม่ที่การเรียนรู้ไม่ได้มาจากตำรา แต่มาจากการสร้างโซลูชั่นสำหรับโจทย์ที่พลิกผันตลอดเวลา สิ่งที่เราเห็นคือ น้องๆ อาชีวะ ตีโจทย์แตก กล้าคิด กล้าทำ กล้าแก้ไข และทำเป็นทีม" 

เป้าหมายการแก้ปัญหาหนี้สินคนรุ่นใหม่ของ ธปท. คือ หนึ่ง ให้ความรู้ ที่ง่าย เข้าถึง และสนุก ทำงานกับเจนวาย คือ ต้องโดนใจ สอง ไม่ได้ให้แค่ความรู้ แต่ต้องการสร้างความเข้าใจและวินัยที่มาจากข้างใน ระเบิดจากภายใน เขาต้องเข้าใจ ตกผลึกเองจากภายใน เราจึงให้เขาหาโจทย์เอง คิดวิธีเอง เพราะพวกเขาคือคนที่เข้าใจโจทย์ของเขา และเข้าใจเพื่อนของเขา 


BOT 1.jpg

"เราหวังให้น้องๆ สร้างความยั่งยืน ปลูกฝังไว้ ซึ่งชาวอาชีวะ มีความเป็นพี่เป็นน้องสูงมากและเหนียวแน่น และเราหวังให้เขาสืบทอดกันรุ่นต่อรุ่น และหัวใจที่สำคัญคือ เขามีเครือข่าย และได้เรียนรู้บทเรียนการเป็นผู้นำ และมอบต่อให้เพื่อนๆ และรุ่นน้องต่อไป" น.ส.นวพร กล่าว

โดยมีสูตรง่ายๆ สำหรับการสร้างวินัยทางการเงิน คือ จด (ใช้จ่ายอะไร ได้เงินเท่าไรก็จดไว้) , วางแผนการใช้จ่าย และ ทำ ซึ่งถ้าทำได้ต่อเนื่อง ก็จะเกิดผล

ขณะที่ นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า เรื่องความรู้ความเข้าใจทางการเงินเป็นเรื่องสำคัญ การวางแผนทางการเงินเป็นทักษะที่สำคัญของชีวิต เราเห็นปัญหาหนี้ครัวเรือนในระดับสูง เห็นปัญหาการใช้จ่ายเงินของคนรุ่นใหม่ที่เกินตัวเกิดปัญหาหนี้ เราได้ยินเรื่องหนี้ กยศ. ซึ่งเป็นปัญหาที่ไม่อาจแก้ได้ด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งในระยะสั้นๆ ดังนั้น สิ่งสำคัญจึงต้องปลูกฝังคือความรู้ความเข้าใจทางการเงิน ทักษะการบริหารจัดการเงินที่จะสามารถนำไปใช้ได้ต่อเนื่องทั้งชีวิต เพราะเรื่องความมั่นคงทางการเงินตลอดทั้งชีวิตเป็นเรื่องสำคัญมาก 

โครงการ 'Fin. ดี We can do!!!' ธปท. ให้นักเรียนอาชีวศึกษาและครู นำเสนอโครงงานที่จะช่วยส่งเสริมความรู้ความเข้าใจทางการเงิน ซึ่งจะมีผลต่อพฤติกรรมการใช้เงิน วัตถุประสงค์ของเราไม่ใช่เรื่องของการส่งเสริมทางความรู้เท่านั้น แต่ต้องเป็นความรู้ที่นำไปประยุกต์ใช้ได้จริงและมีผลต่อพฤติกรรมการใช้เงิน การออมของคนรุ่นใหม่ เพื่อให้มีตัวอย่างของคนออมที่เกิดผลได้จริง เพื่อให้เกิดการขยายผลในวงกว้างให้เกิดทั่วประเทศไทย 

"เราทำโครงการกับนักเรียนอาชีวศึกษา เพราะเราเห็นพลังของคนกลุ่มนี้ ในเวลาที่ประเทศไทยกำลังขาดแคลนน้องๆ ที่จะมาเป็นกำลังแรงงาน และมีความเชี่ยวชาญด้านเทคนิคให้กับกลุ่มต่างๆ เป็นกำลังสำคัญกับภาคอุตสาหกรรมของประเทศ อีกทั้งพวกเขามีอายุที่กำลังเข้าสู่วัยแรงงาน และเมื่อเขาเข้าไปประกอบอาชีพ มีเงินเดือน ในอีกไม่นาน จึงทำโครงการกับเขา เริ่ม 17 โรงเรียนที่เป็นเครือข่าย ซึ่งมีผลงานที่น่าสนใจตลอด 7-8 เดือนที่ผ่านมา และคาดจะขยายผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจได้ต่อไป" นายวิรไท กล่าว 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :