ไม่พบผลการค้นหา
สิ่งที่หลายๆ คนอาจไม่รู้ก็คือ ทุกๆ การเลื่อนเลือกตั้งมี ‘ราคา’ ที่พวกเราทุกคน ‘ต้องจ่าย’ ให้กับการ ‘ไม่ได้เลือกตั้ง’ ครั้งนี้ เพราะค่าใช้จ่ายดังกล่าวมาจาก 'ภาษีของประชาชน' ทั้งสิ้น

แม้ผู้เกี่ยวข้องจะอ้างว่า มติของ สนช. ที่คว่ำรายชื่อ ว่าที่ กกต. ‘ยกชุด’ ทั้ง 7 คน จะไม่มีผลต่อโรดแมปการเลือกตั้งช่วงต้นปี 2562 เพราะการสรรหา กกต.ชุดใหม่ก็ใช้เวลาแค่ไม่กี่เดือน และถึงไม่มี สรรหาไม่เสร็จ ก็ให้ กกต.ชุดเก่าทำแทนไปก่อนได้

แต่ถ้ายังจำกันได้ ตอนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 ยืดเวลาปลดล็อกพรรคการเมืองออกไปอีกครึ่งปี จากเดิมเดือนตุลาคม 2560 มาเป็นเดือนเมษายน 2561

วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ฝ่ายกฎหมาย ก็ออกมาบอกว่า จะ 'ไม่มีผล' ต่อโรดแมปเลือกตั้ง ซึ่งตอนนั้นยังเป็นอย่างช้าไม่เกินเดือนพฤศจิกายน 2561

แต่ สนช. ชุดปัจจุบัน กองหนุนแบบได้เงินเดือน สภาที่มีแต่ฝ่ายรัฐบาล ก็ใช้ ‘คำสั่งหัวหน้า คสช.’ ดังกล่าว มาเป็นข้ออ้างแก้เนื้อหา พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. เลื่อนเวลาการประกาศใช้ออกไปอีก 90 วัน ผลคือการเลือกตั้งก็เลยต้องเลื่อนไปเป็นต้นปีหน้าแทน

จับตาดูมติโค่น กกต. ของ สนช. นี้ดีๆ ว่าจะมีบางฝ่ายหยิบไปเป็น ‘ข้ออ้าง’ ในการเลื่อนเลือกตั้งไปอีกหรือไม่

เอาเข้าจริง เงื่อนไขในการเดินไปสู่เลือกตั้ง ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 กำหนดไว้ก็ค่อนข้างเรียบง่าย คือ “ให้ดำเนินการเลือกตั้ง ส.ส. ให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน หลังจากกฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ทั้ง 4 ฉบับ มีผลบังคับใช้แล้ว”

แต่ทั้งๆ ที่เขียนไว้ง่ายเช่นนี้ กลับมีความพยายามทำให้เกิดการเลือกตั้งยาก – ยากที่สุด แม้กระทั่ง ณ เวลาปัจจุบัน ก็ยังต้องจับตาอีก 2-3 ปัจจัย ที่อาจทำให้กระทั่งต้นปี 2562 ก็จะยังไม่มีการเลือกตั้ง อาทิ หาก สนช. ลงมติคว่ำกฎหมายลูกอีก 2 ฉบับที่เหลือ ซึ่งเรื่องนี้ใช่จะเกิดขึ้นไม่ได้, หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้กฎหมายลูกที่ สนช. แก้จากร่างเดิมหลายประเด็น ขัดรัฐธรรมนูญ และที่คาดคะเนยากที่สุด คือการใช้มาตรา 44 ของหัวหน้า คสช. ด้วยสารพัดข้ออ้าง (ถ้ากลับไปดูคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 ดูดีๆ ก็จะเห็นได้ว่า แม้แต่ในตัวคำสั่งก็ยังเขียนว่า ในขณะนั้นบ้านเมืองสงบสุขดีแล้ว แต่ถ้าปลดล็อกพรรคการเมืองต่างๆ ก็จะทำให้เกิดความวุ่นวายต่างๆ นานา ซึ่งเป็นการคาดการณ์ไปเองของผู้ออกคำสั่งทั้งสิ้น)

ซึ่งเอาเข้าจริง ‘โรดแมปเลือกตั้ง’ ที่เราพูดๆ กัน ก็เป็นฉบับที่ 4 แล้ว หากยังจำกันได้ ก่อนหน้านี้ เราเคยมีโรดแมปเลือกตั้งมาแล้ว 3 ครั้ง ซึ่งถูกฉีกทิ้งทุกครั้ง ลองย้อนกันไปดูว่ามีอะไรบ้าง

  • โรดแมปที่ 1 เลือกตั้งเดือนกุมภาพันธ์ 2559 - ถูกยืดไปเป็นเดือนธันวาคมปีเดียวกัน เพราะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญได้
  • โรดแมปที่ 2 เลือกตั้งเดือนธันวาคม 2559 - ถูกยืดไปเป็นปลายปี 2560 เพราะ สปช. คว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับบวรศักดิ์
  • โรดแมปที่ 3 เลือกตั้งปลายปี 2560 - ต้องเลื่อนออกไปเพราะสถานการณ์พิเศษ และมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามข้อสังเกตพระราชทาน
  • โรดแมปที่ 4 เลือกตั้งปลายปี 2561 - ถูกยืดไปเป็นต้นปี 2562 เพราะ สนช.เลื่อนเวลาการบังคับใช้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.

โรดแมปข้างต้น เชื่อว่าหลายๆ คนรู้กันอยู่แล้ว แต่เอามารวมไว้ในที่เดียวให้เห็นภาพว่า เราเคยถูกเลื่อนทำตาม ‘คำสัญญา’ มามากน้อยเพียงใด

สิ่งที่หลายๆ คนอาจไม่รู้ก็คือ ทุกๆ การเลื่อนเลือกตั้งมี ‘ราคา’ ที่พวกเราทุกคน ‘ต้องจ่าย’ .. ย้ำว่า ทุกคน ไม่ใช่แค่กองหนุนที่เชียร์ให้ คสช. อยู่ต่อไปจนชั่วฟ้าดินสลาย แต่กระทั่งคนที่ออกมาทวงถามสัญญา อยากให้ คสช.รักษาคำพูด เลือกตั้งตามโรดแมป ก็ยังต้องจ่ายให้กับการ ‘ไม่ได้เลือกตั้ง’ ครั้งนี้ด้วย

เพราะค่าใช้จ่ายดังกล่าว มาจากภาษีของประชาชนทั้งสิ้น

มีอะไรบ้าง?

ทุกๆ เดือนที่การเลือกตั้งถูกขยับออกไป ภาษีจะถูกจ่ายเป็นเงินเดือนของ สนช. ทั้ง 248 คน แบ่งเป็นประธาน สนช. 1 คน (เงินเดือนคนละ 125,590 บาท) รองประธาน สนช. 2 คน (คนละ 115,740 บาท) และสมาชิก สนช. อื่นอีก 245 คน (คนละ 113,560 บาท) รวมเป็นเงิน เดือนละ 28,179,270 บาท

โดยนับตั้งแต่ได้รับแต่งตั้ง สนช. ได้รับเงินเดือนรวมกันไปแล้วอย่างน้อย 1,023 ล้านบาท และทุกๆ เดือนจากนี้ไป ก็ให้นำตัวเลข 28 ล้านบาทคูณจำนวนเดือนไปเรื่อยๆ ได้เลย

นอกจากนี้ ยังต้องจ่ายเป็นเงินเดือนให้กับ ครม. ทั้ง 35 คน แบ่งเป็นนายกรัฐมนตรี 1 คน (เงินเดือนคนละ 125,590 บาท) รองนายกรัฐมนตรี 5 คน (119,920 บาท) และรัฐมนตรีอื่นอีก 29 คน (115,740 บาท) รวมเป็นเงิน เดือนละ 4,081,650 บาท

ซึ่งนับตั้งแต่มี ครม.ประยุทธ์ 1 จนถึง ครม.ประยุทธ์ 5 มีการจ่ายภาษีเป็นเงินเดือนให้กับรัฐมนตรีทั้งหลายไปแล้วกว่า 171 ล้านบาท และทุกๆ เดือนจากนี้ไป ก็ให้นำตัวเลข 4 ล้านบาทคูณจำนวนเดือนไปเรื่อยๆ ได้จนกว่าจะมี ครม.ชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งเข้ามาทำหน้าที่แทน

ทั้งนี้ ยังไม่รวมถึงเงินเดือนให้กับคนที่เป็น คสช. อยู่ด้วย โดยมีประธาน คสช. จะได้เงินเดือนเท่านายกฯ (เดือนละ 125,590 บาท) ส่วนรองประธาน ที่ปรึกษา และสมาชิก คสช. จะได้เงินเดือนเท่ารองนายกฯ (119,920 บาท)

ที่น่าสนใจก็คือ คนที่อยู่ใน ครม. และ คสช. ด้วยจะสามารถ “รับเงินเดือนได้ 2 ทาง” เช่น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช. ก็รับเดือนละ 2.51 แสนบาท พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ/รมว.กลาโหม และรองหัวหน้า คสช. ก็รับเดือนละ 2.39 แสนบาท เป็นต้น

หากการเลือกตั้งเกิดขึ้นตามโรดแม็ปแรก เมื่อ 2 ปีก่อน นอกจากภาษีของเราจะถูกนำไปจ่ายให้ สนช. และ ครม. “ลดลง” ถึง 24 เดือน คิดเป็นเงินกว่า 774 ล้านบาท

ยังจะไม่ต้องจ่ายเงินเดือนให้กับ สปท. ซึ่งตั้งขึ้นมาทำงานปฏิรูปประเทศ (ซึ่งไม่ค่อยเห็นผลรูปธรรมนัก) แทน สปช. ‘เพิ่มเติม’ อีก 522 ล้านบาท

คำนวณดูคร่าวๆ ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ไม่เบี้ยวโรดแม็ป เลือกตั้งไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ภาษีของประชาชนก็จะประหยัดได้ถึง 1,296 ล้านบาท นี่คิดเฉพาะเรื่องของเงินเดือนอย่างเดียว ไม่รวมถึงเบี้ยเลี้ยง เบี้ยประชุม และค่าตอบแทนอื่นๆ

ทั้งนี้ ยังไม่รวมถึงสมมติฐานที่ว่า หากปี 2559 มีเลือกตั้ง แล้วอะไร ‘จะไม่เกิดขึ้น’ เช่น จะไม่มีการไปซื้อเรือดำน้ำจีน 36,000 ล้านบาท จะไม่ต้องไปซื้อรถถังจีน 4,900 ล้านบาท ฯลฯ หรือจะไม่ต้องเสียภาษีไปกับความต้องการของ คสช. อีกมากมาย เช่น โครงการไทยนิยมยั่งยืน ที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ระบุว่า อาจใช้เงินถึง 300,000 ล้านบาท

เหล่านี้คือ ราคาที่ต้องจ่าย สำหรับการเลื่อนเลือกตั้งออกไปเรื่อยๆ เฉพาะที่คำนวณเป็นตัวเงินได้ ไม่รวมถึงสิ่งที่คำนวณเป็นตัวเงินไม่ได้อีก เช่น ค่าเสียโอกาสต่างๆ

ระหว่างที่ดู คสช. หามุกต่างๆ มาเลื่อนเลือกตั้งไป อยากให้ทุกคนหยิบลูกคิดมาคำนวณ ว่ามีเงินอย่างน้อย 32 ล้านบาท (เฉพาะเงินเดือน ครม. กับ สนช.) ที่จะต้องจ่ายออกไปเรื่อยๆ ทุกเดือนให้กับกลุ่มคน “ที่มีส่วนร่วมในการเลื่อนเลือกตั้ง” ถามว่าใครจ่าย ..ก็พวกเราทุกคนยังไงล่ะ !!!

พงศ์ บัญชา
0Article
0Video
0Blog