ไม่พบผลการค้นหา
กรณีรูปโปรโมตการคัดตัวเชียร์ลีดเดอร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้วยภาพเปิดไหล่และเปลือยท่อนบน ที่มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไรในต่างประเทศ แต่ประเด็นการถกเถียงเรื่องการ ‘เปลือย’ ในไทยกับตะวันตกกลับแตกต่างกันอย่างมาก

หลังเพจเฟซบุ๊ก TU Cheerleader FC เผยแพร่รูปโปรโมตกิจกรรมคัดตัวผู้นำเชียร์รุ่น 73 ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นภาพนักศึกษาชายหญิงเปิดไหล่ โลกโซเชียลก็เดือดกันทันที บ้างก็บอกว่าไม่เหมาะสม ภาพส่อไปในเรื่องเพศ นักศึกษาดีๆ ที่ไหนเขาทำกันแบบนี้ เสียชื่อสถาบัน บ้างก็ว่าภาพถ่ายเป็นงานศิลปะ สวยดีไม่อุจาดตา คนที่ตำหนิติเตียนนี้ช่างหัวโบราณ

หากใครจะบอกว่าธรรมศาสตร์ขาลงจนต้องถ่ายโปสเตอร์แบบนี้ อยากจะบอกว่าเห็นดราม่านี้แล้ว เห็นด้วยมากว่าขาลงจริงๆ แต่ไม่ใช่เชียร์ลีดเดอร์ธรรมศาสตร์หรอกนะ สังคมไทยนี่แหละขาลง นี่ปี 2018 แล้วยังเถียงกันเรื่องศีลธรรม เรื่องสิทธิเหนือเรื่องตัวร่างกาย เรื่องเครื่องแต่งกายกันอยู่เลย

หากมองไปยังประเทศอื่นๆ เราก็จะพบว่า ทีมนักกีฬามหาวิทยาลัยไอวีลีกส์ มหาวิทยาลัยชั้นนำในสหรัฐฯ อังกฤษและอีกหลายประเทศถ่ายปฏิทินเปลือยกายกันมาเป็นสิบๆ ปีแล้ว โดยเฉพาะทีมนักกีฬาพายเรือ และเปลือยในที่นี้คือเปลือยจริง ถอดหมด ทั้งท่อนบนท่อนล่าง ไม่ใช่แบบเชียร์ลีดเดอร์ของธรรมศาสตร์ที่ผู้ชายเปลือยแค่ท่อนบน ผู้หญิงใส่เกาะอก ถ่ายครอปแบบไม่เห็นอะไรนอกจากหัวไหล่ อย่าว่าแต่เนินหน้าอก แค่ไหปลาร้ายังไม่เห็น เพราะหลายคนถ่ายบิดไหล่มาด้านหน้า ไม่อาจเรียกได้ว่าโชว์เนินนม ไม่อาจเรียกว่าเปลือยได้เลยด้วยซ้ำ ให้คะแนนความโป๊สัก 10 เต็ม 100

วัตถุทางเพศหรือสร้างอำนาจเหนือร่างกาย

ที่ยกตัวอย่างต่างประเทศมาก็ไม่ได้จะบอกว่า ฝรั่งทำอะไรแล้วเราต้องเห็นดีเห็นงามด้วยไปเสียหมด แต่ยกกรณีในต่างประเทศขึ้นมาเพื่อจะบอกว่า ในต่างประเทศเขาก็ถกเถียงประเด็นนี้กันดุเดือดเหมือนกัน แต่ไม่ใช่เรื่องความเหมาะสมของการเป็นนักศึกษา ไม่ใช่เรื่องศีลธรรม ไม่ใช่เรื่องที่ว่าภาพวาบหวิวนำไปสู่อัตราการท้องในวัยเรียนสูง (ตลกข้อโต้แย้งเรื่องนี้มาก) แต่เขาถกเถียงกันว่า ตกลงแล้วการถ่ายภาพเปลือยนี่เป็นการลดคุณค่าของคนเป็นวัตถุทางเพศ หรือเป็นการสร้างอำนาจเหนือร่างกายและปลดปล่อยตัวตนให้หลุดจากกรอบสถานะที่สังคมกำหนดไว้ผ่านเสื้อผ้า โลกเขาไปถึงจุดนั้นแล้วค่ะ

เมื่อปี 2013 ทีมนักกีฬาพายเรือหญิงของมหาวิทยาลัยวอร์ริกถ่ายปฏิทินเปลือยมาขายเพื่อระดมทุนเพื่อการกุศล จนเป็นกระแสฮือฮา เพราะส่วนใหญ่ปฏิทินเปลือยจะออกมาจากทีมนักกีฬาชายมากกว่า สำนักข่าวเดอะการ์เดียนสัมภาษณ์นักศึกษาที่เคลื่อนไหวด้านสิทธิสตรีและนักศึกษาที่ถ่ายแบบลงปฏิทินเปลือยว่าแต่ละฝ่ายมีความเห็นเรื่องนี้อย่างไรบ้าง


มิเรน กิดเดน ฝ่ายต่อต้านการถ่ายภาพเปลือยมองว่า ไม่ควรมีใครบอกผู้หญิงว่าต้องแต่งตัวอย่างไร แต่การถ่ายภาพเปลือยอาจยิ่งตอกย้ำว่าเซ็กส์ขายได้มากกว่าการถ่ายแบบอื่นๆ และปฏิทินเปลือยนี้ก็เป็นเครื่องย้ำเตือนถึงการทำให้นักศึกษาเป็นวัตถุทางเพศ

ส่วนอลิซ นิโคลสัน ฝ่ายสนับสนุนการถ่ายปฏิทินเปลือยมองว่าการเปลือยกายไม่ได้ไปทำลายขบวนการเรียกร้องสิทธิสตรีตรงไหน คนที่ซื้อไปก็เพียงต้องการภาพสวยๆ ภาพที่เป็นศิลปะ และการเปลือยเป็นการปลดปล่อยตัวตนออกจากกรอบที่ครอบงำเราเอาไว้ การเปลือยกายเป็นการแสดงให้เห็นว่าพวกเธอมั่นใจในรูปร่างของตัวเอง แม้บางคนอาจไม่ได้หุ่นดีอะไรนัก

ทั้งนี้ ไม่ว่าจะหน้าตาแบบไหนถ่ายภาพเปิดไหล่หรือถ่ายภาพเปลือยก็ต้องไปถกกันเรื่องการเป็นวัตถุทางเพศหรือการสร้างอำนาจเหนือร่างกายเหมือนกัน แต่เราขอยกให้ผู้อ่านเป็นผู้ตัดสินใจเอาเองว่า ผู้อ่านเห็นด้วยกับฝั่งไหน เพราะเหล่าสตรีนิยมเองก็ยังเถียงกันไม่จบ และอาจจะไม่มีวันจบเลยก็ได้

หน้าตาและความหลากหลาย

ส่วนประเด็นเรื่องรูปร่างหน้าตาซึ่งเป็นอีกประเด็นที่ควรจะมีคนพูดถึงมากกว่านี้ในเรื่องเชียร์ลีดเดอร์ธรรมศาสตร์ ก็กลับไม่ค่อยมีคนพูดถึง เราควรย้อนกลับไปตั้งคำถามว่าน้องๆ เลือกธีมเปิดไหล่ในการถ่ายแบบครั้งนี้เพราะต้องการสื่อว่าอะไร ซึ่งเพจ TU Cheerleader FC ได้ออกมามาชี้แจงว่า เชียร์ลีดเดอร์ธรรมศาสตร์ร่วมมือกับ U-Report Thailand ภายใต้องค์การ UNICEF เพื่อประชาสัมพันธ์กิจกรรม "รุ่นเราคิดต่างได้" และ "My Body, My Opinion" ก็จะเห็นได้ว่า เขาไม่ได้ถ่ายธีมนี้ด้วยความอยากสวยหล่อเซ็กซี่ของตัวเอง

อย่างไรก็ตาม กิจกรรม My Body, My Opinion อาจจะยังไม่มีการประชาสัมพันธ์รายละเอียดออกมาจริงจังนัก เราจึงไม่รู้ว่าตกลงแล้วกิจกรรมต้องการสื่ออะไร การส่งเสริมให้คนมั่นใจในตัวเอง ในรูปร่างของตัวเองมากขึ้นในที่นี้ ตั้งอยู่บนหลักการความงามที่หลากหลายหรือไม่

หากใช่ โปสเตอร์นี้ก็ยังไม่ตอบโจทย์นัก เพราะหน้าตาของเชียร์ลีดเดอร์ก็เป็นหน้าตาพิมพ์นิยมสวยหล่อตาโตจมูกโด่ง เป็นต้น การเอาแต่คนหน้าตาดีมาพูดเรื่องความมั่นใจมันก็ดูน่าหงุดหงิดและน่าหมั่นไส้สักหน่อย สำหรับคนที่อาจไม่มั่นใจในตัวเอง เพราะความเป็นคนธรรมดาๆ หน้าตาธรรมดาๆ

หากดูเผินๆ โปสเตอร์นี้อาจทำให้ตั้งคำถามว่า แล้วคนที่หุ่นไม่ดี หน้าตาธรรมดา เป็นคนข้ามเพศ หรืออื่นๆ จะเป็นผู้นำเชียร์ที่ดีได้หรือไม่? เป็นหน้าเป็นตาให้มหาวิทยาลัยได้หรือไม่? ความเห็นหรือเสียงของตัวเองดังหรือไม่? เพราะโปสเตอร์โปรโมตยังไม่สื่อถึงความมั่นใจของคนที่มีหน้าตาและรูปร่างที่หลากหลายมากนัก

แต่หากโปสเตอร์นี้มีจุดประสงค์แค่เป็นการเอาคนดัง (ในมหาวิทยาลัย) มาประชาสัมพันธ์ เหมือนกับเวลาที่โครงการต่างๆ เอาดารามาช่วยประชาสัมพันธ์ ก็ถือว่าตอบโจทย์แล้ว