ไม่พบผลการค้นหา
กระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนระมัดระวังการเก็บเห็ดหรือซื้อเห็ดป่ามาปรุงอาหาร ในช่วงฤดูฝนนี้ อาจเป็นเห็ดพิษ เสี่ยงเสียชีวิตได้ เผยข้อมูลปีนี้พบผู้ป่วยแล้วกว่า 1 พันราย เสียชีวิต 6 ราย

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงหน้าฝนของทุกปี ประชาชนมักเก็บเห็ดป่ามาขายหรือปรุงอาหาร จะพบผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากการกินเห็ดพิษเป็นประจำ เนื่องจากเห็ดป่ามีทั้งเห็ดที่กินได้และเห็ดพิษ ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกันมาก อาจทำให้เข้าใจผิดได้

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-23 ส.ค. 2561 ได้รับรายงานผู้ป่วยอาหารเป็นพิษจากการกินเห็ดพิษ 1,175 ราย และเสียชีวิต 6 ราย กลุ่มอายุที่พบมากที่สุดคือ อายุมากกว่า 65 ปี รองลงมา 45-54 ปี และ 55-64 ปี ตามลำดับ จังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุด 5 อันดับแรกคือ อุบลราชธานี อํานาจเจริญ ศรีสะเกษ ยโสธร และพะเยา 

โดยเฉพาะในช่วงหน้าฝนของปีนี้ (เดือน พ.ค.-ส.ค.) พบผู้ป่วยรวม 1,080 ราย คิดเป็นร้อยละ 92 ของผู้ป่วยทั้งหมด โดยเฉลี่ยเดือนละ 270 ราย นอกจากนี้ยังพบว่า ช่วงหน้าฝนมีผู้ป่วยสูงกว่าช่วงต้นปี (เดือน ม.ค.–เม.ย.) เกือบ 10 เท่า (จำนวน 7–32 ราย)

สำหรับเห็ดที่เป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิตส่วนใหญ่ คือ เห็ดระโงกพิษ บางแห่งเรียกว่าเห็ดระโงกหิน เห็ดระงาก หรือเห็ดไข่ตายซาก ซึ่งเห็ดชนิดนี้คล้ายคลึงกับเห็ดระโงกขาว หรือไข่ห่าน ที่สามารถกินได้ แต่แตกต่างกันคือ เห็ดระโงกพิษจะมีก้านสูง กลางดอกหมวกจะนูนเล็กน้อย มีกลิ่นค่อนข้างแรง นอกจากนี้ยังมีเห็ดป่าชนิดที่มีพิษรุนแรงคือ เห็ดเมือกไครเหลือง โดยประชาชนมักสับสนกับเห็ดขิง ซึ่งชนิดที่เป็นพิษจะมีเมือกปกคลุมและมีสีดอกเข้มกว่า ซึ่งยากแก่การสังเกตด้วยตาเปล่า

ทั้งนี้ ภูมิปัญญาชาวบ้านที่ใช้ทดสอบความเป็นพิษของเห็ด เช่น การจุ่มช้อนเงินลงไปในหม้อต้มเห็ด การนำไปต้มกับข้าวสาร หรือใช้ปูนกินหมากป้ายที่ดอกเห็ด ถ้าเป็นเห็ดพิษจะกลายเป็นสีดำ เป็นต้น วิธีเหล่านี้ยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการอ้างอิงในการใช้ทดสอบพิษกับเห็ดกลุ่มนี้ได้ โดยเฉพาะเห็ดระโงกพิษที่มีสารที่ทนต่อความร้อน แม้จะปรุงให้สุกแล้ว เช่น ต้ม แกง ก็ไม่สามารถทำลายสารพิษนั้นได้

สำหรับอาการหลังกินเห็ดพิษ จะคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง หรือถ่ายอุจจาระเหลว ไม่ควรซื้อยากินเองหรือไปรักษากับหมอพื้นบ้าน การช่วยเหลือในเบื้องต้นคือ กระตุ้นให้ผู้ป่วยอาเจียน โดยให้ผู้ป่วยดื่มน้ำ 1-2 แก้ว ล้วงคอให้อาเจียน หรือดื่มน้ำอุ่นผสมเกลือแกงแล้วล้วงคอให้อาเจียนออกมา (วิธีนี้ห้ามใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี) จากนั้นรีบพาไปพบแพทย์ทันที แจ้งประวัติการกินเห็ดและนำตัวอย่างเห็ดพิษไปด้วย (หากยังเหลืออยู่) ควรให้ผู้ป่วยนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล หรือนัดติดตามอาการทุกวันจนกว่าจะหายเป็นปกติ เนื่องจากเห็ดพิษชนิดร้ายแรงจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนในช่วงวันแรก แต่หลังจากนั้นผู้ป่วยอาจมีอาการรุนแรงตามมาคือ การทำงานของตับและไตล้มเหลว อาจทำให้เสียชีวิตได้  

กรมควบคุมโรค ขอเตือนประชาชนว่า หากไม่แน่ใจ ไม่รู้จัก หรือสงสัยว่าจะเป็นเห็ดพิษ ก็ไม่ควรเก็บหรือซื้อมาปรุงอาหาร ควรระวังในผู้สูงอายุ ผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอหรือมีโรคประจําตัว ควรหลีกเลี่ยงการกินเห็ด โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคตับและไต ซึ่งรวมถึงหลีกเลี่ยงการกินเห็ดร่วมกับดื่มสุรา เพราะฤทธิ์จากแอลกอฮอล์จะทำให้พิษเห็ดแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว และทำให้อาการรุนแรงขึ้นด้วย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422


ขอขอบคุณภาพจาก : pr.moph.go.th / สาธารณสุขจังหวัดแม่ฮ่องสอน


อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :