ไม่พบผลการค้นหา
อย่ามัวแต่กลัวพรรคทหาร ถ้ายังมีพรรคที่น่ากลัวและมีคะแนนเสียงอยู่ในมือโดยไม่ต้องเลือกตั้ง

จู่ๆ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็ออกมาโยน 6 คำถามสำคัญมาให้ประชาชนตอบ ตัวเนื้อหาคำถามไม่มีอะไรน่าสนใจ เพราะมีลักษณะชี้นำให้ตอบอย่างที่คนถามต้องการ คล้ายกับ 4 คำถามที่เคยโยนมา ก่อนหน้านี้

แต่มีคำถามหนึ่งที่ถูกโฟกัส นั่นคือคำถามข้อที่สอง ว่าด้วยการสนับสนุนพรรคการเมืองใดๆ ในการเลือกตั้งของ คสช. เพราะไปสอดรับกับกระแสข่าวในช่วงนี้ เรื่องการให้นอมินีไปจัดตั้ง “พรรคทหาร” เพื่อรออุ้มใครบางคนกลับมานั่งบนเก้าอี้ตัวเดิม

หลังจากนั้น สื่อต่างๆ ก็หยิบตำนานพรรคทหารในอดีตมาย้อนรอย ทั้ง “พรรคเสรีมนังคศิลา” ของจอมพล ป.พิบูลสงคราม, “พรรคสหประชาไทย” ของจอมพลถนอม กิตติขจร, “พรรคชาติประชาธิปไตย” ที่สนับสนุน พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์, “พรรคสามัคคีธรรม” ที่สนับสนุน พล.อ.สุจินดา คราประยูร, “พรรคมาตุภูมิ” ที่สนับสนุน พล.อ.สนธิ บุณยรัตกลิน ฯลฯ

แต่พรรคที่ไล่รายชื่อมาข้างต้น ต่างจบไม่สวยทั้งสิ้น เพราะนอกจากไม่ได้รวมตัวกันด้วยอุดมการณ์การเมืองจริงๆ เป็นเพียงการรวมตัวกันเฉพาะกิจ ยังอาศัยบารมีของผู้นำพรรคค่อนข้างมาก ทำให้เมื่อผู้นำหมดอำนาจ สมาชิกพรรคก็มักจะกระจัดกระจายกันไป

ถามกลับว่า พรรคแบบนี้หรือ คือพรรคหน้าใหม่ๆ ที่จะเข้ามาผลักดันการปฏิรูปประเทศ ตามที่หัวหน้า คสช. ต้องการ ?

นอกจากนี้การจัดตั้งพรรค และทำกิจกรรมการเมือง โดยให้ได้ ส.ส.จำนวนมากๆ ภายใต้กติกาปัจจุบันที่ถูกมองว่ายี้ “นักเลือกตั้ง” ก็เป็นเรื่องที่ยาก – ยากที่สุด

เอาง่ายๆ แค่การตั้งพรรค ก็มีข้อกำหนดยิบย่อยไว้ใน พ.ร.ป.พรรคการเมือง เช่น ต้องมีสมาชิกพรรคขั้นต่ำกี่คน ภายในกี่ปีต้องทำยอดสมาชิกให้ได้เท่าไร ทุนประเดิมพรรคต้องมีแค่ไหน ฯลฯ ขณะที่ระบบการเลือกตั้ง ส.ส. แบบจัดสรรปันส่วนผสม (เขต 350 คน และบัญชีรายชื่อ 150 คน) ก็มีวิธีคิดคำนวณที่ยุ่งยาก ซึ่งแม้จะมีเป้าหมายบอนไซพรรคใหญ่ และน่าจะทำให้พรรคเล็กได้แจ้งเกิดมากมาย 

แต่ในสภาพ “เบี้ยหัวแตก” เช่นนั้น พรรคประกาศตัวสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ อย่าง “พรรคประชาชนปฏิรูป” (และอาจรวมถึง “พรรคพลังชาติไทย”) ถามว่าจะได้ ส.ส.สักกี่คน และมีโอกาสแค่ไหน ที่จะได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล เมื่อต้องลงไปสู้กับฝ่ายที่เจนสนามกว่าอย่างพวกนักเลือกตั้งมืออาชีพ ?

พรรคที่น่ากลัวกว่า คือพรรคที่มีเสียงอยู่ในมือถึง 250 เสียง โดยไม่ต้องไปลุ้นในสนามเลือกตั้งแม้แต่วินาทีเดียว อย่าง “พรรค ส.ว.” ต่างหาก!

รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ให้อำนาจ คสช. เป็นผู้แต่งตั้ง ส.ว.เกือบทั้งหมด (244 คน จากทั้งหมด 50 คน ส่วนที่เหลือก็คือ ผบ.เหล่าทัพที่มาเป็นโดยตำแหน่ง) และอย่างที่รู้กันคือ ส.ว.แต่งตั้งชุดแรกนี้ จะมีวาระ 5 ปี ที่สำคัญคือมี “อำนาจพิเศษ” เพราะสามารถเข้ามาเลือกนายกฯ ร่วมกับ ส.ส. ได้ 

นั่นแปลว่าจะมีโอกาสร่วมกำหนดตัวนายกฯ (วาระ 4 ปี) ได้อย่างน้อยถึง 2 คน

ที่สำคัญ ส.ว.ที่ คสช.เลือกมาเองกับมือ ยังมีอำนาจที่ ส.ว.ปกติไม่มี คือการผลักดันให้รัฐบาลต้องทำตามแผนการปฏิรูปประเทศ และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ คสช. เขียนมาให้อีก

สืบทอดอำนาจไม่พอ ยังบังคับให้คนอื่นสืบทอดภารกิจที่ตัวเองเขียนไว้เป็นมรดก ถึง 20 ปี

ผมเคยลองทำข้อมูล “นักการเมืองแต่งตั้ง” ในรอบสิบปีหลัง นับจาก ส.ว.แต่งตั้งคืนชีพกลับมาใช้อีกครั้ง ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 มาจนถึงสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) หรือ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) พบว่ามีจำนวนทั้งหมด กว่า 700 คน 

โดยมากกว่า 100 คนเป็นคนที่ได้รับแต่งตั้งมากกว่าหนึ่งครั้ง หรืออาจเรียกได้ว่าเป็น “นักแต่งตั้งอาชีพ” อย่างแท้จริง

ที่น่าสนใจคือในจำนวนนี้ มีจำนวนหนึ่งที่ถูกแต่งตั้งให้มาทำงานชนิด “ไร้รอยต่อ” นับสิบปีเต็ม และปัจจุบัน คนเหล่านี้ก็ยังมีบทบาทสำคัญอยู่ใน สนช. อาทิ นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย, นายสมชาย แสวงการ, นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์, ตวง อันทะไชย ฯลฯ (ดูชื่อก็น่าจะพอคุ้นๆ ว่า เหล่านี้คือคนที่เคยอยู่ใน “กลุ่ม 40 ส.ว.” ที่ร่วมเคลื่อนไหวต่อต้านโค่นล้มรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อปี 2556 - 2557)

นอกจากนี้ ผมยังเคยลองประมวลข้อมูล บุคคลที่ คสช.มักเลือกใช้ในตำแหน่งต่างๆ นับพันเก้าอี้ ตลอด 3 ปีที่ยึดอำนาจเข้ามา พบว่ามีรูปแบบในการเลือกใช้ “คนหน้าซ้ำ” อยู่ประมาณหนึ่ง (25% ของทั้งหมด) และมักไว้วางใจคนที่มาจากอาชีพทหารหรือข้าราชการประจำ (เกือบ 60% ของทั้งหมด)

เมื่อดูจากพฤติกรรมของ “ผู้ที่เคยถูกเลือก” และ “ผู้ที่มีอำนาจเลือก” ในอดีต ทำให้พอเห็นลางๆ ว่า พรรค ส.ว. จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร และประกอบด้วยใครบ้าง

ทั้งนี้ ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ กำหนดให้ คสช. แต่งตั้ง ส.ว.สรรหาทั้งหมด ก่อนการเลือกตั้ง ส.ส. อย่างน้อย 15 วัน

นั่นแปลว่า เราจะได้เห็นพรรคการเมืองที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันของคนที่ คสช. ไว้วางใจ ก่อนที่การหย่อนบัตรจะเริ่มต้นขึ้นเสียด้วยซ้ำ

ถ้าเช่นนั้นแล้ว การต่อสู้ของ “พรรคทหาร” ในสนามเลือกตั้งจะมีความหมายอะไร? พรรคที่ต้องจับตา น่าจะเป็น “พรรค ส.ว.” เสียมากกว่า


พงศ์ บัญชา
0Article
0Video
0Blog