ไม่พบผลการค้นหา
ทำความรู้จักกับความเค็ม อันตรายและโรคภัยที่แสนทุกข์ทรมานจากปากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและผู้ป่วย

แนวคิดการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตอาหารตามปริมาณความเค็มและปริมาณไขมัน ได้รับความสนใจและกลายเป็นเรื่องกระฉ่อนในสังคม โดยเจ้าหน้าที่รัฐจะออกมายืนยันแล้วว่า แนวคิดดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนการศึกษา และเน้นเก็บจากอาหารที่ผลิตเป็นอุตสาหกรรมเท่านั้น

'วอยซ์ ออนไลน์' พูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพถึงอันตรายและโรคภัยจากความเค็ม ก่อนนำไปสู่การถกเถียงเรื่องภาษี


เค็มคืออะไร กินได้แค่ไหน

ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม ให้ความรู้ว่า รสเค็มที่เราบริโภคกันเป็นประจำ มาจากโซเดียม ซึ่งอยู่ในรูปของ "เกลือแกง" และน้ำปลา เครื่องปรุงรสต่างๆ เช่น ซีอิ๊ว น้ำพริก กะปิ ปลาร้า ผงชูรส ผงปรุงแต่งชนิดก้อน ตลอดจนผงฟูที่ใช้ในการทำเบเกอรี่

ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก ใน 1 วันร่างกายไม่ควรรับโซเดียมเกิน 2,000 มิลลิกรัม หรือใน 1 มื้ออาหารไม่ควรเกิน 600 มิลลิกรัม พูดง่ายๆ เท่ากับน้ำปลาประมาณ 1-1.5 ช้อนชาต่อมื้อ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจาก สสส.ระบุว่า คนไทยบริโภคโซเดียมสูงเกินกว่าค่ากำหนดขององค์การอนามัยโลกถึง 2 เท่า หรือประมาณ 4,350 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs)

"น้ำก๋วยเตี๋ยวที่ใส่ซุปก้อนหรือผงปรุงรสต่าง รู้หรือไม่ว่า ชามหนึ่งมีเกลือละลายอยู่ในน้ำประมาณ 60 เปอร์เซนต์ ถ้ากินน้ำซุปหมด เราจะได้โซเดียมมากถึง 1,200 มิลลิกรัม ยังไม่รวมเครื่องปรุงต่างๆ ของแต่ละคน"

charles-deluvio-1112665-unsplash.jpg

(Photo by Charles Deluvio)

อาหารที่มีปริมาณโซเดียมสูงและเป็นที่นิยมของคนไทย อย่างบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป มีปริมาณโซเดียมเฉลี่ยสูงถึง 1,500 มิลลิกรัมต่อ 1 ซอง อยู่ในรูปของเครื่องปรุงและน้ำซุป ขณะที่อาหารแปรรูปต่างๆ เช่น หมูแฮม ไส้กรอก เบคอน กุนเชียง นับเป็นกลุ่มอาหารที่มีโซเดียมสูง เนื่องจากใช้เกลือเป็นส่วนประกอบในการถนอมอาหาร 

ผลการวิจัยปริมาณโซเดียมและโซเดียมคลอไรด์ในอาหารสตรีทฟู้ด ของ ดร.เนตรนภิส วัฒนสุชาติ นักวิจัยเชี่ยวชาญ สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร ม.เกษตรศาสตร์ พบว่า กับข้าวและอาหารจานเดียวส่วนใหญ่มีโซเดียมเกินกว่า 1,500 มิลลิกรัมต่อถุงหรือกล่องที่จำหน่าย ซึ่งอยู่ในระดับความเสี่ยงสูงต่อสุขภาพ

“แนะนำให้ทานอาหารสด อาหารตามสั่งและบอกแม่ค้าว่าไม่ใส่ผงชูรส” คำแนะนำจาก ผศ.นพ.สุรศักดิ์

กินอย่างไทย :  หมูต้มเค็ม

เข้าใกล้ความตายหลังกินเค็ม 

มีความปั่นป่วนเกิดขึ้นภายในร่างกายและโรคร้ายจำนวนมากรออยู่ หากรับประทานเค็มต่อเนื่อง

ผศ.นพ.สุรศักดิ์ อธิบายว่า การรับประทานอาหารรสเค็มและมีโซเดียมจำนวนมาก นำไปสู่ภาวะความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นต้นเหตุของโรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ จนมีผลทำให้ผู้ป่วยเป็นอัมพฤกษ์หรืออัมพาตได้

“ทานเค็มแล้วเราจะหิวน้ำ เมื่อน้ำเจอกับเกลือก็เท่ากับน้ำเกลือ โดยปกติน้ำเกลือมีหน้าที่นำพาเม็ดเลือดเข้าไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย แต่เมื่อปริมาณเลือดสูงขึ้น แรงดันในหลอดเลือดก็จะสูงตาม ซึ่งเราเรียกกระบวนการนี้ว่า ความดันโลหิตสูง นานวันเข้าจะทำให้หลอดเลือดเสื่อม ระยะยาวนำไปสู่โรคหลอดเลือดในสมอง หลอดเลือดหัวใจ กลายเป็นโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต บางคนเป็นโรคไตวายในที่สุด”

ผศ.นพ.สุรศักดิ์ ระบุว่า ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข พบว่ามีคนไทยป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูงทั่วประเทศประมาณ 13 ล้านคน ผู้ป่วยโรคไตประมาณ 7.6 ล้านคน และโรคอื่นๆ เช่น โรคหัวใจ อัมพฤกษ์ อัมพาต ประมาณ 1 ล้านคน โดยรวมแล้วทั่วประเทศมีผู้ป่วยที่สัมพันธ์กับการกินเค็มประมาณ 15-20 ล้านคน ซึ่งนำไปสู่ความสูญเสียทางสุขภาพและเศรษฐกิจจำนวนมาก

“เฉพาะค่าใช้จ่ายล้างไต ฟอกเลือดที่คนไข้ต้องเสียและรัฐออกให้ทั้งหมดด้วยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประมาณ 2 แสนบาทต่อคนต่อปี ปัจจุบันมีคนไข้ประมาณ 9 หมื่นคนทั่วประเทศ ค่าใช้จ่ายรวม 1.5 หมื่นล้านบาท ไม่รวมค่ายา ค่าห้องพัก ค่าเสียเวลา รวมถึงการดูแลจากญาติพี่น้อง และหากเป็นโรคหัวใจร่วมด้วย ต้องเสียค่ายาความดันโลหิตรวมอีกปีละหนึ่งหมื่นล้านบาท”

ผู้เชี่ยวชาญประเมินว่า หากรวมค่าใช้จ่ายทั้งทางตรงและทางอ้อม ไทยมีภาระทางการเงินกับโรคไตไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นล้านบาทต่อปี โดยในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา คนไทยเจ็บป่วยด้วยโรคไตเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 15 เปอร์เซนต์ หรือ 1-2 หมื่นคนต่อปี ซึ่งหมายถึงค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นปีละ 1-2 พันล้านบาท 

olunsplash-anatomy-อวัยวะภายใน


เป็นโรคไตทรมาน

การรักษาภาวะไตวาย ในปัจจุบันมีการรักษาอยู่ 3 วิธี วิธีแรกคือ การควบคุมอาหารและการรักษาด้วยยา วิธีที่สองคือ การล้างไต ซึ่งแบ่งเป็นการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมและการล้างไตทางช่องท้อง วิธีที่สามเป็นการผ่าตัดเปลี่ยนไตหรือปลูกถ่ายไต

การเผชิญหน้ากับโรคไตนั้นทรมานกว่าที่คิด ธนพล ดอกแก้ว ประธานชมรมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย ผู้เจ็บป่วยกับโรคไตมากว่า 10 ปี เขาสูญเสียหน้าที่การงาน ครอบครัว และความมั่นคงทางเศรษฐกิจในชีวิต

“ยุคนั้นค่าฟอกไตแพงมหาศาล ครั้งละ 3 พันบาท สัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละ 4 ชั่วโมง ค่ายาอีก 2 พัน รวมค่าเดินทางแล้ว ผมเสียปีละ 8 แสนบาท ผมเคยทำงานให้บริษัทยักษ์ใหญ่ของไทย แต่ต้องลาออก ผมสูญเสียครอบครัว เพราะเป็นภาระให้กับเขา สูญเสียญาติพี่น้องเพื่อนฝูง ทุกคนไม่คบเราเพราะกลัวว่าจะถูกยืมเงิน ลำบากมาก สมัยนั้นยังไม่มีระบบสุขภาพประกันถ้วนหน้าสำหรับผู้ป่วยโรคไต” ธนพลที่ต่อสู้กับโรคร้ายมา 12 ปี จนกระทั่งได้รับการปลูกถ่ายไตในที่สุดกล่าว

ธนพล ดอกแก้ว

(ธนพล ดอกแก้ว)

ด้าน นพ.สุรศักดิ์ ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันมีผู้ป่วยความดันโลหิตสูงและเสี่ยงเป็นโรคไตมากขึ้น จากเดิมผู้คนจะเริ่มมีภาวะความดันโลหิตสูงในช่วงอายุ 35-40 ปี แต่ปัจจุบันพบได้มากขึ้นในกลุ่มคนอายุตั้งแต่ 25 ปีขึ้นไป 

“กินอาหารจานด่วน อาหารเค็ม ขาดการออกกำลังกาย ดื่มเหล้าสูบบุหรี่ อายุแค่ 20 กว่า ไขมันในเลือดสูง ความดันสูง น้ำหนักเกิน บางคนเริ่มเป็นเบาหวาน คนพวกนี้เสี่ยงมากหากยังไม่คิดดูแลตัวเอง ลองคิดดูว่าอายุ 40 ปีแทนที่จะก้าวไปสู่ตำแหน่งหน้าที่การงานที่มั่นคง ได้ขึ้นเป็นผู้บริหารระดับสูง กลับต้องไปล้างไต” ผศ.นพ.สุรศักดิ์ระบุ

เศรษฐกิจ-ค่าเงิน-การเงิน-ธนาคาร-การคลัง-ธนบัตร-แบงก์พัน

มาตรการภาษีช่วยได้

พชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต ระบุว่า การเก็บภาษีสินค้าที่มีความเค็มและความมัน ยึดรูปแบบเช่นเดียวกับการเก็บภาษีความหวาน โดยมีเวลาให้ผู้ประกอบการปรับตัว เช่น ให้เวลา 5 ปี หากผู้ประกอบการลดไขมันหรือความเค็มได้ ก็จะได้อัตราภาษีลดลง แต่หากลดไม่ได้ก็จะเสียภาษีในอัตราเดิม และหากเกินเวลาที่กำหนดแล้วไม่สามารถลดได้ ก็จะเสียภาษีเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคไม่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษีในทันที

ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม กล่าวว่า มาตราการทางภาษีนั้นมีประสิทธิภาพในการยกระดับคุณภาพชีวิตและสุขภาพประชาชน รวมถึงส่งผลดีต่อต้นทุนในการผลิตของภาคอุตสาหกรรมด้วย ตัวอย่างเช่น ประเทศฮังการี มีการเก็บภาษีความเค็มในบางผลิตภัณฑ์ที่มีเกลือสูงมาก ซึ่งตั้งเพดานไว้ประมาณร้อยละ 10-15 และพบว่าประชาชนหันมากินเค็มน้อยลง เพราะอาหารที่มีความเค็มน้อยก็จะมีราคาถูกกว่า ขณะที่บริษัทก็ปรับตัวไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีความเค็มลดลงเรื่อยๆ

“เรื่องนี้ต้องใช้เวลา คนเราจะกินอาหารรสชาติอ่อนลงได้ ต้องใช้เวลาในการปรับตัว ปรับลิ้น ลดระดับความเค็มลงมา 10 เปอร์เซนต์ลิ้นจะจับไม่ได้ เช่น ปกติใส่น้ำปลา 1 ช้อน ให้ลดลงมาเล็กน้อย เดือนละ 10 เปอร์เซนต์ 3 เดือนคุณจะลดลงได้มากถึง 30 เปอร์เซนต์ และมีความสุขกับการกินเหมือนเดิม เช่นกันกับภาคอุตสาหกรรม ถ้าเขาลดปีละ 5-10 เปอร์เซนต์ สุดท้ายคนกินก็จะไม่รู้ ค่อยๆ ปรับ และเริ่มชินกับทั้งรสชาติและสุขภาพ โดยรวมแล้วประชาชนสุขภาพดี อุตสาหกรรมต้นทุนต่ำลง”

ธนพล บอกว่า เห็นด้วยกับการนำมาตรการทางภาษีมาใช้เพื่อยกระดับสุขภาพประชาชน และเชื่อว่าผลประโยชน์จะออกดอกออกผลในระยะยาว อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญคือการบริหารจัดการเงิน ที่ภาครัฐต้องมีความชัดเจน 

“คนไม่ได้กลัวที่ต้องจ่ายเพื่อสุขภาพ แต่เป็นเรื่องของความไว้ใจ ว่ารัฐจะเอาภาษีไปทำอะไร” เขากล่าวในที่สุด 

วรรณโชค ไชยสะอาด
ผู้สื่อข่าวสังคม Voice Online
118Article
0Video
0Blog