ตัวแทนจากภาคประชาชน ฝ่ายการเมือง นักวิชาการ ร่วมเสวนา ในรายการ “บ่ายโมง ตรงประเด็น” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เรื่อง “ปฏิรูปตำรวจ” โดย นายนิกร จำนง จากพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า ตำรวจทุกประเทศถือว่าเป็นผู้มีอำนาจมากที่สุด เนื่องจากเป็นผู้ได้รับมอบอำนาจทางกฎหมายให้ดูแลความสงบเรียบร้อย แต่ที่ผ่านมาประเทศไทยพูดกันเรื่องการปฏิรูปผิดทาง เพราะดูแต่โครงสร้างการบังคับบัญชา แต่แท้จริงแล้วต้องดูตามบทบาทหน้าที่จากฝ่ายที่ทำงานใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด
น.ส.เรืองรวี พิชัยกุล เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ กล่าวว่า ต้องทำตำรวจให้เป็นพลเรือน ไม่ใช่มีความรู้สึกว่าเป็นสายบังคับบัญชา ลดชั้นยศทำสายบังคับบัญชาให้สั้นที่สุด เพื่อไม่ให้มีการวิ่งเต้นเพื่อตำแหน่ง พร้อมเสนอให้เพิ่มพนักสอบสวนที่เป็นผู้หญิงมากขึ้น เพื่อสะดวกต่อการดำเนินคดีเกี่ยวกับผู้หญิง เนื่องจากปัจจุบันมีสถิติคดีเกี่ยวกับผู้หญิงเพิ่มมากขึ้น
ด้าน พ.ต.ท.กฤษณะพงศ์ พูตระกูล อดีตอนุกรรมาธิการปฏิรูปกิจการตำรวจ สปก.กล่าวว่า งานตำรวจจะประสบความสำเร็จคือการกระจายอำนาจ แต่ถ้าไปขึ้นตรงกับผู้ว่าราชการจังหวัด อาจทำให้ไม่ปลอดจากอำนาจการเมือง เพราะปัจจุบันผู้ว่าราชการจังหวัดยังถูกโยกย้ายได้จากฝ่ายการเมือง และจะมั่นใจได้อย่างไรอย่างการเมืองจะไม่ใช้อำนาจจากตำรวจมาเป็นเครื่องมือของตนเอง การปฏิรูปตำรวจไม่ใช่การลองผิดลองถูก ซึ่งปัญหาสำคัญของตำรวจคือการแต่งตั้งโยกย้าย ทำอย่างไรให้โครงสร้างตำรวจต้องปลอดจากการแทรกแซงทางการเมือง ทั้งการแต่งตั้งโยกย้าย การตรวจสอบการใช้อำนาจของตำรวจ และที่สำคัญจัดให้มีสวัสดิการเพียงพอ
ขณะที่ นายศุภชัย ใจสมุทร พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่าวงการตำรวจมีการแทรกแซงจากทางการเมือง เมื่อมีการแทรกแซงแล้วความเป็นธรรมจะไม่เกิด ที่ผ่านมาตำรวจคนไหนตามนักการเมืองจะได้เลื่อนขั้นได้เร็ว ทั้งนี้มองว่านักการเมืองควรปฏิรูปตัวเองก่อน ไม่ควรเปิดบ้านให้นายตำรวจใหญ่เข้ามาหา เรื่องสำคัญอีกอย่างคือการให้สวัสดิการเพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจของตำรวจ
นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ควรกระจายอำนาจการทำงานของตำรวจ ไม่ควรกระจุกแค่ในส่วนกลาง ให้แต่ละคนสามารถโยกย้ายไปเติบโตตามจังหวัดต่างๆ ได้ โดยไม่จำเป็นต้องเข้ามาโตที่ส่วนกลาง เนื่องจากหลายคนมีความฝัน ส่วนใหญ่ตั้งเป้าว่าอยากเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งมีตำแหน่งเดียว และจะเข้ามาได้แน่นอนว่าไม่ได้มาจากความสามารถเพียงอย่างเดียว นอกจากนี้ยังเห็นว่าไม่ควรให้นักเรียนเตรียมตำรวจมาเรียนร่วมกับนักเรียนเตรียมทหาร เพราะว่ามีแนวทางการทำงานคนละแบบ ต้องยกเลิกเรียนร่วมกัน รวมทั้งเลิกระบบบังคับบัญชาแบบทหาร ทั้งนี้การปฏิรูปตำรวจต้องมาจากทุกฝ่ายร่วมมือกัน โดยเฉพาะฝ่ายผู้มีอำนาจต้องมีความจริงใจในการแก้ปัญหา
นายสาธิต ปิตุเตชะ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าการปฏิรูปไม่ได้ทำได้ง่าย เพราะติดวัฒนธรรมองค์กร ต้องปรับหลักสูตรการเรียนของตำรวจให้เกิดความภูมิใจกับการทำหน้าที่ มีจิตสำนึกในการบริการประชาชน ไม่ให้ติดกับชั้นยศ ทำอย่างไรให้ตำรวจปลอดจากการใช้อำนาจในเรื่องส่วนตัว ไม่ใช่แค่ปลอดจากนักการเมือง