ไม่พบผลการค้นหา
1 ปีผ่านไปอย่างรวดเร็ว นับจากวันแรกที่โดนัลด์ ทรัมป์ สาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ โลกในยุคทรัมป์เต็มไปด้วยเรื่องเหนือความคาดหมาย ตั้งแต่การแบนพลเมือง 8 ประเทศไม่ให้เข้าสหรัฐฯ ไปจนถึงการเรียกชาติแอฟริกันว่าเป็น 'สถานที่โสโครก' แต่โลกที่ดูเหมือนจะหมุนรอบทรัมป์ แย่ลงเท่าที่เราคิดหรือไม่?

โดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯปี 2016 อย่างพลิกความคาดหมายของทุกฝ่าย แม้แต่ตัวเขาเอง และรัฐบาลทรัมป์ก็ทำให้สหรัฐฯและโลกเผชิญกับเรื่องที่ไม่คาดฝันว่าจะได้เห็นจากผู้นำที่ทรงอำนาจที่สุดในโลกตลอดปี 2017 เริ่มตั้งแต่วันแรกที่รับตำแหน่ง คือ 20 มกราคม 2017 ทรัมป์ออกมาตอบโต้ว่าสื่อที่เผยแพร่ภาพที่คนไปร่วมพิธีสาบานตนรับตำแหน่งของเขาน้อย เป็นพวกเผยแพร่ข่าวปลอม และหลังจากนั้นก็สร้างความฮือฮาต่อเนื่องด้วยการถอนสหรัฐฯจากข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ TPP ที่สหรัฐฯเองเป็นผู้ผลักดัน เพื่อสร้างเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลกขึ้นใหม่ ต่อด้วยการประกาศห้ามคนจาก 6 ชาติมุสลิมเข้าประเทศ ที่กลายเป็นเรื่องฟ้องร้องกันยาวนานตลอดปี 2017 ก่อนจะจบลงด้วยการที่ทรัมป์เปลี่ยนเป็นการแบนพลเมืองจาก 8 ประเทศ รวมเวเนซุเอลาและเกาหลีเหนือ เพื่อไม่ให้เป็นการพุ่งเป้าไปที่ประเทศมุสลิมมากเกินไป 

นอกจากนี้ทรัมป์ยังถอนตัวจากข้อตกลงปารีสเรื่องการลดโลกร้อน และสร้างความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลีโดยการใช้ถ้อยคำรุนแรงตอบโต้นายคิมจองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือผ่านทางทวิตเตอร์ สร้างความตึงเครียดในตะวันออกกลางด้วยการยอมรับเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงอิสราเอล จนทำให้ชาติมุสลิมที่เป็นพันธมิตรหลักของสหรัฐฯอย่างจอร์แดนและซาอุดีอาระเบีย ยังต้องออกมาวิจารณ์การตัดสินใจนี้ว่าเป็นการทำลายสันติภาพตะวันออกกลาง รวมถึงยืนยันจะสร้างกำแพงกั้นพรมแดนเม็กซิโก-สหรัฐฯ พร้อมตอกย้ำท่าทีเป็นปฏิปักษ์ต่อผู้อพยพด้วยการกล่าวในที่ประชุมกับส.ว.ว่าไม่อยากรับคนเฮติ รวมถึงคนจากแอฟริกา ซึ่งเป็น "สถานที่โสโครก" เข้าประเทศ จนสหภาพแอฟริกาออกมาเรียกร้องให้ทรัมป์ขอโทษ แต่ก็ไม่เคยได้รับคำขอโทษใดๆ 

ทั้งหมดนี้ยังไม่นับรวมพฤติกรรมไม่เหมาะสมอื่นๆที่ทำให้ทรัมป์ถูกวิจารณ์อย่างหนัก เช่นการคุกคามสื่อ ให้รางวัล "สื่อเลวประจำปี" และการใช้ทวิตเตอร์แสดงความเห็นที่กระทบความมั่นคง ตอบโต้ผู้นำหรือบุคคลสำคัญทั่วโลกอย่างเผ็ดร้อน จึงไม่แปลกใจที่คะแนนนิยมของทรัมป์เมื่อดำรงตำแหน่งครบ 1 ปี ต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์เมื่อเทียบกับประธานาธิบดีคนก่อนหน้า จากร้อยละ 45 เหลือเพียงร้อยละ 39 เท่านั้น ขณะที่อดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา ได้คะแนนเมื่อทำงานครบ 1 ปีอยู่ที่ร้อยละ 49 ส่วนอดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ได้ถึงร้อยละ 83

ทรัมป์กับชาวอเมริกัน

AP18013010819650.jpg

พาดหัวข่าวทั่วโลกชวนให้เห็นภาพว่าโลกใต้เงื้อมมือทรัมป์กำลังลุกเป็นไฟ แต่หากดูสิ่งที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ 1 ปีที่ผ่านมา เราเห็น GDP โตร้อยละ 3.2 ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2017 รายได้ของแรงงานระดับล่างเพิ่มสูงขึ้น การตกงานลดลงอย่างต่อเนื่อง และตลาดหุ้นวอลสตรีทก็ขึ้นทำลายสถิติเมื่อปลายปี 2017 ทั้งหมดต้องถือว่าเป็นโชคดีของทรัมป์ที่เข้ารับตำแหน่งในยุคที่วัฏจักรเศรษฐกิจหมุนมาถึงจุดที่ฟื้นตัวสูงสุดในรอบ 10 ปีนับตั้งแต่วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์เมื่อปี 2007-2008 และการข่มขู่ของทรัมป์ต่อบรรษัทอเมริกันและต่างชาติให้เพิ่มการจ้างงานในประเทศ ก็ได้ผลจริงพอควร สมกับที่เขาได้หาเสียงภายใต้นโยบาย America First หรือ "อเมริกาต้องมาก่อน"

นอกจากนี้ ทรัมป์ยังไม่ได้รื้อข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ หรือ NAFTA ตามที่เคยขู่ไว้ และยังไม่ได้เก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนร้อยละ 45 ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯอย่างมหาศาลและกลายเป็นการเริ่มสงครามการค้าโลก อย่างไรก็ตาม ผลงานของทรัมป์ที่น่ากังวลก็คือการปฏิรูปภาษี ลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจากร้อยละ 35 เหลือร้อยละ 20 และเพิ่มสิทธิการลดหย่อนภาษีของชนชั้นกลาง แต่เพิ่มภาษีจากการถือครองทรัพย์สินในต่างประทศและการนำรายได้จากต่างแดนเข้าประเทศ เพื่อกดดันให้บรรษัทข้ามชาติเข้ามาตั้งฐานการผลิตในสหรัฐฯมากขึ้น แม้ทรัมป์จะบอกว่าชนชั้นกลางได้ประโยชน์มากที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภาษีครั้งใหญ่นี้ แต่นโยบายดังกล่าวถูกมองว่าเอื้อต่อนายทุนโดยทำให้รัฐต้องเสียรายได้มหาศาล และเป็นนโยบายที่จะส่งผลเสียในระยะยาว


AP18018602290946.jpg

ผู้ชุมนุมในสหรัฐฯประท้วงสนับสนุนโครงการคุ้มครองผู้อพยพวัยเยาว์ DACA โดยผู้อพยพที่เข้าเมืองผิดกฎหมายตั้งแต่เด็กกว่า 800,000 คนที่ได้ประโยชน์จาก DACA ถูกเรียกว่า Dreamers หรือผู้ที่ใฝ่ฝันจะได้มีชีวิตใหม่ในสหรัฐฯ

ส่วนในด้านสังคม สิ่งที่กระทบกับชาวอเมริกันอย่างมาก นอกเหนือจากการแบนผู้อพยพจากแอฟริกาและตะวันออกกลาง ยังมีเรื่องการประกาศจะยกเลิกนโยบายคุ้มครองผู้อพยพวัยเยาว์ หรือ DACA ที่มีกว่า 800,000 คนทั่วประเทศ ซึ่งเป็นนโบายที่เริ่มขึ้นในยุคโอบามา อนุญาตให้ผู้อพยพที่เข้าเมืองมาโดยผิดกฎหมายตั้งแต่เด็กพร้อมกับพ่อแม่ ส่วนใหญ่เป็นชาวลาตินอเมริกัน และเป็นกำลังสำคัญในตลาดแรงงานสหรัฐฯ สามารถทำงานเสียภาษีเข้าระบบได้อย่างถูกต้องหากไปลงทะเบียนกับรัฐ และยังมีประเด็นที่รัฐบาลทรัมป์ออกกฎห้ามคนข้ามเพศเป็นทหาร ซึ่งขัดแย้งโดยสิ้นเชิงกับนโยบายเปิดกว้างเรื่องเพศในกองทัพของโอบามา และยังทำให้เกิดคำถามว่ากองทัพจะต้องทำอย่างไรกับทหารข้ามเพศซึ่งอยู่ในกองทัพแล้วหลายพัน หรืออาจนับหมื่นคน รวมถึงการยกเลิกโอบามาแคร์ โดยยังไม่มีความชัดเจนว่าจะเอาอะไรมาแทนที่เพื่อเป็นสวัสดิการสาธารณสุขขั้นพื้นฐานให้ประชาชน

การทูตแบบทรัมป์ๆกับความมั่นคงโลก

การเป็นผู้นำสหรัฐฯ ไม่ได้มีอิทธิพลเฉพาะในบ้าน แต่ในฐานะมหาอำนาจโลก ทรัมป์ย่อมส่งผลกระทบต่อประเทศอื่นๆทั่วโลกด้วยนโยบายการทูตแบบทรัมป์ๆ ธีมใหญ่ที่สุดของการทูตยุคทรัมป์ ก็คือการผละจากโลกาภิวัตน์ด้วยการออกจากข้อตกลงสำคัญๆของโลก และขัดแย้งกับสหประชาชาติ รวมถึงการไม่ลงรอยกันระหว่างทรัมป์และเร็กซ์ ทิลเลอร์สัน รัฐมนตรีต่างประเทศ ทำให้ทิศทางนโยบายของสหรัฐฯต่อโลกสับสนรวนเรไปมาอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน และส่งผลเสียต่อสถานะตำรวจโลกและมหาอำนาจผู้ค้ำจุนโลกเสรีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ตะวันออกกลาง

AP18009499292087.jpg

ผู้ประท้วงชาวปาเลสไตน์ก่อเหตุจลาจลแสดงความไม่พอใจการตัดสินใจยอมรับเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงอิสราเอลของรัฐบาลสหรัฐฯ ทำให้ทหารอิสราเอลใช้กำลังปราบปรามการชุมนุม มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต รวมถึงถูกจับกุมจำนวนมาก

สถานการณ์โลกในยุคทรัมป์ก็คล้ายกับสถานการณ์เศรษฐกิจในสหรัฐฯ คือทรัมป์โชคดีที่ขึ้นรับตำแหน่งในช่วงที่สมรภูมิ IS ในอิรักและซีเรียเดินทางเข้าสุ่จุดจบ ปลายปีที่ผ่านมา อิรักประกาศชัยชนะเหนือ IS และรัสเซียก็ประกาศยุติปฏิบัติการทางทหารในซีเรีย เพราะสามารถเอาชัยเหนือ IS ได้แล้ว แม้ว่าทรัมป์จะดูเหมือนไม่มีส่วนร่วมใดๆกับการเผด็จศึก IS แต่อย่างน้อยก็ต้องให้เครดิตที่ทรัมป์เดินนโยบายตามรอยโอบามา คือไม่เน้นการใช้กำลังทหารอเมริกันเข้าร่วมรบ แต่ส่งเสริมกองกำลังท้องถิ่น ทั้งเคิร์ดและอิรัก ให้สู้กับ IS เพื่อหลีกเลี่ยงสงครามผูกพันไม่รู้จบแบบในอัฟกานิสถานและอิรักยุคก่อนหน้านี้

อย่างไรก็ตาม คะแนนที่ทรัมป์ทำได้อยู่บ้างจากเรื่องการปราบปราม IS ก็ถูกลบล้างไปด้วยการเปิดศึกกับตะวันออกกลางแทบจะทันทีที่การต่อสู้กับ IS ถึงจุดสิ้นสุด ด้วยการตัดสินใจสั่งย้ายสถานทูตสหรัฐฯไปเยรูซาเลม และยอมรับเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงของอิสราเอล ทั้งที่ปาเลสไตน์ก็อ้างสิทธิ์เหนือเยรูซาเลมตะวันออกในฐานะเมืองหลวงของตนเองเช่นกัน การทำเช่นนี้เท่ากับการเลือกข้างในความขัดแย้งที่เปราะบางที่สุดในโลก และทำให้สหรัฐฯสูญเสียสถานะตัวกลางในการสร้างสันติภาพระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ไปตลอดกาล หรือจนกว่าทรัมป์จะยอมแก้ไขการตัดสินใจที่ผิดพลาดนี้ด้วยการยอมรับให้เยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงของปาเลสไตน์ด้วย

เท่านั้นยังไม่พอ ทรัมป์ยังเขย่าข้อตกลงสันติภาพที่เป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของโอบามา นั่นก็คือข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน ที่ทรัมป์วิจารณ์มาตั้งแต่ตอนหาเสียงว่าเป็นสัญญาที่สหรัฐฯเสียเปรียบ ยอมอ่อนข้อให้อิหร่านมากเกินไป โดยสาระสำคัญของสนธิสัญญาฉบับนี้คือการยกเลิกการคว่ำบาตรอิหร่าน แลกกับการระงับโครงการพัฒนานิวเคลียร์ แต่ทรัมป์ต้องการให้มีการแก้ไขสัญญาให้รัดกุมขึ้น โดยเพิ่มเงื่อนไข 3 ข้อ ได้แก่ 1.ให้การระงับกิจกรรมนิวเคลียร์ของอิหร่าน เป็นไปอย่างถาวร 2. ห้ามการพัฒนาโครงการขีปนาวุธ 3. ห้ามการทำกิจกรรมที่เป็นภัย เช่นการสนับสนุนประเทศที่ไม่เป็นมิตรกับชาติตะวันตก ซึ่งแน่นอนว่าเงื่อนไขทั้งหมดนี้จะไม่ได้รับการตอบรับจากอิหร่าน และหากทรัมป์จะรื้อสัญญาดังกล่าวจริง ก็อาจทำให้ความตึงเครียดครั้งใหม่ระหว่างสองประเทศปะทุขึ้นได้

เกาหลีเหนือ

AP18016306322726.jpg

เกาหลีเหนือในยุคของคิมจองอึน ผู้นำหนุ่มที่ขึ้นชื่อเรื่องความมีพฤติกรรมคาดเดาไม่ได้ ก็อันตรายต่อโลกมากพออยู่แล้ว เมื่อเจอกับรัฐบาลทรัมป์ที่เอาแน่เอานอนไม่ได้พอๆกัน สถานการณ์ยิ่งอันตรายถึงจุดเดือด ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา ทรัมป์ตอบโต้คิมจองอึนด้วยถ้อยคำรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นการขู่ว่าจะ "ทำลายเกาหลีเหนือให้ราบคาบ" เรียกคิมว่า "มนุษย์จรวด" หรือการเย้ยหยันว่า "ปุ่มกดนิวเคลียร์ของสหรัฐฯใหญ่กว่า และทรงพลังกว่าของเกาหลีเหนือ" ทั้งหมดนี้แม้จะไม่บานปลายไปถึงขั้นก่อสงคราม และยังเพิ่งมีการเจรจาระหว่างเกาหลีเหนือกับใต้เพื่อร่วมแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาวที่พยองชาง เกาหลีใต้ในเดือนกุมภาพันธ์นี้ แต่นั่นก็เป็นผลจากท่าทีเปิดกว้างของนายมุนแจอิน ผู้นำเกาหลีใต้ บวกกับแรงกดดันจากจีนที่เพิ่มระดับการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือ มากกว่าเกิดจากทรัมป์

อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมของทรัมป์ยังเสี่ยงที่จะผลักให้สถานการณ์คาบสมุทรเกาหลีกลับมาตึงเครียดอีก เพราะมีการคาดการณ์กันในหมู่นักวิเคราะห์การเมืองโลก ว่าหากทรัมป์ส่งสัญญาณไม่เป็นมิตรไปยังคิมจองอึนบ่อยๆ อาจทำให้เกิดการ "แปลสัญญาณผิดพลาด" ระหว่างสองฝ่าย ที่ทำให้คิมตัดสินใจเริ่มสงครามเพื่อป้องกันตัว เนื่องจากคิดว่าทรัมป์จะโจมตีเกาหลีเหนือจริงๆ

สงครามเย็นครั้งที่สองกับรัสเซีย

AP18010052023491.jpg

นายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย พบกับนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ระหว่างการประชุม APEC ที่เมืองดานัง เวียดนาม

ความสัมพันธ์สหรัฐฯ-รัสเซียถูกจับตามองมากที่สุดในยุคของทรัมป์ เพราะตั้งแต่ตอนหาเสียงเลือกตั้ง ทรัมป์ก็พยายามบอกมาตลอดว่าเขาพร้อมเจรจาฟื้นฟูความสัมพันธ์กับรัสเซียซึ่งย่ำแย่อย่างหนักในยุคโอบามา และยังชื่นชมนายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซียอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ความพยายามของทรัมป์ที่จะสร้างสันติภาพกับศัตรูประจำชาติอย่างรัสเซียกลับถูกขัดขวางด้วยเรื่องอื้อฉาวว่ารัสเซียแทรกแซงการเลือกตั้ง ทำให้ทรัมป์ชนะ และยังมีเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างคนในรัฐบาลทรัมป์กับรัฐวิสาหกิจและเอกชนรัสเซีย ซึ่งทำให้ทรัมป์ไม่สามารถออกตัวเดินหน้าฟื้นฟูความบาดหมางระหว่างสหรัฐฯกับรัสเซียได้สะดวก เนื่องจากกระแสสังคมไม่ยอมรับ 

นอกจากนี้ การที่ทรัมป์และปูตินต่างก็มีนโยบายเร่งฟื้นฟูแสนยานุภาพทางนิวเคลียร์และปรับปรุงกองทัพ สะสมอาวุธ ทำให้มีความเป็นไปได้สูงที่โลกจะกลับสู่ยุคสงครามเย็นอีกครั้ง ซึ่งก็เช่นเดียวกับกรณีเกาหลีเหนือ เรื่องนี้ไม่ใช่ความผิดทรัมป์เสียทีเดียว เพราะปูตินเองที่เป็นฝ่ายเปิดเกมสร้างความตึงเครียดในการเมืองโลกด้วยการผนวกรวมไครเมียเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย แต่การมีทรัมป์เป็นผู้นำสหรัฐฯในยุคที่การเมืองโลกเปราะบางเช่นนี้ ทำให้เกิดความเสี่ยงที่สหรัฐฯจะทำให้ทุกอย่างแย่ลงด้วยท่าทีที่ขาดความระมัดระวังของประธาธิบดี

ขวา(ไม่)ครองโลก

000_W768C.jpg

สิ่งที่ทั่วโลกกังวลว่าจะเป็นผลพวงที่ร้ายแรงที่สุดจากการครองอำนาจของทรัมป์ ก็คือการเติบโตของลัทธิขวาครองโลก หลายฝ่ายมองว่าการที่ผู้นำสหรัฐฯกลายเป็นบุคคลที่พูดจาเหยียดผิว ศาสนา เชื้อชาติ และไม่ใส่ใจปัญหาสิทธิมนุษยชน จะไม่เพียงลดทอนคุณค่าความเป็นชาติผู้นำโลกเสรีของสหรัฐฯ แต่จะทำให้เกิดความเสื่อมถอยด้านสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยครั้งใหญ่เป็นโดมิโนไปทั่วโลก เนื่องจากชาติพันธมิตรของสหรัฐฯจะไม่ถูกกดดันด้วยอิทธิพลของสหรัฐฯแล้ว และมาตรฐานใหม่ของผู้นำอย่างทรัมป์จะกลายเป็นข้อแก้ต่างให้เผด็จการประชานิยมทั่วโลก 

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้กลับไม่เป็นความจริงเสียทีเดียว สหรัฐฯไม่ได้เพิกเฉยต่อประเด็นสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยไปอย่างสิ้นเชิงในยุคทรัมป์ แม้จะไม่เท่ายุคโอบามา แต่ทำเนียบขาวก็แสดงบทบาทแข็งขันในการกดดันเมียนมาเรื่องความรุนแรงต่อชาวโรฮิงญา นอกจากนี้ พฤติกรรมอื้อฉาวของทรัมป์ยังทำให้กระแสขวาครองโลกตีกลับ ผู้นำหัวเสรีที่ให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนได้รับเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นเอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส หรือการได้ดำรงตำแหน่งเป็นสมัยที่ 4 ของอังเกลา แมร์เคล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี

ฮิวแมนไรท์ วอทช์ ออกรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนประจำปี 2018 โดยประเมินสถานการณ์จากปี 2017 ที่ผ่านมา พบว่าเป็นปีที่ประสบความสำเร็จสำหรับแวดวงสิทธิมนุษยชน เพราะผู้นำโลกได้แสดงให้เห็นว่าพร้อมจะต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชน และสกัดกั้นการเรืองอำนาจของลัทธิเผด็จการประชานิยม ซึ่งเมื่อผนวกรวมกับภาคประชาชนที่ขับเคลื่อนอย่างแข็งขัน และทำงานกับหลากหลายภาคส่วน จึงทำให้ทั่วโลกได้พิสูจน์ตัวเองร่วมกันว่าการต่อสู้กับรัฐบาลที่กดขี่ละเมิดสิทธิมนุษยชน เป็นเรื่องที่ไม่เกินความพยายาม

โดยสรุปแล้ว 1 ปีที่โลกหมุนไปท่ามกลางเรื่องอื้อฉาวของทรัมป์ แม้จะทำให้การเมืองโลกตึงเครียด และตกอยู่ในความเสี่ยงโดยไม่จำเป็นหลายครั้ง ทำให้สิทธิเสรีภาพของชาวอเมริกันถดถอยไปในหลายแง่มุม แต่ในอีกด้าน การขึ้นมาของทรัมป์ก็ทำให้โลกตระหนักถึงคุณค่าของการต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพเพิ่มขึ้นเช่นกัน ถือได้ว่าเป็นคุณูปการของทรัมป์ ที่บำเพ็ญตนเป็นภัยคุกคามซึ่งทำให้โลกเสรีต้องหันมาสามัคคีกันมากขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา