สำนักข่าวเอเอฟพีเสนอบทวิเคราะห์ระบุว่า มาเลเซียจะเกิดความเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตยที่แท้จริง มีการคุ้มครองสิทธิของประชาชน เสรีภาพของสื่อมวลชน มีมาตรการปราบคอร์รัปชั่น และลงมือเยียวยาการแบ่งแยกทางเชื้อชาติ หรือไม่ ขึ้นกับว่า มหาเธร์ โมฮัมหมัด ผู้ชนะการเลือกตั้งเมื่อวันพุธ จะเปลี่ยนสไตล์การปกครองของตนเองหรือเปล่า
การขึ้นสู่อำนาจของมหาเธร์และพันธมิตรฝ่ายค้าน ปากาตัน ฮาราปัน (พรรคพีเอช) นับเป็นการเปลี่ยนขั้วรัฐบาลเป็นครั้งแรกนับแต่มาเลเซียได้รับเอกราชจากอังกฤษเมื่อปี 1957
มหาเธร์เองเคยเป็นผู้นำของรัฐบาลผสม บาริซัน เนชันแนล (บีเอ็น) ยาวนานถึง 22 ปีด้วยสไตล์การนำแบบอำนาจนิยม ก่อนที่จะจับมือกับพันธมิตรฝ่ายค้านที่เขาเคยบดขยี้ทางการเมือง แล้วหันมาโค่นเก้าอี้ของนาจิบ ราซัก ผู้นำพรรคอัมโน ที่เขาเป็นคนปลุกปั้นเมื่อครั้งยังครองอำนาจ
มาเลเซียภายใต้ระบอบปกครองที่มีพรรคอัมโนเป็นแกนนำ ยึดถือนโยบายให้สิทธิพิเศษแก่ชนเชื้อสายมลายูมาโดยตลอด ทั้งๆที่ประเทศนี้มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ ประชากรเชื้อสายจีนกับอินเดียเป็นชนกลุ่มน้อยที่มีกลุ่มก้อนขนาดใหญ่
บทวิเคราะห์บอกว่า รัฐบาลใหม่ของมาเลเซียมีภาระหนักหน่วง 3 ข้อ ข้อแรก ต้องช่วงชิงการควบคุมระบบราชการซึ่งอยู่ในมือของพรรคอัมโนมานานร่วม 6 ทศวรรษ
ข้อสอง รัฐบาลชุดใหม่ต้องแก้ไขเปลี่ยนแปลงนโยบายที่ให้สิทธิพิเศษแก่คนเชื้อสายมลายู ทั้งเรื่องการศึกษา การมีงานทำ ที่อยู่อาศัย และอื่นๆ
ในยุครัฐบาลใหม่ มหาเธร์ซึ่งเป็นผู้สร้างระบบอภิสิทธิ์ดังกล่าว จะต้องรับมือกับความคาดหวังของฐานเสียงของพันธมิตรฝ่ายค้านที่เป็นคนเชื้อสายจีนและอินเดีย ซึ่งกำลังหมดความอดทนกับระบบอภิสิทธิ์ทางเชื้อชาติ
ข้อสาม การจัดการกับกรณีอื้อฉาว กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ วันเอ็มดีบี ซึ่งนาจิบ ราซัก ถูกกล่าวหาว่ายักยอกเงินจำนวนมหาศาลจากกองทุนดังกล่าว
ในเรื่องนี้ มหาเธร์บอกว่า เขาจะกอบกู้ 'หลักนิติธรรม' และ 'ไม่แก้แค้น'
นักวิเคราะห์บอกว่า รัฐบาลใหม่อาจรื้อฟื้นคดีกองทุนขึ้นมาสอบสวนใหม่ แต่สิ่งสำคัญคือ การสอบสวนต้องดำเนินการอย่างเป็นธรรม และเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้ประเทศเดินหน้า และก้าวผ่านกรณีอื้อฉาวนี้ไปได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: