ไม่พบผลการค้นหา
นายกรัฐมนตรีมาเลเซียยืนยันว่า ตนเองไม่ใช่เผด็จการ พร้อมระบุว่าอาเซียนควรร่วมมือกันในด้านเศรษฐกิจ แต่ไม่ควรกดดันประเทศที่ยังไม่พร้อมจะเป็นประชาธิปไตย

มหาเธร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซียกล่าวว่า อาเซียนไม่จำเป็นต้องเดินตามสหภาพยุโรป เพราะอียูเองก็ยังไม่ใช่แบบอย่างที่ดีในการรวมกลุ่มประเทศนัก จนสหราชอาณาจักรต้องการออกจากการเป็นสมาชิกอียู

อีกทั้งยังระบุว่า อาเซียนควรร่วมมือกันในด้านเศรษฐกิจ แต่ในด้านการเมืองนั้น แต่อาเซียนควรจะเปิดให้รัฐบาลแต่ละประเทศมีเสรีภาพในการเลือกแนวทางของประเทศตนเอง หากประเทศไหนยังไม่พร้อมจะเป็นประชาธิปไตยก็ไม่เป็นไร การเข้าไปกดดันให้เปลี่ยนระบอบการปกครองหรือระบบกฎหมายมีแต่จะสร้างความขัดแย้งกันภายในอาเซียน

มหาเธร์เดินทางมากล่าวสุนทรพจน์เกี่ยวกับความสัมพันธ์มาเลเซีย-ไทยในบริบทอาเซียน ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในทริปเยือนไทยระยะเวลา 2 วัน โดยก่อนหน้านี้ มหาเธร์ได้เดินทางเข้าพบกับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทย เพื่อหารือเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างสองประเทศ รวมถึงการเจรจาสันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ของไทย

มหาเธร์ตอบคำถามจากผู้ร่วมงานเกี่ยวกับความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ว่า เขามองว่า ความไม่สงบที่เกิดขึ้นบริเวณชายแดนไทย-มาเลเซียเกิดจากความรู้สึกว่าเกิดความอยุติธรรมกับพวกเขา ความรู้สึกโกรธเคืองและสิ้นหวังนำไปสู่สิ่งที่หลายคนเรียกว่าเป็นการก่อการร้าย ดังนั้น สำหรับเขาแล้ว ความรุนแรงนี้ไม่ใช่เรื่องศาสนา แต่เป็นเรื่องความอยุติธธรรมมากกว่า

นอกจากนี้ มหาเธร์กล่าวว่า สิ่งที่เขาคิดว่าเป็นการตัดสินใจที่ดีที่สุดในช่วงที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่ผ่านมา คือการเป็นผู้นำที่รับฟังประชาชน เพราะในประเทศประชาธิปไตย การตระหนักว่าประชาชนต้องการอะไร แล้วทำให้สิ่งนั้นสำเร็จให้ได้ เมื่อประชาชนพึงพอใจ พวกเขาก็จะเลือกให้คนนั้นขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศอีก แม้จะมีบางคนกล่าวหาว่าเขาเป็นผู้นำเผด็จการ แต่เขาไม่ใช่เผด็จการ เพราะผู้นำเผด็จการไม่เคยลาออกจากตำแหน่ง

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เขาอยากกลับไปแก้ไขก็คือ ตอนที่เขาเชื่อว่า "ผู้นำฝ่ายการเมืองคนหนึ่ง" ทำผิดกฎหมายจริง และเขายอมให้กระบวนการทางกฎหมายดำเนินไป ซึ่งทำให้บางคนรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ไม่ยุติธรรม จนเกิดความรู้สึกไม่ดีต่อกัน และทำให้มีคนโจมตีเขาจนถึงทุกวันนี้

มหาเธร์ยังคงยืนยันว่าจะไม่ปรับเปลี่ยนนโยบายภูมิบุตร ที่ให้สิทธิพิเศษกับชาวมาเลย์พื้นเมืองมากกว่าเชื้อชาติอื่นอย่างจีนหรืออินเดีย ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ โดยเขาอธิบายว่า คนพื้นเมืองปรับตัวกับการเป็นรัฐเกิดใหม่ได้ดีไม่เท่าผู้อพยพชาวจีนและอินเดีย ทำให้ผู้อพยพที่เข้าไปตั้งรกรากในมาเลเซียร่ำรวยจนเกิดความเหลื่อมล้ำ นโยบายภูมิบุตรจึงจำเป็นสำหรับการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

คำถามเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ ถือเป็นหนึ่งในคำถามที่ผู้เข้าร่วมงานให้ความสนใจมากที่สุด ซึ่งมหาเธร์ยอมรับว่ามาเลเซียไม่สามารถโดดเดี่ยวจากโลกภายนอกได้ แต่เขาก็มองว่า ตะวันตกมักคิดว่าค่านิยมของตะวันตกเป็นค่านิยมที่แท้จริง ทั้งที่ประเทศตะวันออก รวมถึงมาเลเซีย ก็มีค่านิยมของตัวเอง ไม่จำเป็นต้องตามตะวันตกตลอดเวลา ซึ่งตะวันตกก็ควร "ให้เสรีภาพ" กับค่านิยมของมาเลเซียด้วย หากตะวันตกจะยอมรับกลุ่ม LGBTQ ยอมรับการสร้างครอบครัวของผู้ชาย 2 คน หรือผู้หญิง 2 คนก็ทำได้ แต่ "อย่าบังคับคนอื่น"

ในฐานะที่ประเทศไทยกำลังจะเป็นประธานอาเซียนในปี 2019 ที่จะถึงนี้ มหาเธร์คาดหวังว่า อาเซียนจะให้ความสำคัญกับการผลิตสินค้าและใช้สินค้าที่ผลิตในอาเซียนกันเองแทนการนำเข้าสินค้าจากภูมิภาคอื่นๆ เพื่อให้อาเซียนลดการพึ่งพาญี่ปุ่น จีน และประเทศอื่นๆ และสร้างเศรษฐกิจอาเซียนให้ใหญ่ขึ้น โดยเขายกตัวอย่างว่า ญี่ปุ่นพยายามผลิตสินค้าและเทคโนโลยีด้วยตัวเอง เพื่อลดการนำเข้าสินค้า และยังส่งสินค้าขายประเทศสินค้าได้ด้วย

ขณะเดียวกัน มหาเธร์กล่าวว่า อาเซียนควรพัฒนาความรู้และทักษะ รวมถึงลงทุนกับการวิจัยให้มากขึ้น เพื่อที่จะได้ค้นพบสิ่งใหม่ๆ หรือสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ได้ ประชาชนควรต้องได้รับการพัฒนาทักษะเทคโนโลยี เข้าใจเกี่ยวกับการเขียนโค้ด และระบบปัญญาประดิษฐ์ เพื่อปรับตัวกับโลกที่มีการนำหุ่นยนต์เข้ามาทำงานแทนมนุษย์มากขึ้น

นอกจากนี้ มหาเธร์ยังกล่าวว่า ความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างไทยและมาเลเซียก็เป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะอาเซียนต้องการมหาวิทยาลัย ต้องการงานวิจัยมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา หากวิจัยเพิ่มขึ้นก็จะช่วยพัฒนาประเทศได้อีกมาก แต่มหาวิทยาลัยต้องใช้ภาษาเดียวกัน โดยสถานศึกษาส่วนใหญ่ในมาเลเซียสอนเป็นภาษาอังกฤษ ทำให้ชาวมาเลเซียเลือกจะไปประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษ โดยเฉพาะสาขาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ที่มีการตีพิมพ์งานวิจัยในภาษาอังกฤษ ดังนั้น หากจะมีความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างไทยและมาเลเซีย ก็ต้องคิดถึงเรื่องภาษาด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: