ไม่พบผลการค้นหา
นักวิจัยชี้ ผู้หญิงตั้งครรภ์ในรัฐแคลิฟอร์เนียหันมาสูบกัญชามากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มมิลเลนเนียลอายุระหว่าง 18-24 ปี

ผลการศึกษาแนวโน้มกัญชาตลอด 7 ปี ของเคลลี ยัง-วูล์ฟ (Kelly Young-Wolff) นักจิตวิทยาคลินิก ซึ่งเผยแพร่อยู่ในวารสารของสมาคมการแพทย์อเมริกัน (Journal of the American Medical Association – JAMA) ระบุว่า อัตราการใช้กัญชาของผู้หญิงกลุ่มมิลเลนเนียลที่กำลังตั้งครรภ์ในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ เพิ่มสูงขึ้นจาก 4.2 เปอร์เซ็นต์ เป็น 7.1 เปอร์เซ็นต์ โดยนักวิจัยเก็บข้อมูลจากกลุ่มสตรีมีครรภ์อายุ 12 ขึ้นไป จำนวน 279,457 ราย ผ่านระบบดูแลสุขภาพขององค์กรทางการแพทย์ ไกเซอร์ เปอร์มาเนนต์ (Kaiser Permanente) ระหว่างปี 2009-2016 และข้อมูลสำคัญคือ 

• กลุ่มผู้หญิงตั้งครรภ์อายุต่ำกว่า 18 ปี ใช้กัญชาเพิ่มขึ้นจาก 12.5 เปอร์เซ็นต์เป็นเกือบ 22 เปอร์เซ็นต์

• กลุ่มผู้หญิงตั้งครรภ์อายุ 18-24 ปี ใช้กัญชาเพิ่มขึ้นจาก 9.8 เปอร์เซ็นต์เป็น 19 เปอร์เซ็นต์

• กลุ่มผู้หญิงตั้งครรภ์อายุ 25-34 ปี ใช้กัญชาเพิ่มขึ้นจาก 3 เปอร์เซ็นต์เป็น 5 เปอร์เซ็นต์

• กลุ่มผู้หญิงตั้งครรภ์อายุมากกว่า 34 ปี ใช้กัญชาเพิ่มขึ้นจาก 2 เปอร์เซ็นต์เป็น 3 เปอร์เซ็นต์

นั่นหมายความว่า อัตราการใช้กัญชาในกลุ่มผู้หญิงตั้งครรภ์กำลังเพิ่มมากขึ้นทุกช่วงอายุ โดยนักวิจัยตั้งข้อสังเกตว่า ผู้หญิงบางคนอาจใช้กัญชามาก่อนตั้งครรภ์ เนื่องจากสารประกอบของกัญชาสามารถคงอยู่ในร่างกายได้นาน 30 วัน ทำให้นอกเหนือจากแบบสอบถามเกี่ยวกับการใช้กัญชาแล้ว ผู้หญิงทุกคนต้องผ่านการตรวจปัสสาวะตอนอายุครรภ์ครบแปดสัปดาห์ และทดสอบพิษวิทยากัญชาก่อนคลอดลูก 

คำถามที่ตามมาคือ เมื่อกัญชากลายเป็นสิ่งถูกกฎหมายในรัฐแคลิฟอร์เนีย ส่งผลให้การใช้กัญชาในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์เพิ่มขึ้นหรือเปล่า แน่นอนว่า เมื่อผู้หญิงทุกคนตั้งครรภ์ก็ควรหลีกเลี่ยงสารพิษ และกิจกรรมที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยทั่วไปคือ การดื่มแอลกอฮอร์ หรือสูบบุหรี่ แต่กรณีกัญชาทุกคนต่างพูดเหมือนกันหมดว่า ยังไม่มีข้อมูลผลกระทบด้านลบต่อการพัฒนาทารกในครรภ์ หรือเด็กเล็ก

ความจริงแล้ว สารประกอบทางธรรมชาติที่พบในกัญชามีมากมายหลายชนิด ซึ่งแต่ละชนิดส่งผลกระทบต่อร่างการแตกต่างกันไป ตัวอย่างเช่น เตตร้าไฮโดรแคนนาบินอล (Tetrahydrocannabinol – THC) ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท แต่แคนนาบิไดออล (Cannabidiol – CBD) เป็นสารประกอบมีศักยภาพในการรักษาโรคลมชัก อัลไซเมอร์ และลดอาการคลื่นไส้ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีผลการวิจัยรับรองแน่ชัดว่า สารประกอบของกัญชาสามารถแซกซึมผ่านทางสายสะดือ และเข้าไปทำร้ายทารกในครรภ์หรือไม่ แต่จากตัวอย่างการศึกษาในปี 1987 ซึ่งทำกับลิงวอกแสดงให้เห็นว่า สารทีเอชซีไม่สามารถส่งผ่านทางสายสะดือที่เชื่อมระหว่างแม่กับลูก

และจากอัตราการใช้กัญชาที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้สถาบันยาเสพติดแห่งชาติของสหรัฐฯ (National Institute on Drug Abuse – NIDA) จำเป็นต้องเร่งทำการวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบของการใช้กัญชากับทารกกำลังพัฒนา นอกจากนั้น สภาสูตนรีแพทย์แห่งอเมริกา (American Congress of Obstetricians and Gynecologists – ACOG) ยังออกมาต่อต้านการใช้กัญชาระหว่างตั้งครรภ์ โดยให้เหตุผลว่า 

• การศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่า ความเสี่ยงในการแท้งเพิ่มขึ้นหากใช้กัญชาระหว่างตั้งครรภ์

• การวิจัยแสดงให้เห็นว่า การใช้กัญชาระหว่างตั้งครรภ์เชื่อมโยงกับพัฒนาการของเด็กในอนาคต

• การใช้กัญชาต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ส่งผลให้ความเสี่ยงในการคลอดก่อนกำหนดเพิ่มมากขึ้น 2.3 เท่า

• การศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่า เมื่อตัวมารดามีสารประกอบของกัญชาสะสมในร่างกายระดับปานกลาง อาจนำไปสู่ผลกระทบอันยาวนานต่อ เด็ก เช่น ความเครียดเพิ่มสูงขึ้น และรูปแบบการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมผิดปกติ