นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร ชี้แจงถึงคำวิจารณ์เกี่ยวกับมาตรการช็อปช่วยชาติว่าเป็นการช่วยนายทุนเจ้าของห้างสรรพสินค้ามากกว่าช่วยประชาชนฯ นั้น ว่า กระทรวงการคลังมีนโยบายในการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากควบคู่กับการพัฒนาทุนมนุษย์ เพื่อให้เศรษฐกิจและสังคมของประเทศมีพื้นฐานที่เข้มแข็ง จึงได้ออกมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการซื้อสินค้าที่สามารถช่วยกระจายรายได้ไปยังเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบจากราคาผลผลิตตกต่ำและชุมชนท้องถิ่นทั่วประเทศ ตลอดจนช่วยเพิ่มองค์ความรู้ของประชาชน
โดยมาตรการภาษีดังกล่าวมีหลักการเป็นการกำหนดให้ผู้มีเงินได้ที่เป็นบุคคลธรรมดาสามารถนำค่าซื้อสินค้าไปหักลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาท โดยต้องซื้อสินค้าระหว่างวันที่ 15 ธ.ค. 2561 ถึงวันที่ 16 ม.ค. 2562 ซึ่งในกรณีผู้มีเงินได้จ่ายค่าซื้อสินค้าในช่วงดังกล่าวทั้ง 2 ปีภาษีจะได้รับลดหย่อนตามที่จ่ายจริงในแต่ละปีภาษี แต่รวมกัน 2 ปีภาษีแล้วต้องไม่เกิน 15,000 บาท
สำหรับค่าซื้อสินค้าที่สามารถนำมาหักลดหย่อนมี 3 ประเภท คือประเภทยางล้อรถยนต์ ยางล้อรถจักรยานยนต์ และยางล้อรถจักรยานที่ซื้อจากผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งเป็นผู้ผลิตหรือตัวแทนจำหน่ายและได้ซื้อยางล้อดังกล่าวจากผู้ผลิตที่ซื้อวัตถุดิบยางจากการยางแห่งประเทศไทย อันเป็นวัตถุดิบยางที่การยางแห่งประเทศไทยรวบรวมหรือรับซื้อจากสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง
ประเภทหนังสือ รวมถึงหนังสือที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Book) แต่ไม่รวมถึงนิตยสารและหนังสือพิมพ์ โดยต้องซื้อจากผู้ประกอบการที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วน นิติบุคคลและต้องมีหลักฐานการซื้อสินค้าเป็นใบเสร็จรับเงินหรือใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป
และประเภทสินค้าจากโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ที่ได้ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชน โดยต้องมีหลักฐานการซื้อสินค้าเป็นใบเสร็จรับเงินหรือใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปและต้องระบุว่าเป็นรายการซื้อสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP)
โดยนายเอกนิติ กล่าวอีกว่า มาตรการภาษีนี้จะส่งผลดีโดยตรงต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยจะช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางและชุมชนท้องถิ่น ก่อให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมทั้งยกระดับคุณภาพทุนมนุษย์ผ่านการอ่านหนังสือ อันสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแนวทางการปฏิรูปประเทศ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง