ไม่พบผลการค้นหา
พบหนอนพยาธิหลายสิบตัวในตาของหญิงชาวอเมริกันรายหนึ่ง ซึ่งผู้เชี่ยวชาญระบุว่าเป็นหนอนพยาธิในตาวัวที่พบในคนเป็นครั้งแรก แต่ยืนยันกรณีแบบนี้เกิดขึ้นยากมาก ไม่ใช่วิกฤตการแพทย์

แอ็บบี เบ็คลีย์ อาศัยอยู่ในมลรัฐอลาสกาของสหรัฐฯ และมีงานอดิเรกคือตกปลาแซลมอน แต่สิ่งที่ทำให้เธอกลายเป็นข่าวไปทั่วโลก คือเหตุการณ์เมื่อปี 2559 ซึ่งเธอเป็นผู้ป่วยคนแรกที่มีหนอนพยาธิสายพันธุ์ Thelazia Gulosis ขึ้นตา และหนอนพยาธิดังกล่าวเคยพบในตาวัวเท่านั้น ส่วนผู้ป่วยรายอื่นที่มีหนอนพยาธิขึ้นตาที่เคยพบในแถบเอเชีย รวมถึงไทย เป็นหนอนพยาธิสายพันธุ์ Thelazia Callipaeda ซึ่งพบมากในสุนัขและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมบางชนิด

อาการของเบ็คลีย์เริ่มจากระคายเคืองบริเวณเปลือกตาบน ทำให้ตาแดง และรู้สึกคันยิบได้เปลือกตา เมื่อมีอาการดังกล่าวหลายวัน ทำให้เบ็คลีย์เปิดเปลือกตาบนของตัวเองดู และพบว่ามีหนอนอยู่ใต้เปลือกตาจำนวนหนึ่ง

เบ็คลีย์ตัดสินใจไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลสุขภาพและวิทยาศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยโอเรกอน (OHSU) เมืองพอร์ตแลนด์ ของสหรัฐฯ และจักษุแพทย์ที่รับผิดชอบดูแลเธอตั้งใช้เวลานานเกือบครึ่งชั่วโมงกว่าจะเห็นหนอนพยาธิออกจากใต้เปลือกตา เพราะตอนแรกแพทย์ไม่แน่ใจว่ามีหนอนพยาธิในตาของเบ็คลีย์จริง เนื่องจากครั้งสุดท้ายที่เคยพบหนอนพยาธิขึ้นตาคนในสหรัฐฯ ย้อนหลังกลับไปนานกว่า 20 ปี จึงต้องส่งหนอนพยาธิที่พบไปที่หน่วยปรสิตวิทยาของศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคแห่งชาติ (CDC) เพื่อให้วินิจฉัย ว่าหนอนพยาธิดังกล่าวชอนไชขึ้นไปยังสมองหรือส่วนอื่นๆ ของร่างกายได้หรือไม่

ริชาร์ด แบรดบิวรี ผู้เชี่ยวชาญด้านปรสิตของ CDC เปิดเผยกับเนชั่นแนลจีโอกราฟิกว่า กรณีของเบ็คลีย์นั้น ถือเป็นการพบหนอนพยาธิสายพันธุ์เทลาเซียกูโลซิสในตาคนเป็นครั้งแรกของโลก  

AP18043845681253.jpg

(หนอนพยาธิสายพันธุ์ Thelazia Gulosis มีแมลงตอมหน้าเป็นพาหะ)

ขณะที่เอริน โบนูรา จักษุแพทย์ของโรงพยาบาล OHSU ระบุว่า โชคดีที่พยาธิดังกล่าวไม่เคลื่อนไปไกลจากอวัยวะที่พบ โดยหนอนพยาธิอยู่ใต้เปลือกตาของเบ็คลีย์ และไม่ได้เข้าไปถึงลูกนัยน์ตา การรักษาอาการหนอนพยาธิในตาของเบ็คลีย์จึงเป็นการให้ยาปฏิชีวนะแก้อักเสบและระคายเคืองตา ควบคู่ไปกับการดึงหนอนออกจากตาจนหมด ซึ่งต้องใช้เวลานานเกือบเดือน แต่ถ้าหากว่าหนอนพยาธิเข้าไปถึงลูกนัยน์ตา ก็อาจทำให้ตาบอดได้ 

การค้นพบและการรักษาหนอนพยาธิในตาของเบ็คลีย์ได้รับการเปิดเผยผ่านวารสารทางการแพทย์ของสหรัฐฯ ครั้งแรกในวันที่ 12 ก.พ. ที่ผ่านมา ทำให้สื่อหลายสำนักรายงานข่าวด้วยความสนใจจน 

โดยเว็บไซต์ Allure รายงานคำให้สัมภาษณ์ของ เคิร์ก แพ็คโค ผู้อำนวยการศูนย์จักษุวิทยาของมหาวิทยาลัยรัชในนครชิคาโก เมื่อวานนี้ (14 ก.พ.) ระบุว่า พาหะของหนอนพยาธิที่พบในตาของเบ็คลีย์คือแมลงตอมหน้า (Face Fly) ซึ่งมักจะตอมน้ำตา หรือกินน้ำหล่อลื่นในตาของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ทำให้พบหนอนพยาธิในตามนุษย์น้อยกว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่นๆ เพราะโดยปกติ มนุษย์จะไม่ปล่อยให้แมลงตอมตานานๆ 

กรณีของเบ็คลีย์ แมลงอาจตอมตาในช่วงที่เธอตั้งสมาธิกับการตกปลา หรือมีความเป็นไปได้ว่าหนอนพยาธิจากแมลงติดไปกับสิ่งต่างๆ ที่เบ็คลีย์ใช้มือสัมผัส ก่อนที่จะใช้มือขยี้ตาหรือสัมผัสที่ตาโดยตรง แต่แพ็คโคยืนยันว่า กรณีเช่นนี้เกิดขึ้นน้อยมาก และสามารถป้องกันได้ด้วยการล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนที่จะสัมผัสตาหรือบาดแผลอื่นๆ บนร่างกาย ทั้งยังย้ำด้วยว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ถือเป็นวิกฤตทางการแพทย์ และไม่จำเป็นต้องตื่นตระหนกจนเกินเหตุ

ส่วนในประเทศไทย มีการบันทึกกรณีพบผู้ป่วยหนอนพยาธิขึ้นตาเอาไว้อย่างน้อยหนึ่งราย โดย พญ. นงเยาว์ รุ่งพิบูลย์โสภิษฐ์ เป็นผู้เผยแพร่รายงานในวารสารโรงพยาบาลกำแพงเพชร โดยระบุว่าผู้ป่วยที่เคยพบเป็นชายอายุ 46 ปีที่อาศัยในจังหวัดกำแพงเพชรเมื่อปี 2550 

ผู้ป่วยขอพบแพทย์ด้วยอาการตาขวามัว ทั้งยังเคยมีประวัติกระจกตาและเยื่อบุตาอักเสบ เมื่อมาพบแพทย์อีกครั้งโดยระบุว่าตามัวมากขึ้น ทำให้แพทย์สั่งตรวจเพิ่มเติม และพบพยาธิสีขาวคล้ายเส้นด้ายเคลื่อนไหวอยู่ในตา โดยแพทย์วินิจฉัยว่า เป็นหนอนพยาธิ Thelazia Callipaeda ซึ่งแสดงอาการในมนุษย์ราว 250 รายทั่วโลก

กรณีของผู้ป่วยรายดังกล่าวที่ จ.กำแพงเพชร แพทย์ได้ฉีดยาชาและผ่าตัดเอาพยาธิออก ทั้งยังติดตามอาการผู้ป่วยหลังผ่าตัดในระยะ 7 วัน และ 1 เดือน จนพบว่าระดับการมองเห็นของผู้ป่วยกลับสู่ภาวะปกติ

ที่มา: National Geographic/ Allure/ CNN/ วารสารโรงพยาบาลกำแพงเพชร