ไม่พบผลการค้นหา
สทนช. ประกาศเตือนรับมือผลกระทบจากพายุโซนร้อนเบบินคาช่วงสัปดาห์นี้ พร้อมเร่งพร่องน้ำเพื่อรองรับปริมาณน้ำที่เพิ่ม ด้านกรมอุตุฯ เตือนพายุดังกล่าวทำให้ภาคเหนือและภาคอีสานของไทยมีฝนตกชุกหนาแน่น ให้ระวังอันตรายจากน้ำท่วมฉับพลัน

นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติ กล่าวว่า ศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติ ได้ออกประกาศสถานการณ์น้ำ ฉบับที่ 5 เรื่อง 'พายุโซนร้อนเบบินคา' ที่จะทำให้เกิดฝนตกชุกหนาแน่นและฝนตกหนักถึงหนักมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้��ัดปกคลุมภาคใต้ อ่าวไทย และภาคตะวันออกมีกำลังแรงขึ้น ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และดินโคลนถล่มได้ ระหว่างวันที่ 14-19 ส.ค. 2561 

ทั้งนี้ เนื่องจากอ่างเก็บน้ำในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลาง ด้านตะวันตก ทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก หลายแห่งมีปริมาณน้ำในอ่างมากกว่าร้อยละ 80 ของความจุและเต็มอ่าง โดยเฉพาะเขื่อนวชิรลงกรณ เขื่อนน้ำอูน เขื่อนขุนด่านปราการชล เขื่อนคิรีธาร 76 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนแก่งกระจาน อาจส่งผลกระทบให้น้ำไหลล้นข้ามทางระบายน้ำล้นของเขื่อน ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายน้ำ จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง ทั้งนี้ ให้เร่งพร่องน้ำเพื่อรองรับปริมาณน้ำที่เพิ่ม ซึ่งทำให้มีผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำน้อยที่สุด ควบคู่กับตรวจสอบความมั่นคงของอาคาร และประกาศแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบให้รับทราบ

ด้านกรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศเตือนฉบับที่ 15 เรื่อง "พายุโซนร้อนเบบินคา" ว่า เมื่อเวลา 04.00 น. ของวันนี้ (15 ส.ค. 2561) พายุโซนร้อน “เบบินคา” (BEBINCA) บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน มีศูนย์กลางอยู่ห่างประมาณ 200 กิโลเมตร ทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะไหหลำ ประเทศจีน หรือที่ละติจูด 21.1 องศาเหนือ ลองจิจูด 112.5 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 65 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกอย่างช้าๆ คาดว่าจะเคลื่อนเข้าปกคลุมประเทศเวียดนามตอนบน และประเทศลาว ในช่วงวันที่ 16-17 ส.ค. 2561 โดยจะทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ ยังคงมีฝนตกชุกหนาแน่นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ขอให้ประชาชนระวังผลกระทบจากฝนตกหนักและฝนตกสะสม ที่ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง รวมถึงดินโคลนถล่มไว้ด้วย

สำหรับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย มีกำลังแรง ทำให้ทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 2-4 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 4 เมตร และอ่าวไทยตอนบนคลื่นสูง 2-3 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่งตลอดช่วง ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งภาคตะวันออกและภาคใต้ฝั่งตะวันตกให้ระวังอันตรายจากคลื่นลมแรงที่พัดเข้าหาฝั่งไว้ด้วย จึงขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด