ไม่พบผลการค้นหา
ที่ประชุมบอร์ด สปสช. เห็นชอบสิทธิประโยชน์ใหม่ 6 รายการ ค้นหาการกลายพันธ์ยีนมะเร็งเต้านม - ให้ยา PEP ประชาชนป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี - คัดกรองผู้ป่วยโรคพันธุกรรมเมตาบอลิก – คัดกรองรอยโรคเสี่ยงมะเร็งช่องปาก – ใส่รากฟันเทียมสำหรับผู้ที่ไม่มีฟันทั้งปาก - ขยายข้อบ่งชี้ยา IVIG ให้ผู้ป่วยโควิด-19

ที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ครั้งที่ 13/2564 เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2564 ซึ่งมี อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) จำนวน 6 รายการ โดย 5 รายการแรก จะเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 โดยใช้งบเหลือจ่ายปี 2564 ที่ไม่มีภาระผูกพัน จำนวน 238.59 ล้านบาท ในการจ่ายชดเชยบริการ ส่วนอีก 1 รายการ ใช้งบจาก พ.ร.ก.กู้เงินฯ ปีงบประมาณ 2565 มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา

รศ.พญ.ประสบศรี อึ้งถาวร ประธานคณะอนุกรรมการกำหนดประเภทและขอบเขตในการให้บริการสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า สำหรับรายการสิทธิประโยชน์ทั้ง 6 รายการ เป็นการดำเนินการเพื่อดูแลประชาชนให้สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขและการรักษาที่จำเป็นเพิ่มขึ้น ประกอบด้วย

1. การตรวจยีน BRCA1 BRCA2 ในผู้ป่วยมะเร็งเต้านม มีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจคัดกรองและค้นหาการกลายพันธ์ของยีนโรคมะเร็งเต้านม ให้พบในระยะเริ่มต้นและได้รับการรักษาเร็ว ซึ่งจะมีความคุ้มค่ากับกลุ่มผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูง และประหยัดต้นทุนค่ารักษาในกลุ่มที่มีประวัติครอบครัวตรวจพบยีนกลายพันธุ์ 

2. การป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีหลังการสัมผัสเชื้อ (HIV PEP) โดยให้ประชาชนทุกคนได้รับยาต้านไวรัสเอชไอวีหลังสัมผัสเชื้อ (PEP) เพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งมีผลการศึกษาของต่างประเทศที่พบว่ามีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ มีความคุ้มทุน โดยจะให้บริการครอบคลุมประชาชนไทยทุกคน ไม่จำกัดจำนวนครั้งการให้บริการ ซึ่งคิดเป็นภาระงบประมาณจากค่ายาสูตรแนะนำ TDF/3TC/DTG และค่าตรวจทางห้องปฏิบัติการ โดยเฉลี่ย 1,594 บาทต่อราย

3. การตรวจคัดกรองผู้ป่วยโรคพันธุกรรมเมตาบอลิกด้วยเครื่อง Tandem mass spectrometry ซึ่งจะเป็นการขยายการตรวจคัดกรองทารกแรกเกิดโรคทางพันธุกรรมเมตาบอลิก เพื่อเข้าสู่การรักษาโรคหายากได้อย่างรวดเร็วและช่วยชีวิตเด็กได้ ซึ่งการรักษาโรคพันธุกรรมเมตาบอลิกก่อนมีอาการแสดง จะช่วยประหยัดต้นทุนค่ารักษา (cost-saving) และในปัจจุบันการคัดกรองเป็นวิธีการเดียวที่มีความแม่นยำในการระบุตัวผู้ป่วยเพื่อให้การรักษาก่อนมีอาการ โดยคิดเป็นภาระงบประมาณจากค่าตรวจคัดกรอง 500 บาทต่อราย

4. การคัดกรองรอยโรคเสี่ยงมะเร็งและมะเร็งช่องปาก (CA Oral Screening) มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มการค้นหาผู้มีรอยโรคเสี่ยงมะเร็งช่องปากรายใหม่ เข้าสู่การรักษาได้เร็วขึ้น โดยจะให้บริการคัดกรองสำหรับประชาชนไทย อายุ 40 ปีขึ้นไป ทุกสิทธิการรักษา คิดเป็นภาระงบประมาณจากค่าบริการตรวจชิ้นเนื้อ (Biopsy) 600 บาท จากผู้เข้ารับการคัดกรองรอยโรคจำนวน 2% ที่จะต้องได้รับการตรวจชิ้นเนื้อ

5. การผ่าตัดใส่รากฟันเทียมสำหรับผู้ที่ไม่มีฟันทั้งปาก มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตสำหรับผู้ที่ไม่มีฟันทั้งปาก โดยให้บริการผู้ป่วยสิทธิบัตรทองที่ไม่มีฟันทั้งปากและมีข้อบ่งชี้การใส่รากฟันเทียม ด้วยบริการผ่าตัดใส่รากฟันเทียมและการบำรุงรักษา ซึ่งคิดเป็นภาระงบประมาณจากค่าผ่าตัด ค่ารากฟันเทียม และค่าบำรุงรักษา รวม 24,200 บาทต่อราย

6. การขยายข้อบ่งชี้การใช้ยา Human normal immunoglobulin, intravenous (IVIG) ซึ่งจะขยายให้สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ได้แก่ กลุ่มอาการอักเสบหลายระบบ (Multisystem Inflammatory Syndrome in Children; MIS-C) ในเด็กที่ติดเชื้อโควิด-19 กับผู้ป่วยภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ (Myocarditis / Pericarditis) ที่เกิดหลังการได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ชนิด mRNA ซึ่งคิดเป็นภาระงบประมาณจากค่ายา IVIG เฉลี่ย 50,000 และ 100,000 บาทต่อราย