ไม่พบผลการค้นหา
'ชัชชาติ' ชี้เมืองความแข็งแกร่งของเมืองต้องดูที่คุณภาพชีวิต และความแข็งแกร่งของผู้คน ย้ำเมืองแข็งแกร่งยังสร้างได้ ผู้บริหารต้องเปลี่ยนมุมมองเห็นประชาชนเป็นทุน ไม่ใช่ภาระ เปิดพื้นที่ เปิดโอกาสให้ผู้คนได้ออกแบบ และกำหนดชีวิตของเขาเอง

วานนี้ (19 ธ.ค.) ที่มิวเซียมสยาม มีกิจกรรม Museum Talk โดยในช่วงสุดท้ายของงาน รศ.ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ได้ขึ้นนำเสนอความเห็นในเรื่อง 'กรุงเทพฯ แข็งแกร่ง: ความแข็งแรงของเมืองที่สร้างได้'

ชัชชาติ เริ่มต้นด้วยการฉายภาพสถานีรถไฟหัวลำโพงในมุมสูง ซึ่งเป็นภาพที่ออกแบบจำลองจากสถานที่จริง แน่นอนภาพดังกล่าวดูสะอาดตา แต่เมื่อเขาเปิดภาพถัดไปที่เป็นภาพจริงในมุมระนาบในระดับกลับพบว่ามีคนไร้บ้านจำนวนมากนอนเรียงรายอยู่บนเกาะกลางถนน เขาชี้ว่าภาพล่าสุดนี้ต่างหากที่อธิบายความเข้มแข็งของเมืองได้

“ความเข้มแข็งของเมืองไม่ได้มองจากตึก ไม่ได้มองในระดับ macro แต่ต้องมองในระดับ micro เพราะมันคือชีวิตของคนที่อยู่ในเมือง เหมือนที่ วิลเลี่ยม เชคสเปียร์ เขียนไว้ในบทละครเมื่อ 410 ปีที่แล้ว What is the city but the people? เมืองไม่มีความหมายเลยถ้าไม่มีคน เมืองไม่มีทางแข็งแกร่งเลยถ้าคนอ่อนแอ เมืองต่อให้เทพสร้าง ถ้าคนไม่แฮปปี้ก็ไม่มีประโยชน์”

เขากล่าวต่อไปว่า ถ้าจะสร้างความแข็งแกร่งของเมืองต้องเริ่มจากการสร้างความแข็งแกร่งให้กับคนที่เป็นหน่วยย่อยที่สุด ชัชชาติเล่าต่อไปถึงประสบการณ์ที่ได้ฟังการให้สัมภาษณ์ของ Vivian Balakrishnan รัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศสิงคโปร์ เมื่อเดือนมีนาคม ปีก่อน ในช่อง CNBC ครั้งนั้น Vivian ได้พูดถึงสถานการณ์โควิดว่าเป็นบททดสอบ 3 อย่างของทุกประเทศคือ 1.ระบบสาธารณสุข (Healthcare) 2.การปกครองของรัฐบาล (Standard of governance) และ 3.ทุนทางสังคม (Social Capital) 

ชัชชาติ ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของทุนทางสังคม โดยระบุว่าคือ การที่ผู้คนหลากหลายส่วนมารวมกัน เริ่มต้นจากทุนมนุษย์ที่มีความรู้ความสามารถที่หลากหลาย มีค่านิยมรวมกัน มีความต้องการประชาธิปไตยเหมือนกัน ต้องการความเท่าเทียมกัน ต้องการมีส่วนร่วม ก่อตัวเป็นเครือข่าย มีความไว้วางใจ ความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่ง และมีวัฒนธรรมประเพณีร่วมกัน ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่มีค่า และเป็นสิ่งที่ทำให้เมืองเข้มแข็งขึ้น 

“ในทางการเงินเรามองทรัพย์สินว่าเป็น หนี้สิน + ทุน แต่รัฐของเราบางทีชอบมองคนว่าเป็น หนี้สิน มองเป็นภาระ ไม่เคยจะเอาเราเข้าไปช่วยแก้ปัญหา กลับมองเป็นภาระว่าต้องคอยให้เงิน มองเหมือนพ่อมองลูก ปกครองกันแบบพ่อลูก แต่จริงๆ แล้ว การจะสร้างความเข้มแข็งได้ต้องมองคน มองประชาชนเป็นทุน และเป็นสิ่งที่สามารถนำออกมาช่วยแก้ปัญหา”

เขาย้ำว่า การจะไปสู่จุดที่สร้างความแข็งแกร่งให้กับเมือง สิ่งที่จำเป็นที่สุดคือการ มอบอำนาจให้กับประชาชน ให้ประชาชนมีอำนาจในการตัดสินใจชีวิตตัวเอง ที่ผ่านมารัฐบาลมักมองปัญหาของเมืองทุกอย่างว่า สามารถจัดการได้เองทั้งหมด เปรียบเหมือนกีฬายกน้ำหนัก แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถจัดการปัญหาได้ เพราะปัญหาของเมืองค่อนข้างหนัก แต่จริงๆ แล้วสิ่งที่ควรจะทำไม่ใช่การยกน้ำหนัก แต่ต้องใช้กระบวนท่าแบบกีฬา ยูโด คือต้องอาศัยแรงเหวี่ยง และเสน่ห์ของกีฬาชนิดนี้คือ คนตัวเล็กสามารถทุ่มคนตัวใหญ่ได้ เพียงอาศัยจังหวะที่เหมาะสม

ชัชชาติ3.jpg

ชัชชาติชี้ว่า การมองประชาชนให้เป็นทุนต่างหากที่จะช่วยสร้างความเข้มแข็งได้ ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมา เราต่างได้เห็นการเข้ามาช่วยเห็นกันเองของประชาชน และเอกชน ไม่ว่าจะเป็นการทำงานของ เพจอีจัน มูลนิธิกระจกเงา มูลนิธิดวงประทีบ กลุ่มเส้นด้าย ชมรมแพทย์ชนบท โดยกลุ่มต่างๆ เหล่านี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับรัฐบาล ไม่ได้ใช้เงินหลวง แต่สามารถช่วยชีวิตคนได้เป็นหมื่นๆ คน

เขากล่าวต่อไปว่า ความไว้วางใจซึ่งกันและกัน เป็นสิ่งที่สำคัญของทุนทางสังคม แต่ตัวอย่างที่เห็นในช่วงที่ผ่านมาคือ รัฐไม่เคยไว้วางใจประชาชนของตัวเอง รัฐยังคงมีลักษณะรวมศูนย์อำนาจผูกขาดทุกอย่างไว้ที่ศูนย์กลาง แต่หัวใจที่จะทำให้เมืองเข็มแข็งแท้จริงแล้วคือ การกระจายอำนาจ 

“ที่คลองเตยมีชุมชนริมทางรถไฟสายท่าเรือ คลองเตยมีอยู่ 40 ชุมชนย่อย มีคนอยู่ประมาณแสนคน ตอนโควิดระบาดครั้งล่าสุดชุมชนนี้หนักมาก มีผู้ป่วยเยอะมากในชุมชน สุดท้ายเมื่อเขาไม่ไหวเข้าก็ต้องช่วยเหลือกันเอง ด้วยการย้ายกันมานอนใต้ทางด่วน กันผู้ป่วยออกมาเพราะไม่อยากให้ติดเด็ก ปรากฎว่ารัฐไปบอกเขาว่า ผิดกฎหมายทำไม่ได้ ไม่ใช่โรงพยาบาลสนาม คนป่วยมาอยู่ไม่ได้ ไม่ให้ตั้ง นี่คือตัวอย่างของการรวบอำนาจไว้ที่ตัวเอง แทนที่จะกระจายอำนาจให้กับประชาชน”

ชัชชาติ ยกตัวอย่างของการรวบอำนาจต่อไปโดยยกกรณีการสั่งห้ามซื้อชุดตรวจ Rapid Test มาใช้เองเมื่อวันที่ 5 ม.ค. 64 ช่วงเวลานั้นจะต้องไปรอคิวตรวจกันที่โรงพยาบาลทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเชื้อมากขึ้น และผู้ป่วยบางคนที่รอคิวตรวจก็เสียชีวิตจากโควิด-19 เพราะไม่สามารถเข้าถึงการตรวจ และการรักษาได้ทัน แต่เมื่อรัฐยอมให้ประชาชนสามารถซื้อชุดตรวจมาตรวจเองที่บ้านได้เมื่อวันที่ 11 ก.ค. 64 ก็พบว่าจำนวนตัวเลขการติดเชื้อค่อยลดลงลง นั่นเป็นเพราะประชาชนสามารถตรวจเช็คตัวเองได้ จนสามารถลดการแพร่ระบาดได้  

เขากล่าวต่อไปถึงกรณีการห้าม อปท. จัดซื้อวัคซีนมาฉีดให้ประชาชนในพื้นที่ แต่ถึงที่สุดก็ยอมให้จัดซื้อเองได้ รวมทั้งกรณีการห้ามรักษาตัวอยู่ที่บ้าน จนกระทั่งไม่มีเตียงรองรับผู้ป่วยได้ทั้งหมดจึงมาจะลำดับความเสี่ยงของผู้ป่วย และให้กลุ่มความเสี่ยงน้อยสามารถรักษาตัวที่บ้านได้ 

ชัชชาติ เล่าถึงประสบการณ์ที่ได้เข้าไปดูการทำงานของกลุ่ม คลองเตยดีจัง พร้อมพูดถึง ครูแอ๋ม ศิริพร พรมวงศ์ ครูอาสาซึ่งทำหน้าที่สอนดนตรีให้เด็กในคลองเตยมากว่า 8 ปี เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ครูแอ๋ม ทนไม่ไหวจึงรวบรวมเด็กในชุมชนให้เข้ามาช่วยเหลือดูแลผู้ป่วยโควิด มีการประชุมกันผ่านระบบออนไลน์เพื่อออกแบบร่วมกันว่าจะช่วยเหลือผู้ป่วยในชุมชนที่มีจำนวนเป็นพันๆ คนได้อย่างไร โดยไม่ต้องอาศัยภาครัฐเขามาช่วย 

“ผมว่าครูแอ๋มนี่เก่งกว่า รัฐมนตรีสาธารณสุขอีกนะ เขาเห็นข้อมูลหมดเลย ผมเห็นแล้วอึ้งนะ เพราะนี่คือครูสอนดนตรี เขาเขียน Flowchart (ผังงาน) ผมเป็นวิศกรยังงง นี่เรียกว่าแข็งแกร่งที่สุดในปฐพีได้เลย มันไม่น่าเชื่อเด็กๆ ช่วยกันทำข้อมูล ทำแผนที่ชุมชน เข้าระบบดิจิตอล ผู้ป่วยอยู่จุดไหนบ้างรู้หมดเลย ซึ่งสิ่งนี่รัฐเข้าไม่ถึง เพราะศูนย์สาธารณสุขมีเจ้าหน้าที่ 82 คน ดูแลประชาชนคลองเตยแสนคน รัฐแบกไม่ไว้ แต่กลุ่มนี้ช่วยได้เยอะมาก เขาดูแลคนไข้อยู่สองพันคน มีคนเสียชีวิตเพียง 6 คน”

ชัชชาติ กล่าวต่อไปถึงอีกหลายกลุ่มที่ช่วยทำหน้าที่จัดหาถังออกซิเจนเพื่อช่วยต่อชีวิตให้กับผู้ป่วยโควิดที่นอนรอเตียงอยู่ที่บ้าน ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่ได้เกิดจากภาครัฐเลย แต่เป็นพลังของทุนทางสังคม

เขาย้ำว่า ทุนทางสังคมนั้นมีจุดแข็งหลายอย่าง ทั้งมีข้อมูลเชิงลึกเพราะเป็นคนที่อยู่ในพื้นที่ เข้าใจปัญหา เข้าใจจิตใจของคน สามารถปฏิบัติการได้จริง มีคนมีความสามารถ และมันเป็นพลังที่เกิดขึ้นเพื่อความอยู่รอด และมีความยืดหยุ่น

“ผู้ว่าอาจจะอยู่ 4 ปี นายกฯ อาจจะอยู่ 4 ปี หรือ 8 ปี แต่ว่าชุมชนอยู่กันตลอดชีวิต ผู้ว่าเปลี่ยน นายกเปลี่ยนแต่ชุมชนยังอยู่ และถ้าชุมชนเข้มแข็งมันยั่งยืนในระยะยาวได้”

ชัชชาติ2.jpg


การสร้างความแข็งแรงของเมืองผ่านทุนทางสังคม

ชัชชาติ กล่าวต่อถึงการสร้างความแข็งแรงของเมืองผ่านทุนทางสังคม โดยยกตัวอย่างผ่านแว่นตาว่า ปัญหาของเมืองส่วนใหญ่ทุกคนจะมองมันผ่านเลนส์ที่ตัวเองถนัด แต่วิธีการมองแบบนี้ไม่สามารถแก้ปัญหาของเมืองได้ เพราะเราต้องการเลนส์ในการมองปัญหาที่หลากหลาย

“ปัญหาของเมืองเรามักจะมองมันผ่านเลนส์ที่เรามีความรู้อยู่ นักผังเมืองก็จะพูดเรื่องของผังเมือง นักรัฐศาสตร์ก็จะพูดเรื่องรัฐศาสตร์ เผด็จการก็จะจัดระเบียบอย่างเดียว NGOs ก็จะพูดเรื่องสิ่งแวดล้อม จะเห็นได้ว่าใครเป็นอะไรก็จะใส่เเว่นสีนั้น แต่มันแก้ปัญหาเมืองไม่ได้ เราต้องการ multiple colored lenses”

“มันต้องการคนที่มองหลายมุม อย่างผมอาสามาทำงาน กทม. ผมต้องถอดเลนส์วิศวะออกเลย เพราะไม่งั้นเราจะพูดแต่เรื่องเมกะโปรเจกต์ มันกลายเป็นดึงทรัพยากรมาที่เมกโปรเจกต์ด้วย อย่างเรื่องคลองแสนแสบ เจ็ดหมื่นแปดพันล้าน แทนที่จะแบ่งไปทำโรงเรียนสัก 10 แห่ง ทำสนามกีฬา 10 แห่ง แต่พอเราใส่แว่นตาของวิศวกรมันก็เห็นแค่เมกโปรเจกต์เจ็ดหมื่นแปดพันล้าน”

เขาย้ำต่อไปว่า มี 4 โจทย์หลักที่จะสร้างความแข็งแรงให้กับเมืองได้ประกอบด้วย

1.ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม ฉลาดกำลังเหมาะ เน้นที่คน ไม่เน้นเทคโนโลยี กล่าวคือ ไม่จำเป็นต้องฉลาดล้ำมากมาย ขอแค่ฉลาดกำลังเหมาะให้ตอบโจทย์คนได้ก็เพียงพอ ลงทุนกำลังดี และมีความเป็นได้จริง 

เขายกตัวอย่างถึง อสม. ประจำหมู่บ้าน ที่มีอยู่ในทุกชุมชน แต่เวลานี้สิ่งที่ควรมีเพิ่มคือ อสท. หรือ อาสาสมัครเทคโนโลยี โดยให้เยาวชนอายุไม่เกิน 25 ปี เข้าไปช่วยคนในชุมชน จัดทำข้อมูลต่างๆ ให้อยู่ในระบบดิจิตอล รวมทั้งการทำ OpenBangkok นำข้อมูลเข้าสู่ระบบให้หมด เช่น การจัดซื้อจัดจ้างภายใน กทม. ซึ่งทำได้ง่ายมาก 

“เราต้องย้าย กทม. ไม่ใช่ย้ายไปอยู่ที่อื่น แต่เป็นการย้ายขึ้นไปอยู่บน Clound การเข้าใช้บริการไม่จำเป็นต้องไปเขตแล้ว ทุกอย่างทำในระบบดิจิตอลได้ เราจะต้อง Digitize, Decentralize และ Democratize ทั้งหมดนี่ก็เพื่อทำให้เกิดรัฐที่โปร่งใส มีความรับผิดชอบ และทำให้เกิดการมีส่วนร่วม”

2.มุ่งสู่ความร่วมมือ 4 ประสาน คือ ภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ต้องร่วมมือกัน ไม่ใช่ปล่อยให้รัฐทำอยู่ฝ่ายเดียว เพราะจริงๆ แล้วคนฉลาดส่วนใหญ่มักไม่ได้อยู่ภายในองค์กร แต่อยู่นอกองค์กร โดยเฉพาะกับองค์กรราชการซึ่งคนฉลาดส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นข้าราชการ และประชากรส่วนใหญ่ก็ไม่ได้เป็นข้าราชการ ฉะนั้นจึงต้องร่วมมือการหลายภาคส่วน 

3.ต้องมีการทำงานทั้งจากบนลงล่าง และจากล่างขึ้นบน คือ บางครั้งเป็นภาครัฐนำ บางครั้งเป็นชุมนุมนำ เช่น งบประมาณ 100 เปอร์เซ็นต์ เป็นไปได้ไหมที่จะจัดไว้ 5 เปอร์เซ็นต์ให้ชุมชนได้ออกแบบว่าต้องการอะไร ไม่ใช่ทุกอย่างถูกคิดมาจากศาลากลาง อย่างเดียว 

“สมมติงบประมาณของ กทม. 100 เปอร์เซ็นต์ 5 เปอร์เซ็นต์มาจากพวกเราได้ไหม ให้ชุมชนช่วยออกความเห็นได้ไหมว่าอยากจะทำอะไร ไม่ใช่มาจากศาลากลางอย่างเดียว Top-Down อย่างเดียว สุดท้ายก็เสาไฟกินรี หรือได้สิ่งที่เราไม่อย่างได้ แต่อย่างฝรั่งเศสเขาให้ 5 เปอร์เซ็นต์นะ ทำทางจักรยานไหม ชาวบ้านก็ไปโหวตกัน อย่างได้พื้นที่สีเขียวใต้ทางด่วน ชาวบ้านก็ไปโหวตกัน ถามว่าคนในห้องแอร์รู้ไหม ยากนะเพราะเขาไม่เห็น แต่ชาวบ้านเขารู้ว่าเขาต้องการอะไร นี่แหละคือการสร้างความแข็งแกร่งของเมืองผ่านทุนทางสังคม”

4.สร้างทุนทางสังคม ด้วยพื้นที่สาธารณะที่มีคุณภาพ ซึ่งถือเป็นการเปิดพื้นที่ให้คนได้เข้ามาพบเจอกัน มีการแลกเปลี่ยนความเห็นกัน 

“การไปเดินห้างไม่ได้ชวยอะไรเลย มันเป็นปัจเจก เวลาเราไปเดินห้างเราไม่เคยไปคุยกับคนในห้าง เราไม่มีการแลกเปลี่ยนคุณค่าอะไรกัน นอกจากไปเดินตากแอร์กับไปกินข้าว มันไม่ใช่โจทย์ที่เมืองต้องการ เมืองต้องการพื้นที่สาธารณะที่มีคุณภาพ อย่าง พื้นที่สีเขียว, มิวเซียม, ห้องสมุด, co-working space, art galler, สนามเด็กเล่น, สนามกีฬา และเราไม่ได้ต้องการแค่พื้นที่เดียว เราต้องการในทุกแขวงทุกเขตของกรุงเทพ”