ไม่พบผลการค้นหา
เปิดตัว 'เครื่องวัดความเครียด' เครื่องแรกของโลก ครั้งแรกในประเทศไทย เทคโนโลยีใหม่ที่จะแสดงความเครียดออกมาเป็นรูปภาพผ่านการวัดคลื่นสมอง อัตราการเต้นของหัวใจ และคลื่นใต้ผิวหนัง ซึ่งจะช่วยให้ผู้ใช้สามารถวัดความเครียดและพัฒนาวิธีการจัดการความเครียดได้อย่างถูกต้อง

บมจ. ซิกน่า ประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัทด้านประกันสุขภาพจากประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เปิดตัว ‘เครื่องวัดความเครียด’ เมื่อวันที่ 21 ต.ค. เพื่อสร้างความตระหนักรู้เรื่องความเครียด ผ่านเครื่องวัดระดับความเครียดเครื่องแรกของโลก ทั้งยังเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยแสดงการทำงานของเทคโนโลยีที่ถูกออกแบบมาให้สามารถมองเห็น 'หน้าตาของความเครียด' ที่หลบซ่อนอยู่ภายใน พร้อมทั้งเชิญชวนให้ผู้รับการตรวจวัดสร้างแผนลดความเครียด (PLAN) ของตัวเอง

เพื่อให้การมองเห็นลักษณะของความเครียดในแต่ละบุคคลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ชำนาญการด้านเทคโนโลยีของซิกน่า และ ‘ฌอน ซัลลิแวน’ ศิลปินนักออกแบบศิลปะเชิงดิจิทัลชื่อดัง ได้ร่วมกันออกแบบโปรแกรมประมวลผลความเครียดขึ้นมา โดยนำเอาข้อมูล 3 ส่วนมาประมวลผล ซึ่งได้จากเครื่องวัดคลื่นไฟฟ้าสมองแบบสวมศีรษะ ได้แก่ ข้อมูลจากการตรวจวัดคลื่นสมอง ข้อมูลจากการตรวจวัดคลื่นหัวใจ และปฏิกิริยาการตอบสนองต่อกระแสไฟฟ้าทางผิวหนัง มาประมวลผลและนำไปสู่ขั้นตอนการนำเสนอข้อมูลผ่านผลงานศิลปะภาพบุคคล ที่จะมีความเปลี่ยนแปลงไปตามรูปทรงและสีสันที่ขึ้นอยู่กับสภาวะความเครียดของแต่ละบุคคลในช่วงเวลานั้นๆ โดย สีฟ้า-สีเขียว หมายถึง มีความเครียดระดับต่ำ สีม่วง หมายถึง มีความเครียดระดับปานกลาง และ สีส้ม-สีแดง หมายถึงมีความเครียดระดับสูง

เครื่องวัดความเครียด

เทคโนโลยีนี้ถูกประกอบขึ้นมา เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเครียดในร่างกาย โดยจะใช้เครื่องอ่านคลื่นสมองในการวิเคราะห์ข้อมูล ตรวจจับคลื่นอัลฟา และคลื่นเบต้าในสมอง ซึ่งบ่งบอกความสัมพันธ์กับความเครียดในเวลานั้นๆ และใช้เซ็นเซอร์ตรวจจับคลื่นหัวใจ เพราะความเครียดจะส่งผลต่อการเต้นของหัวใจที่สูงขึ้น รวมไปถึงมีการใช้เครื่องที่วัดคลื่นใต้ผิวหนัง เพื่อวัดค่าเหงื่อ ที่สามารถบ่งบอกความเครียดของผู้รับการตรวจวัดได้ โดยการวัดค่าทั้ง 3 อย่างนี้ สามารถตรวจจับความเครียดของผู้ที่สวมอุปกรณ์ได้

เครื่องวัดความเครียดเครื่องวัดความเครียด

'ฌอน' เผยว่า ความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดของโปรเจกต์นี้ก็คือ การที่จะดีไซน์ความเครียดออกมามีหน้าตาอย่างไร ซึ่งต้องทำให้ภาพดูโดดเด่น ทำให้คนเกิดแรงบันดาลใจที่อยากจะควบคุมมันให้ได้ เพื่อกระตุ้นให้พวกเขาอยากจัดการกับความเครียด เหมือนน้ำ ที่ให้อารมณ์ ความรู้สึก บางครั้งก็สงบ บางครั้งก็เกรี้ยวกราด จึงได้ใช้ข้อมูลทางการแพทย์ กราฟ และฮีทแมพ ในการอธิบายภาพความเครียด แล้วจึงได้ภาพที่มีความนุ่มนวลในทางศิลปะที่แสดงถึงความเครียดในขณะนั้น ผ่านทาง สี, รูปแบบ และการเคลื่อนไหว ถือเป็นสิ่งใหม่ในวงการแพทย์ เพราะมันสามารถอ่านข้อมูลจากเครื่องมือทางการแพทย์แต่ละเครื่องได้ และประมวลออกมาเป็นภาพที่เหมือนสิ่งมีชีวิต สีแดงและสีส้ม บอกว่าคุณมีความเครียดที่สูง พื้นผิวในภาพจะขยายขึ้นและลงตามค่าอัลฟ่าและเบต้าในคลื่นสมองของเรา ยิ่งอัลฟ่ามาก ความเครียดก็ยิ่งน้อย ถ้าเบต้าสูง แปลว่าความเครียดมาก ส่วนเรื่องของอัตราการเต้นของหัวใจและสีที่เรืองแสง แสดงถึงความเครียดในชั้นผิวหนัง

ส่วนวัตถุประสงค์หลักของการจัดทำแคมเปญ “เผยความเครียดที่มีตัวตน” (See Stress Differently) ในครั้งนี้ ซิกน่าต้องการให้คนไทยได้ตระหนักรู้ถึงผลกระทบที่มาจากความเครียดสะสมเรื้อรัง พร้อมทั้งนำเสนอวิธีการจัดการความเครียดเหล่านั้นได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพสูงสุด โดย ซิกน่า ประเทศไทย ได้มีการจัดทำแบบทดสอบทางออนไลน์เพื่อให้ทุกคนสามารถวัดระดับความเครียดของแต่ละบุคคลได้ด้วยตัวเอง

นอกจากนี้ยังมีการจัดทำโปรแกรมกิจกรรมพิเศษเพื่อลดระดับความเครียด โดยมีชื่อที่สามารถจำง่ายคือ ‘PLAN’ ทั้งนี้ P ย่อมากจาก Period of time to unwind หมายถึงระยะเวลาในการผ่อนคลาย L ย่อมาจาก Location that is stress-reducing หมายถึง สถานที่ผ่อนคลายความเครียด A ย่อมาจาก Activity to enjoy หมายถึง กิจกรรมที่เพลิดเพลินทำให่ผ่อนคลายความเครียด และ N ย่อมาจาก Name of a person to talk to หมายถึง คนที่จะร่วมผ่อนคลายความเครียดไปด้วยกัน

เครื่องวัดความเครียด

ขณะที่ผลการสำรวจสุขภาพและความเป็นอยู่แบบ 360 องศาของซิกน่า ประจำปี พ.ศ.2562 ทำการสำรวจ 13,200 คน ใน 23 ประเทศ พบว่า 84 เปอร์เซ็นต์ของประชากรโลกได้รับผลกระทบจากปัญหาความเครียด ซึ่งปัญหาความเครียดจากที่ทำงานเป็นปัญหาที่ส่งผลรุนแรงมากขึ้น สูงถึง 87 เปอร์เซ็นต์ของพนักงานที่ได้รับผลกระทบจากปัญหานี้

ทั้งนี้ จากภาพรวมของแบบสำรวจพบว่า คนไทยมีอัตราการได้รับผลกระทบจากความเครียดสูงกว่าประชากรในประเทศอื่นๆ และปัญหาความเครียดนั้นก็มีอัตราการเพิ่มพูนขยายวงกว้างอย่างรวดเร็วมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มวัยทำงาน และจากการศึกษาพบว่า ปัญหาความเครียดสะสมเรื้อรังนี้ เป็นสาเหตุหลักที่มีผลกระทบโดยตรงต่อการทำงานที่มีประสิทธิภาพและการอยู่ร่วมกันในสังคม คนไทยที่มีความเครียดสะสม ก่อให้เกิดผลกระทบของความเครียดที่ส่งต่อร่างกาย เช่น การทำให้เกิดโรคนอนไม่หลับ โรคความดันโลหิตสูง และโรคเบาหวาน

แม้ว่าเครื่องวัดความเครียดนี้ จะมาให้คนไทยได้ทดสอบกันแค่ระยะเวลาสั้นๆ เนื่องจากแคมเปญดังกล่าว เป็นแคมเปญที่ทำร่วมกับบริษัทซิกน่าที่อยู่ในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิค ซึ่งประเทศแรกที่ทำก็คือประเทศไต้หวัน ส่วนไทยเป็นประเทศที่สอง และหลังจากนี้ก็จะไปที่สิงคโปร์ แต่ถ้าหากว่าได้รับกระแสตอบรับที่ดี ก็มีความเป็นไปได้ที่จะสามารถนำเครื่องมือดังกล่าวนี้ ให้คนไทยได้มีโอกาสสัมผัสกับความเครียดที่มีตัวตนกันได้อีกครั้ง

หลังจากนี้บุคคลทั่วไปสามารถเข้าร่วมแคมเปญนี้ได้ต่อเนื่องตลอดปี 2019 โดยสามารถร่วมทำแบบทดสอบออนไลน์เพื่อวัดระดับความเครียด ได้ที่เว็บไซต์ของซิกน่าไทยแลนด์