ไม่พบผลการค้นหา
นักเรียนไทยในเยอรมนี-ฝรั่งเศส-เบลเยี่ยม-สมาพันธรัฐสวิส ออกหนังสือแสดงจุดยืนร่วม ย้ำ การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเรื่องไม่ชอบธรรม

4 สมาคมนักเรียนไทยในทวีปยุโรป ประกอบด้วย สมาคมนักเรียนไทยในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี, สมาคมนักเรียนไทยในประเทศฝรั่งเศส, สมาคมนักเรียนไทยในสมาพันธรัฐสวิส และกลุ่มนักเรียนไทยในประเทศเบลเยียม ออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนที่มีต่อเหตุชุมนุมทางการเมืองในประเทศไทย เมื่อ 16 ต.ค.ที่ผ่านมา

แถลงการณ์ชี้ว่า การชุมนุมที่เกิดขึ้นเป็นไปด้วยความสงบ สันติ และอยู่ในขอบเขตของการแสดงออกทางประชาธิปไตยที่คุ้้มครองด้วยรัฐธรรมนูญและหลักการสากล ทั้งยังชี้ว่า ความคิดเห็นที่แตกต่างเป็นเรื่องปกติของทุกสังคม แต่รัฐบาลต้องเปิดโอกาสให้คนทุกฝ่ายมีพื้นที่แสดงความคิดเห็นของตนเอง

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไทยกลับกระทำการเพื่อต่อต้านและบั่นทอนการชุมนุมหลายครั้งตลอดช่วงที่ผ่านมา อาทิ การจับกุมแกนนำด้วยข้อหาที่รุนแรงเกินจริง การส่งเจ้าหน้าที่รัฐเข้าคุกคามเยาวชนและผู้ปกครอง จนถึงการสลายการชุมนุมในวันที่ 15 และ 16 ต.ค.ที่ผ่านมา อันเป็นการสลายการชุมนุมในยามวิกาล และเป็นการใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุ

ทั้งยังมีการจับกุมคุมขังผู้ชุมนุมจำนวนมาก รวมทั้งมีการคุกคามสื่อมวลชนและการปิดกั้นข้อมูลข่าวสาร ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นการกระทำที่ไม่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมืองเป็นวงกว้าง

แถลงการณ์ย้ำว่า "แม้รัฐจะอ้างอำนาจกระทำการดังกล่าว ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 หากแต่การบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวในสภาวการณ์เช่นนี้ เป็นการประกาศที่ไม่ชอบธรรม เนื่องด้วยไม่ปรากฏการก่อการร้าย หรือการใช้กำลังประทุษร้ายต่อชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สิน รวมถึงความรุนแรงต่อความมั่นคงของรัฐ หรือบุคคลในรัฐบาลจากฝ่ายผู้ชุมนุมแต่ประการใด"

"ทั้งนี้ผู้ที่ใช้อำนาจในนามความมั่นคงของชาติพึงระลึกไว้เสมอ ว่าชาติคือประชาชน ดังนั้นความมั่นคงของชาติที่เป็นปฏิปักษ์กับความมั่นคงของประชาชนย่อมไม่มี"


4 ข้อเรียกร้อง

ทั้ง 4 สมาคมฯ เสนอข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทย 4 ประการ ได้แก่

  • 1. ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงโดยทันที
  • 2. ยุติการกระทำใดๆ ที่เป็นการคุกคามประชาชน
  • 3. ปล่อยตัวผู้ที่ถูกคุมขังโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ให้มีการใช้สิทธิในการปรึกษาทนายความและต่อสู้คดีอย่างโปร่งใสและยุติธรรม
  • 4. เปิดให้ประชาชนได้ใช้เสรีภาพในการแสดงออกของตน บนพื้นฐานที่รองรับไว้โดยรัฐธรรมนูญและหลักการสากล ด้วยความเคารพในมนุษย์ผู้มีศักดิ์ศรีสมบูรณ์เสมอกัน
หนังสือประณามหนังสือประณาม