ไม่พบผลการค้นหา
ขุนพลพรรคเพื่อไทย เตรียมอภิปรายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ชี้ "เหมือนตัดเสื้อโหล" จัดงบเหมือนปีก่อน ไม่สอดรับสถานการณ์โควิด-19 ย้ำต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นเพื่อฟื้นเศรษฐกิจ ไม่ใช่ฮั้วนายทุน

ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 วงเงิน 3.3 ล้านล้านบาท ที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบไม่เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2564 และเตรียมเข้าสู่การพิจารณาในวาระที่ 1 ของสภาผู้แทนราษฎร พร้อมทั้งอภิปรายรับหรือไม่รับหลักการในวันที่ 1-3 กรกฎาคมนี้ ถูกจับตามองจากหลายฝ่ายว่างบประมาณดังกล่าวมีความใกล้เคียงกับงบประมาณในปีก่อน ทั้งที่สถานการณ์ในประเทศตอนนี้ต้องการการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจที่เป็นผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 อีกทั้งยังมีปัญหาเรื้อรังจากปีก่อนที่รอการแก้ไข เช่น ภัยแล้ง น้ำท่วม และฝุ่น PM 2.5

สส. สุทิน คลังแสง

นายสุทิน คลังแสง ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) และ ส.ส. มหาสารคาม กล่าวถึงร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ว่าเป็นการจัดงบประมาณบนภาวะวิกฤต บนความลำบาก และบนควมหวังของประชาชน วันนี้ประเทศไทยไม่หวังเงินจากนอกประเทศ หรือเงินส่วนอื่นในประเทศแล้ว นอกจากงบประมาณนี้อย่างเดียวเท่านั้นที่จะมาชุบชีวิตคนไทย แต่จากที่ตนดูเบื้องต้นคือหวังไม่ได้ ตนขอให้ฉายาว่าเป็นงบประมาณฉบับ ‘จ่าเฉย’ เหมือนกับว่าจะเกิดวิกฤตโควิด หรือไม่เกิดวิกฤต แต่ฉันจะจัดแบบนี้เหมือนทุกๆ ปี ไม่มีการปรับตามสถานการณ์ 

นอกจากนี้ยังเป็นงบประมาณฉบับที่เหมือนกับ 'พ่อค้า' ยกร่างทำเอง เนื่องจากมีหลายอย่างที่ไปพบว่าเนื้อในของการจัดงบประมาณนี้ถูกล็อกสเปกทุจริตไว้เยอะ ดูรู้เลยว่าการก่อสร้างจัดซื้อจัดจ้างรู้เลยบริษัทไหนจะได้ เพราะว่าไปกำหนดคุณสมบัติหลายเรื่อง และน่าจะมีการล็อบบี้อีกหลายขึ้นตอนตั้งแต่กระทรวง กรม รัฐบาล จนกระทั่งกรรมาธิการ ซึ่งปกติแล้วเมื่อข้าราชการทำงบฯ แล้วเสนอนรัฐบาล ถ้ารัฐบาลที่ดีก็ต้องปรับจนละเอียดเพื่อความโปร่งใสและคุ้มค่า

อีกทั้งการจัดงบประมาณแต่ละครั้งต้องมีการประมาณการเศรษฐกิจ ณ วันนี้ หนึ่งปีข้างหน้า แล้วก็ระยะยาว ซึ่งถ้าประมาณการผิดก็จะผิดตั้งแต่ต้น ซึ่งงบประมาณฉบับนี้ รัฐบาลบอกว่าปี 2564 GDP จะขยายตัว 5 เปอร์เซ็นต์ แต่ในขณะที่วันนี้ลบ 8 เปอร์เซ็นต์ และเหลือเวลาอีกเพียงแค่ 3 เดือนจะถึงปีงบประมาณ 2564 ดังนั้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ 5 เปอร์เซ็นต์ จึงเป็นไปไม่ได้

หากสมมติฐานในการจัดงบประมาณผิดอะไรจะเกิดผลเสียตามมามากมาย รวมไปถึงเนื้อหาที่เพิ่มงบประมาณประจำสูงขึ้น แต่งบลงทุนต่ำ ทั้งที่ต้องเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจและสนองต่อ New Normal หลังโควิด แต่ตนก็ยังไม่ได้เห็น แถมยังมีงบประมาณที่ทับซ้อนอีกมาก ยกตัวอย่างเช่น งบกระทรวงหมาดไทย และกระทรวงคมนาคม เพิ่มขึ้นมาก แต่สองกระทรวงนี้มีเนื้องานที่คล้ายกันคือ คมนาคมเอางบประมาณไปทำถนน ส่วนมหาดไทยเอางบประมาณไปลงกับท้องที่ซึ่งสุดท้ายท้องที่ก็จะเอางบประมาณดังกล่าวไปทำถนน

"ถามว่าปัญหาประเทศวันนี้ปัญหาเศรษฐกิจวันนี้คุณอัดไปที่ถนนมันใช่ไหม มันจะเกิด การเพิ่มผลผลิต มันจะเกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ มันจะเกิดกระตุ้นอะไร เพราะฉะนั้นโลกวันนี้เขาเปลี่ยนไปอย่างอื่น เช่น อาหารปลอดสารพิษอะไรก็ว่าไป...วันนี้ภาคการเกษตรคุณต้องจัดการเรื่องน้ำให้เขา วันนี้พยากรณ์เราจะแล้งหนัก แล้ววันนี้มันเริ่มแล้งแล้ว แล้งมาเร็วแล้วก็แล้งยาว แต่ดูงบที่จะแก้ภัยแล้งแล้ว ไม่เห็นมี" นายสุทิน กล่าว

นายสุทิน กล่าวอีกว่า ในรอบปีหนึ่งระหว่างนี้รัฐบาลจะมีเงินใช้อยู่ในมือหลายล้านล้านบาท จากเงินกู้ 1 ล้านล้าน บวกกับวันนี้อีก 3.3 ล้านล้านบาท แล้วยังบวกกับงบประมาณที่โอนมาจากปี 2563 แล้วเขาจะใช้ยังไง จะทับซ้อนหรือสอดรับกันหรือไม่ แต่เท่าที่ตนเชิญหน่วยงานอื่นมาชี้แจงยังเป็นงบที่ซ้ำซ้อน ดังนั้นหากทับซ้อนกับก็ไม่จำเป็นต้องกู้เงินในปีนี้อีกตั้ง 6 แสนล้านบาทให้เป็นภาระกับประเทศชาติ

สส.ชลน่าน ศรีแก้ว

นายแพทย์ ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส. น่าน กล่าวว่า งบประมาณปี 2564 ไม่สอดคล้องกับปัญหาที่เกิดขึ้นกับประชาชนคนไทยในปัจจุบัน เพราะประเทศกำลังเหมือนกับ 'ล่มจมทางเศรษฐกิจ' แต่งบที่จัดมาไม่สามารถดึงคนให้ลอยมาจากน้ำ ได้ พร้อมยกตัวอย่าง 'งบลงทุน' ที่มีอยู่ 640,000 ล้านกว่าบาท แต่ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนที่ไม่ก่อเกิดรายได้ การจะหวังพึ่งว่างบประมาณปีนี้จะฟื้นเศรษฐกิจ ฟื้นจากสภาวะที่เป็นอยู่จึงค่อนข้างยากมาก

"จาก 4 แสนล้านที่เป็นเงินกู้ ทำไปแล้วยังไม่พอ 3.3 ล้านล้านนี่ก็จะเข้าไปเติม ถ้าใช้งบประมาณและการจัดการแบบนี้ ประเทศชาติไปไม่รอด อันนี้พวกเราต้องติดตามการอภิปรายของสมาชิกฝ่ายค้านเราซึ่งเตรียมการไว้ เจาะเป็นประเด็นๆ ให้เห็นว่ามันไม่เหมาะสมอย่างไร สภาวะหลังโควิดฯ เป็นอย่างไร จัดงบลงไปพื้นที่ที่ไม่สอดคล้อง ไม่เอื้ออำนวย ลักษณะโครงการเป็นยังไง โครงการที่ไม่จำเป็น เช่น การจัดซื้ออาวุธ การทำสัญญาผูกพันที่ไม่จำเป็นยังมีอีกมาก หรืองบประมาณที่จัดแล้วส่อที่จะไปเอื้อประโยชน์และทุจริตหลายโครงการ เช่น โครงการจัดทำถนนต่างๆ" 

นพ.ชลน่านยกตัวอย่าง โครงการทำถนนด้วยพาราแอสฟัลติก หรือพาราซอยล์ซีเมนต์ จะมีข้อเท็จจริงที่สมาชิกจะมาแจงให้เห็นว่า การทำถนนพาราแอสฟัลติกค่าใช้จ่ายเป็นอย่างไร เพิ่มขึ้นเท่าไหร่ ประโยชน์ได้จากยางพาราเท่าไหร่ ชี้ให้เห็นว่าอาจเป็นเจตนาที่จะเอื้อประโยชน์กับการสร้างงาน สร้างรายได้สำหรับผู้ประกอบการ แต่ไม่ใช่เพื่อพี่น้องประชาชน

นอกจากนี้ หนี้สาธารณะจะขึ้นไปถึงร้อยละ 58-59 หรือเกือบร้อยละ 60 ที่เป็นเพดานสูงสุด เพราะตัวเลขจีดีพีลดลง อ้างอิงการคาดการณ์ที่ระบุว่าจะอยู่ที่ประมาณ - 8.1 ขณะที่ผู้ประกอบการที่แจ้งขอความช่วยเหลือเรื่องหนี้ที่ไม่ก่อเกิดรายได้ (NPL) รวมกว่า 15.2 ล้านราย เม็ดเงิน 6.8 ล้านล้านบาท จะไปช่วยเหลือประชาชนได้อย่างไร ต้องติดตาม เพราะเป็นส่ิงที่จะกระทบต่อประชาชนโดยตรง

นอกจากนี้ นพ.ชลน่านยังระบุด้วยว่า งบประมาณปี 2564 "เหมือนการตัดเสื้อโหล" เพราะตีขลุมทั่วประเทศ มองปัญหาคล้ายๆ กัน เน้นสร้างถนน ทำประปา ซึ่งไม่ตอบโจทย์ แม้จะเป็นปัญหาจริง แต่ไม่ได้จำเป็นต่อวิถีชีวิตของคนในขณะนี้ ประชาชนต้องติดตามการอภิปรายว่างบประมาณจะถูกนำไปใช้อย่างคุ้มค่า เกิดประโยชน์สูงสุด และสอดคล้องเหมาะสมกับสถานการณ์ ไม่เช่นนั้นคนจะเป็นหนี้หัวโตโดยไม่ได้อะไรกลับคืนมาเลยในแง่ของการพัฒนา

"คนกำลังจะตาย คนกำลังตกงาน คนไม่มีอะไรจะกิน คุณจะไปสร้างถนนสร้างหนทางอย่างนี้ คนตายก่อน ผู้ประกอบการตายก่อน เพราะฉะนั้นการจัดงบประมาณตรงนี้นะครับ มันต้องเอาปัญหาพี่น้องประชาชนเป็นตัวตั้ง ดึงเขาขึ้นมา ให้เขาฟื้นก่อน ให้เขาอยู่ได้ก่อน แล้วค่อยไปทำโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่ก่อเกิดรายได้ เราต้องเอาโครงสร้างพื้นฐานที่ก่อเกิดรายได้จำเป็นต่อวิถีชีวิตเขาก่อนว่าเขาจะอยู่หลังโควิดได้อย่างไร"

ส.ส.จักรพล ตั้งสุทธิธรรม

ด้านนายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม ส.ส.เชียงใหม่ กล่าวถึงงบประมาณด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวว่า ยังไม่ได้เห็นอะไรที่เป็นรูปธรรม ในเล่มงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ไม่ได้มีการแตะในเรื่องของการส่งเสริมการท่องเที่ยวหลังจากวิกฤตโควิดสักเท่าไหร่ ทั้งที่การท่องเที่ยวเป็นการสร้างรายได้หลักของประเทศ แต่งบประมาณโดยภาพรวมไม่ได้มีการทุ่มเทการสร้างรายได้ กลับนำไปใช้กับการสร้างถนน หรือแม้แต่การซื้ออาวุธ ทั้งที่ความจำเป็นในตอนนี้คือการนำเทคโนโลยีมาเสริมเรื่องของการท่องเที่ยว การสร้างความมั่นใจกับนักท่องเที่ยวทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ การตรวจจับอุณหภูมิ การไปทุ่มเทเรื่องของการท่องเที่ยวปลอดภัยเชิงสาธารณสุข ฯลฯ ซึ่งควรนำงบประมาณมาใช้ตรงนี้ เพราะฉะนั้นถ้าเกิดจะทำถนนแต่ไม่สร้างความมั่นใจ ถนนที่ทำไป ตัดงบไปก็ไม่มีการใช้อยู่ดี

ในส่วนของจังหวัดเชียงใหม่ที่มีจุดเด่นด้านการท่องเที่ยวอยู่แล้ว ชาวเชียงใหม่ต้องการเห็นเม็ดเงินที่จะมาลงแล้วก็เติมเงินเข้าระบบให้อุตสาหกรรมภาคบริการและการท่องเที่ยวให้ชัดเจนและแก้ปัญหาได้มากกว่านี้ โดยเฉพาะปัญหาเรื่องไฟป่าและฝุ่นควันขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 ซึ่งคาดว่าปีหน้าเชียงใหม่ก็จะกลายเป็นพื้นที่ที่เป็นอันดับหนึ่งของโลกอีก ต่อให้มีการวางแผน เตรียมการรับมือ แต่ยังไม่มีการวางงบประมาณไว้เพื่อสนับสนุนการทำงานอย่างเพียงพอ ประกอบกับไม่มีการเจรจาเรื่องฝุ่นควันข้ามแดนระหว่างประเทศอย่างจริงจัง ก็ยังไม่เห็นความเป็นไปได้ที่จะแก้ปัญหาและชาวภาคเหนือตอนบนก็จะต้องทนกับปัญหานี้อีกอย่างต่อเนื่อง

นายจักรพล กล่าวย้ำว่า เมื่อมีวิกฤตของโควิดเข้ามา แผนของการใช้งบประมาณต้องเปลี่ยนทันทีให้มันตรงและเข้ากับสถานการณ์ สิ่งที่ควรทุ่มเทตอนนี้ก็คือเรื่องสาธารณสุข และการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว และผลักดันการส่งออกสินค้าเกษตรไปทั่วโลก เพราะฉะนั้นงบประมาณตรงนี้ต้องสร้างความมั่งคั่งให้กับประเทศ ด้วยการสร้างความมั่นใจให้ชาวไทยและต่างชาติมองเห็นว่าประเทศไทยสามารถจัดการและรับมือกับช่วงหลังโควิดได้อย่างแท้จริง

"ลูกศรทุกเล่มต้องมุ่งไปที่เศรษฐกิจตรงนี้ก่อน เพราะพ่อแม่พี่น้อง งบประมาณขนาดนี้ในช่วงวิกฤตตรงนี้เกิดช่องว่างของความเหลื่อมล้ำสูงมาก คนรวยก็ยังรวยต่อเนื่อง คนจนตอนนี้คือวิบัติแล้ว เพราะฉะนั้นยอดคนรวยที่สูงขึ้น และยอดคนฆ่าตัวตายที่สูงขึ้น เพราะฉะนั้นประเทศไทยต้องเลือกแล้วว่างบประมาณฉบับนี้จะไปแก้ปัญหาตรงไหน" นายจักรพล กล่าว