ภาพรถยนต์ที่แน่นเต็มท้องถนน ความปั่นป่วนวุ่นวายที่สนามบินหลักของของกรุงคาบูล สะท้อนให้เห็นความโกลาหลของชาวอัฟกานิสถานที่พยายามอพยพหนีออกจากประเทศ หลังจากที่กองกำลังตาลีบันสามารถเข้าบุกยึดกรุงคาบูล เมืองหลวง ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในเวลาไม่ถึงวัน หลังจากที่กลุ่มตาลีบัน สามารถบุกเข้ายึดกรุงคาบูล อันเป็นปราการด่านสุดท้ายของรัฐบาลอัฟกันได้สำเร็จ ประธานาธิบดี อัชราฟ ฆานี ผู้นำอัฟกานิสถาน ลี้ภัยออกนอกประเทศ นักรบตาลีบันเข้ายึดที่ทำการรัฐบาลได้สำเร็จแบบไร้การปะทะนองเลือด สถานทูตต่างชาติหลายประเทศในกรุงคาบูลสั่งอยพยเจ้าหน้าที่ออกนอกประเทศ เช่นเดียวกับสถานทูตสหรัฐฯ ที่ส่งเฮลิคอปเตอร์อพยพเจ้าหน้าที่ออกจากสถานทูต ภาพเหตุการณ์ทั้งหมดนี้ นักวิเคราะห์บางรายกล่าวว่า "เมื่อเทียบกับสงครามเวียดนามแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นในอัฟกานิสถานคลายกับไซง่อน" บางฝ่ายมองว่าไม่ต่างกับราวเหตุการณ์ไซ่งอนแตก แม้ผู้เชี่ยวชาญจะบอกว่าเหตุการณ์นี้ต่างจากคราวไซง่อนแตกก็ตาม ขณะที่แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ออกมาปกป้องคณะบริหารไบเดนว่า รัฐบาลสหรัฐฯ สำเร็จแล้วในการที่บรรลุเป้าหมายรับมือภัยก่อการร้าน "นี่ไม่ใช่ไซ่ง่อน เพราะเราไปอัฟกานิสถานเมื่อ 20 ปีที่แล้วด้วยภารกิจเดียว นั่นก็คือการรับมือกับคนที่โจมตีเราในเหตุการณ์ 9/11 และเราก็ได้บรรลุผลสำเร็จในภารกิจนั้นแล้ว"
นับตั้งแต่ที่กองกำลังต่างชาติซึ่งนำโดยสหรัฐฯ ตั้งฐานทัพในอัฟกานิสถานเมื่อ 20 ปีก่อน หลังจากเหตุการณ์ 9/11 นั้น เสถียรภาพของอัฟกานิสถานที่ผ่านมา ขึ้นอยู่กับการสนับสนุนของกองกำลังต่างชาติมาโดยตลอด ที่ผ่านมาสหรัฐทุ่มเงินกว่า 83 พันล้านดอลลาร์ในการสนับสนุนด้านอาวุธ อุปกรณ์ และการฝึกอบรมให้กับกองกำลังความมั่นคงของอัฟกานิสถานมาเป็นเวลากว่าสองทศวรรษ
กองทัพอัฟกานิสถานเต็มไปด้วยการทุจริตคอรัปชัน บรรดาผู้นำกองทัพมีแม้มีบทบาทนำกองกำลัง แต่เบื้องหลังคนเหล่านี้ไม่ต่างจาก "นักธุรกิจ" ที่เป็นนายหน้า จัดหาค้าอาวุธ ให้กับบรรดากองกำลังพันธมิตรส่วนอื่นๆของประเทศ อัฟกานิสถานเป็นดินแดนที่แม้จะมีกองทัพของชาติ แต่กลับมีอำนาจแค่เพียงเมืองหลวงหรือเมืองใหญ่ของประเทศเท่านั้น พื้นที่ส่วนอื่นๆ ยังคงอยู่ภายใต้อิทธิพลของกองกำลังในลักษณะขุนศึก (War Lord) ความที่กองทัพไม่ได้แข็งแกร่งเป็นเอกภาพมากพอ รวมถึงตลอดกว่าทศวรรรษกองทัพอัฟกันฯ อยู่ได้เพราะกองกำลังต่างชาตินั้น เป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่กำลัง กลุ่มตาลีบันซึ่งฝั่งตัวอยู่ใต้ดินมานาน ฟื้นคืนชีพกลับมายึดครองเมืองสำคัญของประเทศได้อย่างรวดเร็ว ในระยะเวลาเพียงเดือนเศษ
ปีเตอร์ กัลเบรธ อดีตทูตพิเศษของสหประชาชาติด้านอัฟกานิสถาน อธิบายต่อบีบีซีว่า การที่รัฐบาลอัฟกานิสถานล่มสลายอย่างรวดเร็วนั้น เป็นเพราะประชาชนไม่ไว้ใจรัฐและเกิดปัญหาทุจริตมานาน กองกำลังของตาลีบันนั้นมีขนาดเล็กกว่ากองทัพอัฟกันอย่างมาก ตาลีบันไม่มีอาวุธทันสมัยแบบที่รัฐบาลอัฟกันมี ไม่มีกองทัพอากาศ แต่มีการทุจริตเป็นวงกว้าง ตำรวจทหารไม่ได้รับเงินเดือนมาหลายเดือน อาวุธยุทโธปกรณ์ขาดมือ การล่มสลายของรัฐบาลอัฟกันจึงเกิดขึ้นอย่างเร็วเร็วในเวลาไม่ถึงสองเดือนหลังกองกำลังต่างชาติพ้นจากดินแดนอัฟกัน กองกำลังทหารอัฟกันจำนวนกว่า 300,000 นาย ที่ได้รับการฝึกปรือโดยกองทัพอเมริกันและนาโตมาตลอด 20 ปี กลับไม่คิดสู้รับกับตาลีบัน แถมยังยอมตกลงเซ็นสัญญายกหรือขายอาวุธยุทโธปรณ์ให้กับตาลีบันแบบง่ายดาย สะท้อนถึงความล้มเหลวของสหรัฐฯ ในการฝึกฝนและเพิ่มแสนยานุภาพให้กองกำลังอัฟกันด้วยทั้งๆที่สนับสนุนอาวุธยุทโธปกรณ์ทันสมัยให้มากมาย
ดังที่อธิบายไว้ข้างต้นว่า ความมั่นคงภายในของอัฟกานิสถานนอกจากจะขึ้นอยู่กับการมีอยู่ของกองกำลังต่างชาติแล้วนั้น ความมั่นคงในบางพื้นที่ของอัฟกานิสถานขึ้นอยู่กับอิทธิพลของ "ขุนศึก" สองกลุ่มคือกลุ่ม ดอสตุม ที่นำโดยอับดุล ราชิด ดอสตุม ซึ่งมีอิทธพลในแถบภูมิภาคฟาริยาบหรือเมืองอิสมาอิล ทางเหนือของประเทศ และกลุ่มของ อิสมาอิล ข่าน ที่อยู่ในเมืองเฮรัต ซึ่งทั้งสองเคยทรงอิทธิพลและมีบทบาทสำคัญในช่วงแรกของสงครามอัฟกานิสถานที่กองกำลังสหรัฐมีชัยเหนือกลุ่มตาลีบัน แต่หลังกองกำลังสหรัฐจากไป กลุ่มขุนศึกทั้งสองที่เคยทรงอำนาจก็แตกต่ายอย่างง่ายดาย อับดุล ราชิด ดอสตุม ลี้ภัยไปอุซเบกิสถาน ส่วนอิสมาอิล ข่าน ก็ยกธงขาวยอมอยู่ภายใต้การคุมตัวของตาลีบัน โดยตาลีบันให้คำมั่นรับประกันความปลอดภัยแก่เขา
ครั้งหนึ่งช่วงที่กองทัพอเมริกันเรืองอำนาจในอัฟกานิสถาน บรรดาก๊กขุนศึกเหล่านี้ก็ได้รับผลประโยชน์ทางการเมืองเข้าไปนั่งเกาอี้บริหารประเทศด้วย จึงไม่แปลกที่ตาลีบันจะมองว่ารัฐบาลอัฟกันคือหุ่นเชิดของวอชิงตัน
ในเมื่อบรรดาขุนศึก ทหารอัฟกัน หรือแม้แต่ตัวประธานาธิบดีเอง ยังไม่คิดจะลุกขึ้นสู้กับตาลีบัน แล้วจะมีเหตุผลใดที่สหรัฐฯ จำเป็นต้องอยู่ในอัฟกานิสถานต่อไป ทั้งๆที่อยู่มาตลอดเกือบ 20 ปี ติดอาวุธฝึกฝนกองทัพอัฟกันให้มากมาย แต่สุดท้ายคนเหล่านี้ก็เผ่นราบ
‘อิสลามเอมิเรตแห่งอัฟกานิสถาน’ (Islamic Emirate of Afghanistan) นี่คือสิ่งที่คาดว่าจะเป็นชื่อใหม่อย่างเป็นไม่ทางการของอัฟกานิสถาน (อันมี่จริงชื่อนี้ถูกใช้เป็นชื่อทางการของอัฟกานิสถานช่วงใต้การปกครองของตาลีบันมา) แทนชื่อเดิมคือ สาธารณรัฐอิสลามอัฟกานิสถาน (Islamic Republic of Afghanistan) หลายฝ่ายเชื่อว่าสิ่งแรกที่ตาลีบันจะกระทำคือการเปิดการเจรจากกับผู้แทนของรัฐบาลอัฟกานิสถานชุดเดิม เพื่อการถ่ายโอนอำนาจอย่างสมบูรณ์และไร้การบาดเจ็บ ตามเจตจำนงที่ตาลีบันกล่าวว่า การเปลี่ยนผ่านครั้งนี้พวกเขารับประกันว่าจะไร้การนองเลือด
"กระบวนการเปลี่ยนผ่านจะเสร็จสมบูรณ์อย่างปลอดภัย โดยไม่ทำให้ชีวิต ทรัพย์สิน และเกียรติของใครก็ตามตกอยู่ในอันตราย" ตอนหนึ่งที่โฆษกของตาลีบันกล่าว หลังเข้ายึดกรุงคาบูลได้สำเร็จ
มูฮัมหมัด นาอิม โฆษกของกลุ่มตาลีบัน ยังเผยต่ออัลจาซีราห์ อีกว่าระบอบการปกครองใหม่ในอัฟกานิสถานจะมีความชัดเจนในไม่ช้านี้ .. กลุ่มตาลีบันไม่ต้องการอยู่อย่างโดดเดี่ยว และเรียกร้องให้มีความสัมพันธ์กับประชาคมโลกอย่างสันติ ขณะเดียวกันยังเผยว่า รัฐบาลใหม่จะประกอบด้วยสมาชิกชาวอัฟกันที่ไม่ได้มาจากกลุ่มตาลีบันด้วย แต่เวลานี้ยังไม่สามารถระบุชื่อได้ว่าคณะรัฐบาลจะมีใครบ้าง แต่พวกเขาจะพยายามให้มีบุคคลที่เป็นที่รู้จักดีในรัฐบาลใหม่
การเจรจาดังกล่าว ไม่เพียงแค่จะมีผลในแง่ความสำเร็จของการถ่ายโอนอำนาจเท่านั้น แต่ยังเป็นผลในเชิงภาพลักษณ์ที่โชว์ให้นานาชาติเห็นว่าตาลีบัน "มีความชอบธรรม" ในการเข้าปกครองอัฟกานิสถาน รวมถึงถือเป็นกลวิธีหนึ่งที่จะหลีกเลี่ยงการถูกประณามจากนานาชาติ ซึ่งอาจส่งผลต่อประเทศภายใต้การปกครองของตาลีบันในระยะยาวโดยเฉพาะวิกฤตด้านมนุษยธรรม
เป็นที่น่าสังเกตว่า ตาลีบันในยุคนี้ ต่างจากตาลีบันยุคที่จับมือกับกลุ่มอัลกออิดะห์ ของโอซามา บิน ลาเดน อัฟกานิสถานช่วงปี 1989-2001 ที่กลุ่มตาลีบันปกครองอัฟกานิสถานด้วยความเหี้ยมโหด ใช้กฎหมายชารีอะห์แบบเคร่งจัดปกครองประเทศ กดขี่ชนกลุ่มน้อยที่เป็นศาสนาอื่นอย่างชาวฮินดู ทำลายศาสนาวัตถุมรดกโลกอย่างพระพุทธรูปแห่งบามียาน สตรีแทบไม่มีสิทธิทางสังคมยิ่งกว่าซาอุดีอาระเบีย
ทว่าจากท่าทีของตาลีบันในครั้งนี้ ดูเหมือนเป็น "ตาลีบันในมาดใหม่" ที่ลดทอนความเหี้ยมโหดและดูซอฟต์ลงอย่างชัดเจน บางส่วนเชื่อว่าน่าส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลจาก "ข้อตกลงสันติภาพ" ที่รัฐบาลสหรัฐฯภายใต้การนำของประธานาธิบดีทรัมป์ ลงนามกับผู้แทนตาลีบัน ที่กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ โดยส่วนหนึ่งในข้อตกลงดังกล่าวคือการขอให้ตาลีบัน ตัดความสัมพันธ์กับอัลเคดา หรือ อัลกออิดะห์ ซึ่งเป็นญิฮาดหัวรุนแรง รวมทั้งขอให้ตัดขาดกับอัลเคดาและร่วมเจรจาสันติภาพระดับชาติ แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญและนักวิเคราะห์ด้านตะวันออกกลางหลายคนเตือนว่า "ตาลีบันก็คือตาลีบัน อย่าไว้ใจกับคำพูดสวยหรูของตาลีบัน"
"ตาลีบัน ยุค 2021 นับว่ามีการประชาสัมพันธ์ตัวเอง (PR) ที่แตกต่างออกไป พวกเขามีโฆษกที่พูดภาษาอังกฤษ เพื่อไว้สื่อสารกับสื่อต่างชาติ นั่นเป็นสัญญาณที่บ่งชี้ว่า พวกเขาต้องการการยอมรับ แต่ประชาคมโลกก็ยังจำเป็นต้องระมัดระวังให้มาก เพราะตอนนี้ยังเร็วเกินไปที่จะเชื่อคำพูดเหล่านี้ได้ อีกทั้ง กลุ่มนี้คือกองกำลังติดอาวุธที่แสนโหดร้าย และก่อเหตุนองเลือดมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วนเมื่อในอดีต" ไมเคิล คูเกลแมน รองผู้อำนวยการสถาบันคลังสมองวิลสัน ในวอชิงตัน กล่าว
คูเกลแมน ยังเสริมว่า หลังจากนี้ต้องสังเกตปฏิกิริยาจากชาติในภูมิภาคตะวันออกกลางด้วยกัน หลังตาลีบันเริ่มปกครองอัฟกานิสถาน ประกอบกับการเริ่มมามีบทบาทของชาติที่ทรงอิทธิพลหน้าใหม่อย่างจีน "ซึ่งเราจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในพันธมิตรทางภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคนี้"
หลังจากที่กรุงคาบูลแตกพ่าย บรรณารัฐบาลของชาติตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรที่แท็กทีมบุกอัฟกานิสถานเมื่อปี 2001 ต่างก็แท็กทีมเผ่นหนีออกจากสถานทูตของตนในกรุงคาบูลเช่นกัน รวมไปถึงบรรดาชาติสมาชิกนาโตที่ออกคำสั่งด่วนเร่งอพยพเจ้าหน้าที่ของตนออกนอกอัฟกานิสถาน ทว่าดูเหมือนจะมีสองชาติซึ่งมีท่าทีเพิกเฉยต่อการบุกยึดคาบูล ก็คือรัสเซียและจีน โดยรัฐบาลเครมลิน ไม่ได้มีคำสั่งอพยพเจ้าหน้าที่ของตนเองจากอัฟกานิสถานแต่อย่างใด ทั้งยังแสดงท่าทีด้วยว่า รัสเซียกำลังเฝ้าดูการล่มสลายของวอชิงตันในอัฟกานิสถาน ส่วนรัฐบาลปักกิ่งนั้น ก่อนหน้าที่ตาลีบันจะยึดกรุงคาบูลได้สำเร็จ หวังอี้ รัฐมนตรีต่างประเทศจีนได้แสดงท่าทีสนับสนุนการขึ้นมามีอำนาจของตาลีบันในอัฟกานิสถาน โดยให้คำมั่นว่าจะรับรองสถานะรัฐบาลชุดใหม่ของอัฟกานิสถาน ถึงตรงนี้คงไม่ต้องอธิบายให้ยืดเยื้อว่าจีนจะสนับสนุนทางด้านเศรษฐกิจต่ออัฟกานิสถานอย่างแน่นอน เมื่อพูดถึงเรื่องสถานะความเป็นรัฐของอัฟกานิสถานในเวทีโลก เรื่องนี้คงต้องดูกันยาวๆ เพราะทั้งรัสเซียและจีนต่างเป็นสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ขณะที่ชาติอื่นๆ โดยเฉพาะสหรัฐฯ นั้นยังไม่ชัดเจนว่าจะมีการยอมรับการเกิดขึ้นของ ‘อิสลามเอมิเรตแห่งอัฟกานิสถาน’หรือไม่
ย้อนกลับไปที่ภาพของประชาชนในกรุงคาบูลซึ่งแห่แหนกันอพยพออกจากประเทศ ทั้งทางบกและทางอากาศ ภาพนี้เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้น หลังจากนี้โลกจะได้เห็นชาวอัฟกันอีกจำนวนมากที่พากันอพยพข้ามแดนไปยังประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะกับปากีสถาน ซึ่งปัจจุบันเป็นที่รองรับผู้อพยพอัฟกันมาโดยตลอดอยู่แล้ว ปลายทางของผู้ลี้ภัยเหล่านี้ แน่นอนว่าไม่พ้นชาติตะวันตก หรือชาติมุสลิมที่มีการเปิดกว้างทางสังคมมากว่าอย่างตุรกี หรือบางชาติในตะวันออกกลาง เหตุที่ชาวอัฟกันต่างพากันลี้ภัยออกจากประเทศ เนื่องจากความไม่แน่นอนว่า ตาลีบันจะปกครองด้วยวิธีโหดร้ายเหมือนดังแต่ก่อนหรือไม่
อีกประเด็นสำคัญที่ต้องจับตาคือ เมื่อรัฐบาลตาลีบันขึ้นครองอำนาจ สถานะทางสังคมโดยเฉพาะกับสิทธิสตรีนั้นจะเป็นเช่นไร เนื่องจากยุคที่ตาลีบันครองอัฟกานิสถานในก่อนหน้านั้น มีการจำกัดสิทธิสตรีและเด็กผู้หญิงมากมาย ทั้งการห้ามเข้ารับการศึกษา ห้ามผู้หญิงออกไปทำงานนอกบ้าน สตรีต้องสวมใส่ผ้าและชุดคลุมที่ปิดตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า (เบอร์กา) สังคมอัฟกันจะเดินไปในทิศทางรัฐอิสลามเคร่งจัดเหมือนเช่นก่อนหรือไม่
โฉมหน้าของอัฟกานิสถานในยุคตาลีบัน จะเป็นไปในรูปแบบไหน และอย่างไรนั้น ยังคงเป็นคำถามที่แทบไม่มีใครให้คำตอบได้อย่างชัดเจน แม้ว่า ตาลีบันในมาดใหม่ จะดูซอฟต์สุภาพกว่าตาลีบันในยุคก่อนหน้า โดยตอนหนึ่งที่โฆษกตาลีบันกล่าวคือ พร้อมส่งเสริมสิทธิด้านพลเมืองของประชาชน โดยเฉพาะประเด็นสิทธิสตรี ตามแบบฉบับของอิสลาม
อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนั่นก็แค่ลมปาก "อัฟกานิสถานในยุคตาลีบัน" ยังเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน จากทั้งปัจจัยภายในที่ยังมีกลุ่มเคลื่อนไหวสนับสนุนกองทัพอัฟกันอยู่แม้ว่ากองทัพจะพ่ายแพ้แล้วก็ตาม กับปัจจัยภายนอกจากการยอมรับของนานาชาติอย่างปฏิเสธไม่ได้
สิ่งที่บรรดาชาติตะวันตกกังวลมากที่สุดคือ หลังตาลีบันได้กลับมาเถลิงอำนาจอีกครั้งคือ จะทำให้โลกตกอยู่ภายใต้ภัยก่อการร้ายอีกครั้งหรือไม่? เรื่องนี้ ทั้งรัฐมนตรีต่างประเทศสหราชอาณาจักร และพล.อ.มาร์ก มิลลีย์ ประธานเสนาธิการทหารร่วมสหรัฐฯ ต่างออกมาเตือนและแสดงความกังวลว่า การหวนคืนอำนาจของตาลีบันจะทำให้กลุ่มก่อการร้ายต่างๆ ใช้ดินแดนในอัฟกานิสถานเป็นแหล่งซ่องสุมกำลัง และฟื้นตัวกลับมาเป็นภัยคุกคามต่อภูมิภาคตะวันออกกลาง และต่อโลกเร็วกว่าที่คาดการณ์กันไว้
ช่วงที่รัฐบาลสหรัฐเปลี่ยนผ่านมาสู่ยุคไบเดน พลเอกมิลลีย์ เคยเสนอรายงานเกี่ยวกับการคาดการณ์ในอัฟกานิสถานต่อที่ปรึกษาประธานาธิบดีไบเดน รวมถึงคณะกรรมาธิการคองเกรงจากทั้งรีพับลิกกัน และเดโมแครต
พลเอกมิลลีย์ อ้างถึงการประเมินความเสี่ยงครั้งก่อนที่คาดว่ากลุ่มก่อการร้ายอาจฟื้นตัวในอัฟกานิสถานภายใน 2 ปีหลังจากที่สหรัฐฯ ถอนทหารออกมา และชี้ว่ากรอบเวลาการถอนกำลังออกจากอัฟกานิสถาน ซึ่งแผนดังกล่าวถูกกำหนดขึ้นโดยรัฐบาลทรัมป์นั้น จำเป็นต้อง "ทบทวนใหม่"
ลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เคยแจ้งต่อที่ประชุมวุฒิสมาชิกว่า มีความเป็นไปได้ “ระดับกลาง” ที่กลุ่มก่อการร้ายจะกลับมาใช้อัฟกานิสถานเป็นแหล่งซ่องสุมกำลัง และคาดว่าจะใช้เวลาอีกประมาณ 2 ปี กว่าที่สถานการณ์จะไปถึงจุดนั้น แต่ทว่าหากดูจากศักยภาพที่ตาลีบันใช้เวลาเพียงเดือนเศษ ก็ครองอัฟกานิสถานทั้งประเทศได้นั้น ความเป็นไปได้ดังกล่าวที่ฝ่ายบริหารไบเดนคาดการณ์ไว้ ก็คงต้องทบทวนใหม่เช่นกัน
รัฐบาลไบเดน พยายามยกข้ออ้างต่างๆ นานาเพื่อนำสหรัฐฯ ถอนตัวออกจากสงครามครั้งนี้ อาทิว่า ปฏิบัติการขับไล่อัลกออิดะห์ออกจากอัฟกานิสถานเสร็จสิ้นไปนานหลายปีแล้ว ประกอบกับ "บินลาเดน" อดีตผู้นำเครือข่ายอัลกออิดะห์ ก็ถูกหน่วยรบพิเศษสหรัฐฯ ปลิดชีพในปากีสถานไปเมื่อกว่า 10 ปีก่อนในยุคปธน.โอบามา
ปัจจุบันสหรัฐฯ ไม่มีฐานทัพตั้งอยู่ใน 6 ประเทศที่มีพรมแดนติดกับอัฟกานิสถาน โดยฐานทัพอเมริกันที่ใกล้ที่สุดอยู่ในกลุ่มชาติอ่าวเปอร์เซีย ซึ่งกว่าจะส่งกองกำลังไปอัฟกานิสถานได้ต้องใช้เวลาหลายชั่วโมง ทั้งยังต้องบินอ้อมน่านฟ้าอิหร่านด้วย ทำให้ศักยภาพในการปฏิบัติภารกิจของอากาศยานลดลงตามไป
หากหลังจากนี้ เริ่มมีสัญญาณว่ากลุ่มก่อการร้ายภายใต้การปกครองของตาลีบันเริ่มฟื้นคืนชีพ ก็จะเป็นสัญญาณร้ายต่อการเมืองภายในสหรัฐฯโดยเฉพาะกับรัฐบาลไบเดน อย่างเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน