ไม่พบผลการค้นหา
วีรกรรม คสช. ของ ประยุทธ์ที่ปิดกั้นเสรีภาพสื่อและปิดกั้นข่าวการรับรู้ของประชาชนช่วงหลังรัฐประหาร อีกทั้งย้อนดูยุทธศาสตร์ ปิดสื่อ เซ็นเซอร์ข่าวความมั่นคง โฆษณาชวนเชื่อ เอาทหารมาเป็นผู้สื่อข่าว สร้าง ‘ผู้กองยอดรัก’ โปรโมททหาร

22 พฤษภาคม 2564 ครบรอบ 7 ปี คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยึดอำนาจรัฐประหารรัฐบาลของ ‘ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร’ ที่มาจากการเลือกตั้ง 

‘วอยซ์’ ชวนย้อนดูวีรกรรม คสช. ของ ประยุทธ์ที่ปิดกั้นเสรีภาพสื่อและปิดกั้นข่าวการรับรู้ของประชาชนช่วงหลังรัฐประหาร อีกทั้งย้อนดูยุทธศาสตร์ ปิดสื่อ เซ็นเซอร์ข่าวความมั่นคง โฆษณาชวนเชื่อ เอาทหารมาเป็นผู้สื่อข่าว สร้าง ‘ผู้กองยอดรัก’ โปรโมททหาร 

คสช.jpg

ก่อนจะไปถึงเรื่องดังกล่าวขอย้อนดูเหตุผลการทำรัฐประหารปี 2557 ที่ถูกบอกผ่าน ‘ใบปลิว’ ทหารแจกให้ประชาชนที่สัญจรย่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2557 โดยคณะ คสช. ให้เหตุผลว่า

  • มีความขัดแย้งทางความคิดการเมืองอย่างรุนแรงจนถึงระดับครอบครัวคนไทย
  • การใช้อำนาจการปกครองแบบเดิมไม่สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและการกระทำผิด
  • แนวทางการเลือกตั้งในรูปแบบเดิมมีการต่อต้านอย่างกว้างขวาง ถ้าปล่อยไว้อาจเกิดปัญหาวุ่นวายไม่รู้จบ
  • การชุมนุมทางการเมืองส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของประชาชนทุกหมู่เหล่า ทำให้ประชาชนแตกความสามัคคี
  • ปัญหาทุจริต
  • การบังคับใช้กฎหมายต่อปัญหาข้างต้น บังคับใช้ไม่ได้ทุกกลุ่ม ทำให้เกิดความหวาดระแวง เกลียดชังกันในหมู่ประชาชนเป็นวงกว้าง มีการยุยงปลุกปั่นให้ใช้ความรุนแรง
  • การบริหารราชการแผ่นดินไม่สามารถกระทำได้อย่างเด็ดขาด ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของชาติ และความทุกข์ของประชาชน
  • ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทย
  • การปลุกระดมมวลชนโดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่
  • มีการจัดตั้งและใช้กองกำลังติดอาวุธ

คณะรัฐประหารให้คำมั่นว่าจะกวาดล้างการฉ้อราษฎร์บังหลวง ลดความตึงเครียดทางการเมือง เปลี่ยนสภาพเศรษฐกิจไทย แก้ไขปัญหาระบบการศึกษาและโครงสร้างพื้นฐานของไทย และการจัดสรรงบประมาณของรัฐอย่าเสมอภาคตามภูมิภาคต่างๆ 

นี่อาจจะเป็นที่มาของวลี ‘ขอเวลาอีกไม่นาน แล้วแผ่นดินที่งดงามจะคืนกลับมา’


ลำดับเหตุการณ์การยึดอำนาจ

เวลา ประมาณ 16.00 น. ของวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ขณะที่มีการเจรจา ระหว่างตัวแทนฝ่ายรัฐบาล นำโดย นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รักษาการนายกรัฐมนตรี กับตัวแทนฝ่ายผู้ชุมนุมกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ภายในสโมสรทหารบก วิภาวดีฯ 

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ขณะนั้น ได้ทำการประกาศยึดอำนาจรัฐบาล และควบคุมตัวผู้เข้าร่วมการเจรจา ทั้งหมดถูกนำตัว แยกย้าย ไปควบคุม ในค่ายทหารทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด

โดยก่อนหน้านั้นเพียง 2 วัน ฝ่ายทหารมีการประกาศใช้กฎอัยการศึกกลางดึก ทั่วราชอาณาจักร และการนำกำลังทหารหลายพันนาย เข้าประจำการทั่วกรุงเทพมหานคร ท่ามกลางการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. ในหลายจุด และมีความรุนแรงของสถานการณ์เพิ่มมากขึ้น

หลังการรัฐประหาร มีการจัดตั้งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และตามมาด้วยคำสั่งเรียกบุคคล เข้ารายงานตัวทั้งหมด 626 คน ถูกจับกุมดำเนินคดี 340 คน ในจำนวนนี้ ขึ้นศาลทหาร 68 คน ผู้ถูกเรียกรายงานตัว มีทั้งนักการเมือง นักวิชาการ และนักกิจกรรม ท่ามกลาง ความไม่เห็นด้วยของนานาชาติ และองค์กรสิทธิ ระหว่างประเทศ พร้อมการกดดันให้รัฐบาล คสช. คืนประชาธิปไตย

นออกจากนี้ มีการควบคุม และปิดกั้นสิทธิเสรีภาพ ในการแสดงความคิดเห็น การแสดงออก เชิงวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมือง อย่างเข้มข้น แม้แต่ในเวทีวิชาการ และนี่เป็นสาเหตุสำคัญ ที่นำไปสู่ความเคลื่อนไหวของผู้รักประชาธิปไตย ที่เลือกใช้สัญลักษณ์ ในการแสดงออก จนกลายเป็นกระแส โดยเฉพาะในโลกโซเชียล และเป็นสัญญลักษณ์แห่งปีในที่สุด


ปิดสื่อเพื่อไม่ให้มีการรายงานข่าวบิดเบือน

กลางดึก 3.00 น. วันที่ 20 พ.ค. 2557 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกขณะนั้น ประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร 

ช่วงค่ำของวันที่ 20 พฤษภาคม ทหารได้ทำการบุกเข้าไปในสถานีโทรทัศน์อย่างน้อย 10 แห่ง มีการให้ยุติการออกอากาศรายงานปกติ หนึ่งในนั้นคือ ‘Voice TV’ 

รายงานเรื่อง ‘ประเทศไทยผลกระทบของการรัฐประหาร 2557 ต่อสื่อมวลชน’ จัดทำโดย BENJAMIN ISMAÏL ผู้อำนวยการแผนกเอเชียแปซิฟิก RSF เผยแพร่เมื่อปี 2558 ระบุว่ายุทธศาสตร์สั่งปิดสื่อ - การเซ็นเซอร์ของกองทัพ

รายงานระบุว่า นอกจากการเข้าควบคุมสถานีโทศทัศน์ ทหารยังใช้วิธีการเซ็นเซอร์แบบเจาะจง โดยมีการห้ามพิมพ์บทความบางชิ้น 

รายงานดังกล่าวระบุอีกว่า ภายหลัง คสช. สั่งปิดและควบคุมสื่อมวลชน คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้แถลงในนามของกองทัพ ยืนยันว่า เหตุผลสำคัญในการสั่งปิดสถานีโทรทัศน์ภายหลังการรัฐประหารนั้นเป็นไปเพื่อการเผยแพร่ข่าวสารไปสู่ประชาชนเป็นไปด้วยความถูกต้อง ปราศจากการบิดเบือน อันจะก่อให้เกิดความเข้าใจผิด จนส่งผลกระทบต่อการรักษาความสงบเรียบร้อย

กสทช. ยังกล่าวอีกว่า และเป็นการประกันว่าการเผยแพร่ข่าวสารไปสู่ประชาชนเป็นไปด้วยความถูกต้อง ปราศจากการบิดเบือน อันจะก่อให้เกิดความเข้าใจผิด และทำให้เกิดความขัดแย้งอย่างกว้างขวาง

ใหม่-3.jpg


โฆษณาชวนเชื่อ ปิดกันเสรีภาพด้านข่าวสาร เอาทหารมาเป็นผู้สื่อข่าว 

รายงานของ BENJAMIN ISMAÏL ให้ความเห็นว่า การกระทำของ คสช. กลับย้อนแย้งกับแถลงการณ์ที่ออกมา เนื่องจากแทนที่ คสช. จะปล่อยให้ทีวีจอดำ หรือขึ้นเป็นภาพทดสอบ (test cards) 

รัฐบาลทหารได้ สั่งการให้โทรทัศน์ทุกช่องเผยแพร่ประกาศคสช. (ห้ามเผยแพร่อย่างอื่นนอกจากประกาศเหล่านี้) ส่วนหนึ่งเพื่อให้ประชาชนมั่นใจว่าไม่มีการปฏิวัติซ้อน 

เป็นเวลาหลายวันที่การเปลี่ยนช่องโทรทัศน์เป็นเรื่องเปล่าประโยชน์ เปลี่ยนไปช่องไหนก็จะพบเจอแต่โลโก้ของรัฐบาลทหาร สลับกับการประกาศต่างๆ ของนายกรัฐมนตรีชั่วคราวคนใหม่คือพล.อ.ประยุทธ์และโฆษกรัฐบาล ทหารที่ทดลองทำตัวเป็นผู้ประกาศข่าวในวันที่กองทัพประกาศกฎอัยการศึก 

พวกเขายังมีมาตรการเพื่อปูทางไปสู่การผูกขาดการสื่อสารในอนาคต โดยการเปิดหน้า Facebook ของคสช. ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นหนึ่งในช่องทางการสื่อสารหลักของรัฐบาลทหาร พวกเขาไม่จำ เป็นต้องเปิด Twitter เนื่องจากแผนกประชาสัมพันธ์ของกองทัพบกมีแอคเคาท์ Twitter อยู่แล้ว

ในวันที่ 30 พฤษภาคม 2557 พล.อ.ประยุทธ์เริ่มปรากฏตัวในรายการโทรทัศน์ประจำสัปดาห์ที่ใช้ชื่อรายการว่า 'คืนความสุขให้ประเทศไทย' ซึ่งเขาเป็นผู้พูดเพียงคนเดียว ในรายการที่สถานีโทรทัศน์และวิทยุทุกช่องต้องเผยแพร่ โดยเขาจะรายงานให้ประชาชนทั้งประเทศฟังถึงสิ่งที่รัฐบาลทหารได้ทำ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งนี้โดยมีจุดประสงค์เพื่อชี้แจง ประเด็นซึ่งเป็นที่สนใจของสาธารณะในบางประการ 

รายการที่ออกอากาศครั้งแรกของพล.อ.ประยุทธ์นั้น ได้อธิบายถึงเหตุผลที่ว่าเหตุใด กองทัพจึงต้องโค่นล้ม รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 

จากนั้นก็เริ่มข่มขู่บุคคล ที่ขัดขืนคำสั่งของคสช. คนที่เข้าร่วมการประท้วงต่อต้านการรัฐประหาร หรือให้ข้อมูลในแง่ลบ กับรัฐบาลทหารต่อสื่อมวลชน 

“เป็นที่ชัดเจนว่าในรายการเหล่านี้ไม่มีช่องทางใดๆ ให้บุคคลอื่น สามารถตั้งคำถามกับท่านนายพลประยุทธ์ได้การโฆษณาชวนเชื่อเพื่อสร้างความชอบธรรมให้ระบอบทหารปรากฏในรูปแบบใหม่” 

ในช่วงหลายเดือนต่อมา หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ สั่งการให้นักเขียนทำการเขียนบทโทรทัศน์เพื่อสนับสนุนภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศ มีการทำละครทีวีเพื่อเผยแพร่พร้อมกับโลโก้ของกองทัพบกเป็นฉาก

ในเดือนกรกฎาคม 2558 ในละคร 'ผู้กองยอดรัก' ซึ่งสร้างขึ้นใหม่เป็นครั้งที่เก้าโดยเป็นเรื่องราวความรักระหว่างทหารเกณฑ์กับผู้บังคับบัญชาที่เป็นแพทย์ทหารหญิงซึ่งมียศ ร้อยเอก 

“เป็นละครที่ส่งเสริมและทำให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดีของแนวคิดแบบขวาจัด ทำให้เห็นว่าการใช้อำนาจของทหารไม่เพียงเป็นเรื่องปรกติ หากยังเป็นประโยชน์กับประเทศชาติ” ละครเรื่องนี้มีการสร้างขึ้นใหม่ทุกครั้งภายหลังการทำรัฐประหารหลายครั้งในประเทศไทย


e0b89ce0b8b9e0b989e0b881e0b8ade0b887e0b8a2e0b8ade0b894e0b8a3e0b8b1e0b881.jpg


สร้าง ‘ผู้กองยอดรัก’ โปรโมททหาร 

บทความในมติชนสุดสัปดาห์ 7-13 สิงหาคม 2558 วิเคราะห์โดยอ้างอิงรายงาน “ผู้กองยอดรัก: ละครรักกุ๊กกิ๊กเกี่ยวกับทหารที่ถูกสร้างใหม่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่รัฐประหาร ตั้งแต่ทศวรรษ 1970”)  ผู้เขียนที่ใช้ชื่อว่า 'เอสรี ไทยตระกูลพาณิช' เผยแพร่เป็นภาษาอังกฤษในเว็บไซต์ประชาชนเมื่อปี 2558 (https://prachatai.com/english/node/5356

ซึ่งเป็นรายงานวิเคราะห์บทละครผู้กองยอดรักกับการรัฐประหารที่น่าสนใจชิ้นหนึ่งที่น่าสนใจว่า

รายงานที่หนัง-ละครเหล่านั้น ถูกสร้างขึ้นหลังเหตุการณ์ปฏิวัติรัฐประหาร

จึงอาจเป็นไปได้ว่า การนำละคร 'ผู้กองยอดรัก' มาสร้างใหม่ มีความข้องเกี่ยวกับการพยายามสร้างความชอบธรรมและสร้างภาพลักษณ์โรแมนติกให้แก่กองทัพ ซึ่งเข้ามามีบทบาทแทรกแซงทางการเมือง

'ผู้กองยอดรัก' 'ยอดรักผู้กอง' และ 'ผู้กองอยู่ไหน' เป็นนวนิยายชุดของ 'กาญจนา นาคนันทน์' ที่ตีพิมพ์ในช่วงทศวรรษ 2510 โดยเคยถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์สองครั้งใน พ.ศ. 2516 และ 2524 และถูกนำมา สร้างเป็นละครโทรทัศน์มากถึง 7 ครั้ง ใน พ.ศ. 2515, 2522, 2531, 2538, 2545, 2550 และครั้งล่าสุด ทางช่อง 3 ใน พ.ศ.2558

ผู้เขียนรายงานเรื่องนี้และกองบรรณาธิการประชาไท ได้นำข้อมูลดิบดังกล่าวมาเทียบเคียงกับสถิติการทำรัฐประหารในช่วงเวลาเดียวกัน แล้วประมวลออกมาเป็นอินโฟกราฟิก ซึ่งชี้ให้เห็นว่า มีหลายครั้งที่หนังหรือละครเรื่อง 'ผู้กองยอดรัก' ถูกสร้างขึ้นคล้อยหลังเหตุการณ์รัฐประหารหรือการกบฏที่ล้มเหลวโดยกองทัพ

หลังรัฐประหารปี 2514 มีการสร้างละคร 'ผู้กองยอดรัก' ในปี 2515 และเวอร์ชั่นหนังในปี 2516

หลังรัฐประหารปี 2519 และ 2520 มีการสร้างละคร 'ผู้กองยอดรัก' ในปี 2522

พร้อมๆ กับเหตุการณ์กบฏ 2524 ในปีเดียวกัน ก็มีการสร้างหนังเรื่อง 'ผู้กองยอดรัก'

หลังรัฐประหาร 2549 ในปี 2550 ละคร 'ผู้กองยอดรัก' ถูกสร้างขึ้นอีกครั้งหนึ่ง

เช่นกันกับในปี 2558 ที่ละครเรื่องนี้ถูกรีเมกอีกหน ภายหลังรัฐประหารปี 2557

อ้างอิงเนื้อหาบางส่วน 

  • รายงานเรื่อง ‘ประเทศไทยผลกระทบของการรัฐประหาร 2557 ต่อสื่อมวลชน’ จัดทำโดย BENJAMIN ISMAÏL ผู้อำนวยการแผนกเอเชียแปซิฟิก RSF

https://rsf.org/sites/default/files/rapport_thailande_th-2.pdf

  • ความสัมพันธ์สองด้าน ของ 'ผู้กองยอดรัก' กับ 'สังคมการเมืองไทย' มติชนสุดสัปดาห์ 7-13 สิงหาคม 2558