ไม่พบผลการค้นหา
'โอไมครอน' ลาม 55 จังหวัด ยอดติดเชื้อพุ่ง 2,338 ราย กทม.มากที่สุด ด้านกรมควบคุมโรค ย้ำผู้ที่ฉีดวัคซีนเข็ม 2 ก่อน พ.ย. 64 รีบรับบูสเตอร์โดส

พญ.สุมนี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค ในฐานะผู้ช่วยรองโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แถลงสถานการณ์โควิด-19 ประจำวันว่า สถานการณ์การระบาดโควิด-19 ประจำวันที่ 5 มกราคม 2565 พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น จำนวน 3,899 ราย โดยแบ่งเป็นการติดเชื้อในประเทศ 3,662 ราย แบ่งเป็นจากระบบเฝ้าระวังและบริการสุขภาพ 3,648 ราย จากการตรวจคัดกรองเชิงรุกในชุมชน 14 ราย จากเรือนจำหรือที่ต้องขัง 68 ราย และเป็นผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศอีก 169 ราย รวมยอดผู้ป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 รวม 2,239,475 ราย

ส่วนผู้หายป่วย อยู่ที่ 2,508 ราย รวมยอดรักษาหาย 2,182,829 ราย และมีผู้ยังเข้ารับการรักษาอยู่ จำนวน 34,877 ราย แบ่งเป็นการรักษาอยู่ในโรงพยาบาล จำนวน 18,149 ราย ในโรงพยาบาสนามและอื่นๆ จำนวน 16,728 ราย โดยมีผู้ป่วยอาการหนัก จำนวน 514 ราย ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้ป่วยหนักที่ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจกว่า 149 ราย ส่วนผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 19 ราย

ทั้งนี้ จากสถานการณ์การติดเชื้อโควิดในประเทศ แบ่งเป็นตามสายพันธุ์ พบว่า ในช่วงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564-4 มกราคม 2565 มีการระบาดสายพันธุ์เดลต้า 78.91% และสายพันธุ์โอไมครอน เพิ่มขึ้นเป็น 20.92% คิดเป็นจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อโอไมครอน จำนวน 2,338 ราย  โดยเชื้อโอไมครอนกระจายไปแล้ว 55 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ พบผู้ติดเชื้อโอไมครอน 676 ราย, กาฬสินธุ์ 233 ราย, ชลบุรี 204 ราย, ร้อยเอ็ด 180 ราย, ภูเก็ต 175 ราย, สมุทรปราการ 117 ราย และมหาสารคาม 103 ราย


ย้ำผู้ที่ฉีดวัคซีนเข็ม 2 ก่อน พ.ย. 64 รีบบูสเตอร์โดส

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า วันที่ 4 มกราคม ถือเป็นวันแรกของการรับมือโควิด-19 เข้าปีที่ 3 สิ่งที่คาดหวังในปีนี้ คือการปรับระบบให้กลายเป็นโรคประจำถิ่น โดยมีปัจจัยหลัก 3 อย่างได้แก่ 1.เชื้ออ่อนลง ไม่ทำให้คนที่ติดเชื้อถึงขั้นเสียชีวิต แต่แพร่กระจายได้มากขึ้น ซึ่งตรงกับสายพันธุ์โอไมครอน 2.ประชากรมีภูมิคุ้มกันมากขึ้น เกิดได้จากการฉีดวัคซีน ซึ่งปีนี้จะเป็นการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเข็ม 3  หรือเข็ม 4 และ 3.การจัดการสิ่งแวดล้อม ลดความเสี่ยง การรักษาดีขึ้น ทำให้ระบบสาธารณสุขรองรับได้และมียามากขึ้น 

อย่างไรก็ตาม ขอเน้นย้ำผู้ที่ฉีดวัคซีนเข็ม 2 ก่อนวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ให้ไปรับการฉีดวัคซีนบูสเตอร์หรือเข็ม 3 ได้ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน ส่วนบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ด่านหน้า ประชาชนกลุ่มเสี่ยง ที่ฉีดเข็ม 3 แล้วเกิน 3 เดือน ให้เข้ารับเข็ม 4 ได้ เพื่อรองรับการระบาดของสายพันธุ์โอไมครอนต่อไป

นพ.โอภาส กล่าวถึงข่าวการพบผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่และโควิด 19 พร้อมกันในประเทศอิสราเอลว่า 2 โรคนี้เกิดจากเชื้อคนละชนิด แต่คนสามารถติดเชื้อทั้ง 2 ชนิดพร้อมกันได้ แต่เกิดได้ไม่ง่ายนัก และพบเป็นครั้งแรก ซึ่งอาการของทั้ง 2 โรคนี้คล้ายคลึงกัน มีไข้ ปวดเมื่อยตามตัว หรือเป็นปอดบวมได้ จากที่ติดตามข่าวพบว่า เป็นหญิงตั้งครรภ์ อาการไม่รุนแรง และหายเป็นปกติแล้ว


ขอหน่วยงาน-สถานประกอบการ เน้น WFH

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ช่วงหลังเทศกาลปีใหม่สถานการณ์เริ่มเป็นไปตามที่คาดการณ์ คือ ผู้ป่วยอาการหนักและเสียชีวิตลดลงแต่พบสัญญาณผู้ติดเชื้อมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะจังหวัดท่องเที่ยวและจังหวัดที่มีผู้เดินทางกลับภูมิลำเนาจำนวนมาก จึงขอให้ประชาชนที่กลับจากการเดินทางช่วงปีใหม่เฝ้าระวังสังเกตอาการตนเอง 14 วัน ขอให้หน่วยงานและสถานประกอบการต่าง ๆ เน้นการทำงานที่บ้าน (Work From Home) ในสัปดาห์แรก พร้อมตรวจ ATK อย่างน้อย 2 ครั้ง ห่างกัน 3 วัน โดยเฉพาะผู้ที่เดินทางด้วยขนส่งสาธารณะนานเกิน 4 ชั่วโมง หรือไปในสถานที่ที่มีการรวมกลุ่มคนจำนวนมากและงดการรวมกลุ่มรับประทานอาหารร่วมกัน