วันนี้ (7 มกราคม 2567) พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ให้สัมภาษณ์ก่อนประชุมคณะรัฐมนตรี ร่วมกับ นายกรัฐมนตรี ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ถึงความคืบหน้า การจำคุกนอกเรือนจำ ที่กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม เตรียมบังคับใช้ในเดือนมกราคม 2568 นี้ ว่า ปัจจุบันคณะกรรมการที่ดูแลเรื่องนี้กำลังดำเนินการอยู่ ซึ่งเป็นอำนาจของกรมราชทัณฑ์ โดยหลังจากรับฟังความเห็นแล้ว อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ก็ต้องเอาผลไปพิจารณาให้ละเอียด เพราะอาจยังมีบางคนที่กังวลใจ ขณะนี้รับทราบว่ามีการประชุมกันอยู่ ส่วนใหญ่ตามหลักการก็เห็นด้วย เพียงแต่มีรายละเอียด เช่น ค่าสาธารณูปโภค ถ้าไปอยู่ในที่คุมขังที่เป็นสถานที่ราชการ จะดำเนินการอย่างไร หรือค่ากล้องวงจรปิดที่ต้องรายงานตัว หรือการติดกำไล EM ที่ต้องไปผูกอยู่กับงบประมาณ ซึ่งค่าใช้จ่ายเหล่านี้เป็นไปตามระเบียบที่ระบุอยู่แล้ว ซึ่งนำไปสู่การปฎิบัติของกรมราชทัณฑ์
ทั้งนี้ ได้มีการจำแนกผู้ต้องราชทัณฑ์ พัฒนาพฤตินิสัย ให้เอาหลักวิชาการมาใช้มากที่สุด เราอยากให้ราชทัณฑ์เป็นสถานที่ฟื้นฟู ได้มีชีวิตใหม่ ออกมาอยู่ในสังคมได้อีกครั้ง
ส่วนเรื่องการรับฟังความเห็นเรื่องอื่น ๆ นั้น พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ระบุว่า ให้ทางคณะกรรมการเป็นผู้ดำเนินการ เพราะเป็นเรื่องภายใน แต่มีประชาชนสนใจมาก และข้อวิจารณ์ว่าจะออกมาเพื่อคนใดคนหนึ่งหรือไม่นั้น ขอยืนยันว่าไม่เกี่ยว เราจะไม่เอาตัวคนใดคนหนึ่งมาตั้ง เพราะประเทศเรามีความแออัดมาก ทุกวันนี้ก็ถูกกล่าวหาว่าละเมิดสิทธิ์อยู่แล้ว ซึ่งจากนี้เราจะมีที่คุมขังไม่ว่าจะเป็นหน่วยราชการ หน่วยเอกชน ที่เป็นที่คุมขัง ซึ่งจะเป็นการแก้ไขปัญหาด้วยหลักนิติธรรมอย่างแท้จริง ไม่มีว่าเอามาช่วยเหลือคนนั้นคนนี้เด็ดขาด
ส่วนกรณีที่คุมขังเป็นบ้านพักส่วนตัว ก็มีระเบียบอยู่แล้ว และยิ่งจะถูกควบคุมมากด้วยซ้ำ และต้องดูว่าค่าใช้จ่ายในเรื่องการติดตั้งกล้องวงจรปิดของกรมราชทัณฑ์ กับบ้านพักส่วนตัว ระบบจะเป็นอย่างไรและเราจะมีเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ไปดูแลด้วย
สำหรับ 4 กลุ่มคนที่จะได้รับการพิจารณา เข้าเกณฑ์จำคุกนอกเรือนจำ ประกอบด้วย
1.กลุ่มที่ได้รับการจำแนก
2.กลุ่มที่ต้องได้รับการพิจารณาพฤตินิสัย
3.กลุ่มเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย
4.กลุ่มผู้ต้องขังเจ็บป่วย
โดย 4 กลุ่มนี้ จะผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการตั้งแต่ระดับเรือนจำ ระดับอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ซึ่งได้ให้นโยบายไปว่าไม่อยากให้ใช้ดุลพินิจมาก ให้ใช้หลักเกณฑ์ เพราะถือเป็นกติการ่วมกัน อีกทั้งยังได้จากการรับฟังความเห็น ที่ทุกคนเห็นด้วยในหลักการทั้งหมด และข้อเสนอแนะบางอย่างก็จะนำเข้าไปเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยไม่ต้องผ่านการพิจารณารัฐมนตรี แต่ในฐานะของคณะกรรมการกรมราชทัณฑ์ ที่มีคณะกรรมการชุดหนึ่ง ซึ่งมีตนเป็นประธาน รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องเช่นปลัดกระทรวงยุติธรรม ผู้พิพากษา ตำรวจ อัยการ เราก็ต้องดูให้มีการบริหารเป็นไปตามเจตนารมย์ของกฎหมายราชทัณฑ์ ซึ่งเราคำนึงถึงให้เกิดความสมดุล
ผู้สื่อข่าวสอบถามว่า กรณีของอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หากเดินทางกลับไทยจะเข้าเกณฑ์ 4 กลุ่มนี้ หรือไม่ ? พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ยืนยันว่า ไม่ได้เข้าเกณฑ์ เนื่องจาก นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีโทษเกิน 5 ปี โดยผู้ที่เข้าเกณฑ์ดังกล่าวจะต้องมีโทษไม่เกิน 4 ปี เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามว่า ถ้าโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ก็เข้าเกณฑ์ใช่หรือไม่ ? พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของหน่วยงานกรมราชทัณฑ์
พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวอีกว่า ปัจจุบันนี้กระทรวงยุติธรรมได้งบประมาณก่อสร้าง ปีละ 1 เรือนจำ แต่เรือนจำแต่ละที่มีอายุเฉลี่ย 90 ปี ซึ่งมีถึง 50 เรือนจำ และมีสภาพทรุดโทรม ซึ่งหลายประเทศใช้วิธีการคุมประพฤติ และเราพบว่า ในประเทศไทยใช้วิธีคุมประพฤติแล้ว มีการกระทำผิดซ้ำน้อยกว่าผู้ต้องขังที่อยู่หลังกำแพง เพราะได้อยู่กับชุมชน และมีมาตรการควบคุมที่หลากหลาย
ผู้สื่อข่าวสอบถามว่า สามารถควบคุมนอกเรือนจำได้เมื่อไหร่ ? พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ระเบียบนี้หลังมีขึ้นแล้ว ภายใน 90 วันต้องปฏิบัติตาม เพียงแต่ไม่มีการปฏิบัติตาม และเมื่อมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ระบุว่า รัฐต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ซึ่งตนมองว่าคนที่ไม่ออกระเบียบในขณะนั้น อาจจะเป็นประเด็นความกังวลอะไรก็ตาม ถ้าเป็นผู้บริหารที่ไม่มีภาวะผู้นำ การตัดสินใจปฏิบัติตามกฏหมายช้า ก็จะทำให้เรื่องคาราคาซัง และเมื่อเราจะไปประกาศยกระดับนิติธรรมให้เป็นสากล เมื่อมีการวัดและประเมินผล กรมราชทัณฑ์ ได้ผลประเมินต่ำสุดคือ 0.25 จากคะแนนเต็ม 1
ผู้สื่อข่าวสอบถามว่า การจำคุกนอกเรือนจำ มีคนที่โดนคดี ม.112 อยู่ในการพิจารณาด้วย กังวลหรือไม่ว่าจะถูกโจมตีทางการเมือง ? พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า “เรื่องความเป็นธรรม เราอย่าไปกลัวจะโดนโจมตี หากเรากล้าหาญที่จะให้ความเป็นธรรมและไม่อคติ”