ไม่พบผลการค้นหา
จากซีรีส์ดังสู่วิชาเรียนสุดเท่ และห้องเรียนสุดมันที่ทุกคนแสดงความเห็นได้เท่ากัน

หากคุณเป็นคอซีรีส์ในยุคปัจจุบัน คงเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่รู้จัก Game of Thrones หนึ่งในซีรีส์ยอดนิยมที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องแล้วถึง 7 ซีซัน แต่ความนิยมนี้ดูเหมือนจะไม่ได้หยุดแค่ในโลกของความบันเทิงอีกต่อไป เมื่อครูหนุ่มสองคนแห่งโรงเรียนกำเนิดวิทย์ จ.ระยอง จัดแจงออกแบบวิชาเรียน และเปิดวิชา Game of Thrones and Social Studies สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ทีมข่าววอยซ์ทีวีจึงขอโอกาสไปนั่งเรียนวิชานี้และพูดคุยกับคุณครูทั้งสอง



GoT 2.jpg


วิชาแบบนี้ก็ได้หรอ ?

"เห้ย ได้ด้วยหรอครู ?" ครูคิน (ภาคิน นิมมานนรวงศ์) คุณครูสังคมเล่าถึงสิ่งที่นักเรียนคนหนึ่งรู้ว่าครูแม็ก (สุรไกร นันทบุรมย์) และตัวเขาเองกำลังวางแผนจะเปิดวิชา Game of Thrones and Social Studies ขึ้น วิชานี้เริ่มต้นจากครูแม็ก ครูสังคมที่ชื่นชอบซีรีส์ Game of Thrones มาก จึงได้ชักชวนครูคินเพื่อนร่วมงาน มาร่วมกันวางแผนสร้างวิชานี้ให้เกิดขึ้นจริง ทั้งคู่ได้เล่าให้ฟังว่าพวกเขาพบว่าในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในโลกมีวิชาเรียนในทำนองเดียวกันนี้ที่นำสื่อบันเทิงมาปรับให้เป็นวิชาเรียน อย่างเช่นในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ก็มีวิชาที่จัดการเรียนการสอนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ยุคกลางโดยมองผ่านซีรีส์ Game of Thrones นี้

เมื่อมีสิ่งที่ยืนยันว่าการจัดการเรียนการสอนที่ใช้ซีรีส์เป็นตัวชูโรงสามารถทำได้จริง พวกเขาก็เริ่มพูดคุยกับนักเรียนว่าพวกเขาสนใจและติดตามซีรีส์เรื่องนี้กันบ้างหรือไม่ และหากเปิดเป็นวิชาเรียนจะมีนักเรียนสนใจมากแค่ไหน ท้ายที่สุดพวกเขาพบว่ามีนักเรียนให้ความสนใจไม่น้อย พวกเขาจึงลงมือออกแบบวิชาเรียนนี้ขึ้น ในฐานะวิชาเลือกเสรีที่นักเรียนสามารถเลือกลงทะเบียนเรียนได้ตามความพอใจของนักเรียนเอง ครูทั้งสองพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า วิชานี้จึงไม่ใช่วิชาที่บังคับให้เด็กต้องไปดู ต้องไปอ่าน แต่มันเกิดขึ้นจากการที่พวกเขาดูอยู่แล้ว อ่านอยู่แล้ว และมีวิชานี้เปิดขึ้นมาเพื่อรองรับความสนใจของนักเรียนและครูผู้สอน



GoT 6.jpg


ที่ซีรีส์ดัง มันปังเพราะประเด็น !

"ที่ซีรีส์มันดัง เพราะมันโดนใจคน ถ้ามันโดนใจคนแปลว่ามันต้องมีประเด็นที่ซ่อนอยู่" ครูคินกล่าวขณะที่เล่าให้ทีมข่าวฟังเกี่ยวกับวิชาเรียนนี้ ในขณะที่ครูแม็กได้เล่าถึงการเรียนการสอนวิชาสังคมตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษา ว่าสังคมศึกษาว่ามีเนื้อหาอยู่ทั้งหมด 5 กลุ่มสาระ ได้แก่ ศาสนาและจริยธรรม หน้าที่พลเมือง เศรษฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และภูมิศาสตร์ ซึ่งในวิชาบังคับครูทั้งสองได้สอนเนื้อหาเหล่านี้ไปแล้ว แต่เมื่อจะเปิดวิชา Game of Thrones ก็จะต้องทำให้เนื้อหาสอดคล้องไปกับสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ด้วย ท้ายที่สุดจึงแบ่งเนื้อหาเป็นประเด็น ๆ ในแต่ละสัปดาห์ที่มีการเรียนการสอน ได้แก่ ภูมิศาสตร์ ศาสนาความเชื่อ วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ การเมือง จิตวิทยา วรรณกรรม และสุนทรียศาสตร์ และอาจมีบางประเด็นที่สามารถแตกรายละเอียดลงไปได้อย่างเช่น ความหลากหลายของผู้คนในสังคม โดยประเด็นทางวิชาการทั้งหมดนี้ จะถูกบอกเล่า เปรียบเทียบ และเชื่อมโยงจากเรื่องราวในซีรีส์มากสู่เรื่องราวทางสังคมบนโลกจริง ๆ



GoT 3.jpg


ศักยภาพครูถูกใช้ เมื่อโรงเรียนเข้าใจ

ในวันที่ทีมข่าววอยซ์ทีวีออนไลน์ได้ขอเข้าไปร่วมเรียนด้วยนั้น ได้มีโอกาสไปเรียนวิชาอื่น ๆ ในหมวดสังคมศึกษาของครูทั้งสองคนนี้ด้วย และเราก็ได้พบกับการเรียนการสอนที่สนุกเร้าใจ อัดแน่นไปด้วยเนื้อหาและกิจกรรมที่ไม่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้มีเวลาเบื่อเลย ครูคินและครูแม็กเล่าว่าการเรียนการสอนที่ทั้งสนุก ได้ความรู้และเปิดโอกาสให้นักเรียนมีบทบาทอย่างมากนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากโรงเรียนไม่เข้าใจ ไม่เปิดโอกาส และสนับสนุนให้พวกเขาออกแบบการเรียนการสอนลักษณะนี้

เช่นเดียวกับวิชา Game of Throne ที่จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากโรงเรียนไม่ให้อิสระและอำนาจอย่างเต็มที่ในการออกแบบวิชาเรียนแก่ครู พวกเขาเล่าให้ฟังว่าพวกเขาทำงานอย่างเต็มที่ในการออกแบบวิชานี้ เพื่อให้เนื้อหาครอบคลุม และดำเนินการเรียนการสอนได้อย่างน่าสนใจ แล้วจึงนำแผนดังกล่าวไปเสนอกับคณะกรรมการบริหารของโรงเรียน พวกเขาได้รับความคิดเห็นและคำแนะนำหลายอย่าง และท้ายที่สุดวิชาดังกล่าวก็ถูกอนุมัติให้เปิดสอนได้ โดยไม่ถูกมองว่าการนำสื่อบันเทิงมาใช้เป็นหลักในรายวิชา เป็นสิ่งที่ "ไร้สาระ" คุณครูทั้งสองยังเล่าให้ฟังว่า ต้องขอบคุณความโด่งดังของซีรีส์เรื่องนี้ด้วย เพราะมันดังพอที่จะทำให้ผู้บริหารรู้จัก และเข้าใจว่าเราจะทำการเรียนการสอนได้จริงจากเนื้อหาของมัน



GoT 5.jpg


ความไร้สาระที่มีสาระ

เมื่อได้รับไฟเขียว และวิชานี้ได้เปิดสอนมาเป็นเวลาเกือบครึ่งภาคเรียนแล้ว เราจึงได้ชวนคุยถึงผลที่เกิดขึ้นจากวิชาที่เป็นเหมือน "งานทดลอง" ของทั้งผู้เรียนและผู้สอนนี้ ครูแม็กได้บอกกับเราว่า ในเมื่อเราเลือกทำสิ่งที่มันแตกต่าง และมันได้เป็นวิชาเลือกเสรีแล้ว ก็อยากทำให้รูปแบบมันแตกต่างออกไปจากการนั่งเรียนและสอบแบบที่วิชาส่วนใหญ่เป็น โดยดำเนินการเรียนการสอนให้มีลักษณะของการพูดคุยเพื่อแลกเปลี่ยนและถกเถียง ซึ่งนั่นทำให้เกิดการเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กันทั้งผู้เรียนและผู้สอน เพราะบางเรื่องประเด็นครูรู้นักเรียนไม่รู้ ในทางกลับกันก็มีเรื่องที่นักเรียนรู้และครูไม่รู้เช่นกัน

นอกจากรูปแบบการเรียนการสอนแล้ว ความคาดหวังถึงผลที่จะเกิดขึ้นกับตัวนักเรียนก็มีความน่าสนใจไม่แพ้วิชาเรียน ครูคินบอกว่า ความคาดหวังพื้นฐานที่สุดของวิชานี้คือ อยากให้ผู้เรียนได้เห็นว่า แม้กระทั่งเรื่องไร้สาระในสายตาคนทั่วไป มันมีบางอย่างซ่อนอยู่ตรงนั้นเสนอ อย่างการดูการ์ตูน ดูหนัง เล่นเกม และติดซีรีส์ ที่มักถูกจัดว่าเป็นเรื่อง 'ไร้สาระ' สำหรับเด็กในวัยเรียน มันมี 'สาระ' ได้ถ้าเราหามันเจอ เพราะหลาย ๆ สิ่งมันมีสาระได้ถ้าเราพยายามมองหาหรือเชื่อมโยงมันได้ และวิชาแบบนี้ที่จะนำทางและชักชวนให้ "คุณสามารถหาสาระจากสิ่งที่มันดูไร้สาระได้"


'การจำได้' ไม่ใช่หัวใจของการเรียนสังคม

แม้ว่าจะทำการเรียนการสอนไม่ได้เพียงแค่เกือบ ๆ ครึ่งเทอม แต่วิชานี้กลับได้รับความสนใจเกินกว่าที่ครูทั้งคู่คิด จากนักเรียนที่ลงทะเบียนเรียน 6 คน ในปัจจุบันมีนักเรียนทั้งที่ลงทะเบียนและไม่ลงทะเบียนมานั่งเรียนด้วยนับสิบ (จากนักเรียนราว 70 คนต่อระดับชั้น) ซึ่งเกิดจากความน่าสนใจของเนื้อหาและวิธีการสอนของพวกเขา มากไปกว่านั้นยังมีคุณครูชาวต่างชาติที่สอนในโรงเรียนมานั่งเรียนและแลกเปลี่ยนในห้องเรียนด้วย ครูทั้งสองเล่าเรื่องราวเหล่านี้ให้เราฟังด้วยความอิ่มเอมและภูมิใจ ครูทั้งคู่ยังช่วยกันเสริมอีกว่า สิ่งชอบมากคือ แววตาของเด็ก พอเราเห็นเด็กสนใจ โดยเราไม่ต้องบอกให้เค้าสนใจ พอเปิดวิชานี้ขึ้นมามีสิ่งที่เขาดีใจคือ มีเด็กที่ไม่ได้ลงทะเบียนมาขอเข้าเรียน แม้ว่าโรงเรียนเน้นเรื่องวิทยาศาสตร์ แต่เด็กเห็นว่ามิติทางสังคมมันสำคัญ เราไม่สามารถมีโรงเรียนวิทยาศาสตร์ที่ดีได้ โดยละเลยมิติทางสังคม

ครูคินกล่าวว่า

"...หัวใจสำคัญของวิชาสังคม มันต้องเป็นวิชาที่เปิดโอกาสให้คนเรียนได้คิด ได้ศึกษา ได้พยายามทำความเข้าใจประเด็นต่าง ๆ ในชีวิต

ไม่เคยอยากให้ได้ความรู้ร้อยเปอร์เซ็นต์ที่ผมสอน มันเป็นไปไม่ได้ ถ้าเราเป็นนักเรียน เราก็ไม่มีทางรู้ได้ขนาดนั้น

อยากให้เขาได้อย่างอื่น ได้ทักษะในการคิด วิธีในการตั้งคำถาม รู้ว่าการหาความรู้มันจำเป็น ทั้งหมดนี่มีความหมายสำหรับวิชา ม.ปลาย ที่นี่..."



ห้องเรียน Game of Thrones นี้ เป็นห้องเรียนแรก ๆ ที่เกิดขึ้นในไทย โดยเฉพาะในระดับมัธยมศึกษา ที่ได้นำความสนใจของสื่อบันเทิงมาเป็นเครื่องมือและประเด็นในการเรียนการสอน จากเรื่องราวที่ทีมข่าวนำมาเล่าให้ฟังนี้ เราคงพอจะเห็นว่ามีทางเลือกที่จะทำให้การเรียนการสอนน่าสนใจ อันเป็นประโยชน์ต่อทั้งผู้เรียนและผู้สอน การศึกษาเป็นประเด็นที่ประเทศต่าง ๆ ให้ความสำคัญมาเสมอ แต่ก็มีหลายครั้งที่ถูกตั้งคำถามว่าการศึกษาและระบบการศึกษานั้นล้มเหลว อย่างไรก็ดีกรณีตัวอย่างจากห้องเรียนแห่งนี้ อาจจะช่วยทำให้เรามีหวังและคาดหวังได้กับการผลักดันและพัฒนาการศึกษาต่อไป


________________________________________________________________


ของแถมสำหรับแฟน ๆ Game of Thrones

ทีมข่าวของเราชวนคุณครูและนักเรียนในวิชา Game of Thrones and Social Studies ให้เปรียบเทียบวิชาเรียนนี้กับตัวละครหรือตระกูลต่าง ๆ ในซีรีส์ และนี่คือคำตอบของพวกเขา


ทีเรียน แลนนิสเตอร์

คุณครูทั้งสองมีความเห็นตรงกันว่าวิชานี้มีบุคลิกและลักษณะเหมือนทีเรียน แลนนิสเตอร์ เพราะว่า ทีเรียนเป็นคนแสวงหาความรู้และข้อมูล และเขาก็สนุกไปกับมัน เช่นเดียวกับห้องเรียนนี้ที่ทำให้ทั้งครูและนักเรียนเพลิดเพลินไปกับความรู้ ในอีกทางหนึ่งห้องเรียนนี้เน้นให้เด็กใช้ความคิด เช่นเดียวกับสิ่งที่ทีเรียนเป็นในซีรีส์ เขาไม่ได้รบเก่ง ไม่ได้แข็งแรงที่สุด แต่เป็นตัวละครที่มีมีบทบาทมากที่สุดในเรื่องตัวหนึ่ง เป็นตัวละครที่ไม่ได้บังคับ หรือสั่ง หรือใช้เงิน เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งต่าง ๆ แต่มาจากการที่เขาคิด ตั้งคำถาม วางแผน ให้คำแนะนำ และพูดคุย องค์ประกอบเหล่านี้คือสิ่งที่ทุกคนควรจะมี ไม่ว่าเด็กจะไปเป็นอะไร นี่อาจจะเป็นพื้นฐานที่ดีในอนาคตของเด็ก และน่าจะส่งผลที่ดีต่อตัวเขาเองและสังคมในระยะยาว


ยารา เกรย์จอย

นายสิรวิชญ์ จัดจ้าน นักเรียนที่เรียนวิชานี้คิดว่าห้องเรียนนี้มีลักษณะใกล้เคียงกับ ยารา เกรย์จอย เพราะตัวละครหญิงนี้ไม่ได้อยู่ในกรอบของขนบดั้งเดิมอย่างตัวละครหญิงอื่น ๆ ในเรื่อง เธอสามารถทำทุกอย่างได้อย่างเท่าเทียมเหมือนกับที่ตัวละครชายในเรื่องเป็น ห้องเรียนนี้ก็เหมือนกัน ทุกคนมีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็น ไม่ต้องมัวแต่ก้มหน้าก้มตาเรียนตามสิ่งที่ครูสอน


ตระกูลแลนนิสเตอร์

นางสาวปิยธิดา แสงอ่อน นักเรียนอีกคนในวิชานี้ มองว่าห้องเรียนนี้มีลักษณะคล้ายตระกูลแลนนิสเตอร์เนื่องจากทุกคนในห้องเรียนทั้งครูและนักเรียน เป็นคนที่มีศักยภาพ มีความรู้ และมีการพูดคุยถกเถียงกันอยู่ตลอด เหมือนตระกูลแลนนิสเตอร์ที่ทุกคนมีความสามารถแตกต่างกัน มีความเห็นไม่ตรงกัน แต่ก็ยังเลือกใช้วิธีการพูดคุยถกเถียงกันในการแก้ปัญหาอยู่บ่อยครั้ง

ธนชัย วรอาจ
0Article
0Video
0Blog