โครงการ UN Women เผยผลสำรวจสถานการณ์แรงงานข้ามชาติทั่วโลก ช่วงปี 2000-2015 (พ.ศ.2543-2558) เนื่องในวันผู้อพยพย้ายถิ่นสากล ซึ่งตรงกับวันที่ 18 ธันวาคมของทุกปี พบว่าแรงงานข้ามชาติทั่วโลกมีจำนวนกว่า 244 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นราว 41 เปอร์เซ็นต์ตลอด 15 ปีที่ผ่านมา และแรงงานข้ามชาติเหล่านี้เป็นผู้ส่งเงินกลับไปประเทศยังภูมิลำเนาเป็นเงินรวมกว่า 432,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 14.2 ล้านล้านบาทต่อปี โดยผู้หญิงคิดเป็นจำนวนเกือบครึ่งของแรงงานข้ามชาติทั้งหมด ถือเป็นแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่สำคัญของโลก
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ของแรงงานข้ามชาติที่เป็นผู้หญิงยังอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยง และถูกละเมิดสิทธิด้านต่างๆ รวมถึงถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ และตกเป็นเป้าหมายของขบวนการค้ามนุษย์ ซึ่งมักฉวยโอกาสในกรณีที่แรงงานข้ามชาติเดินทางเข้าประเทศปลายทางโดยไม่มีเอกสารรับรองตามกฎหมาย หรือมีการขูดรีดค่านายหน้า และแม้แต่ผู้เดินทางเข้าประเทศอย่างถูกกฎหมายก็อาจเจอกับความเสี่ยงทางกายภาพหรือการทำงานอย่างต่อเนื่องในสภาวะที่ไม่เป็นผลดีต่อร่างกาย ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพอื่นๆ ตามมา ซึ่งประเทศที่พึ่งพิงแรงงานเหล่านี้ต้องดำเนินการด้านต่างๆ โดยคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนที่ครอบคลุมและเป็นธรรม
พรวิช วิศิษฏ์โอฬาร ช่างภาพสารคดีซึ่งลงพื้นที่ร่วมกับยูเอ็น วีเมน เพื่อสำรวจชีวิตแรงงานหญิงข้ามชาติในไทย ทั้งจังหวัดเชียงใหม่ ระยอง และนครนายก ซึ่งทำงานในธุรกิจโรงแรมและภาคเกษตร พบว่าแรงงานจำนวนมากถือเป็นกลไกขับเคลื่อนธุรกิจต่างๆ ให้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง แต่สภาพความเป็นอยู่ของแรงงานเหล่านี้แตกต่างจากภาพสวยงามที่เห็นภายนอก
"เราเข้าห้องไป แอร์เย็นสบาย แต่ว่าเบื้องหลังมันไม่ได้สวยงามเสมอไป อย่างการปูเตียง เขาใช้คนแค่คนเดียว น่าจะทั้งโรงแรม เวลาที่ทุกคนเช็คอิน-เช็คเอาท์พร้อมกัน จะเป็นการกดดันเรื่องเวลา" พรวิชกล่าว
นอกจากนี้ ผู้หญิงไทยจากต่างถิ่นจำนวนหนึ่งก็เข้าไปทำงานในอุตสาหกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วย เช่น การทำร่มกระดาษในจังหวัดเชียงใหม่ ต้องอยู่กับสารเคมีที่มีกลิ่นแรง เช่น แล็กเกอร์ เกือบตลอดทั้งวัน ส่วนผู้หญิงที่ทำงานในเหมืองแร่ดีบุกต้องร่อนแร่ในลำธาร ต้องยืนในท่าก้มตัวเกือบจะตลอดเวลา และการทำงานในสภาพเช่นนี้อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานย่อมส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างไม่มีทางเลี่ยง แต่กลุ่มแรงงานเหล่านี้มักจะไม่ได้รับการคุ้มครองที่ครอบคลุมถึงอาการเจ็บป่วยที่เป็นผลจากการทำงาน
ขณะที่ ปิยะวิทย์ ทองสะอาด ช่างภาพสารคดีอีกคนหนึ่งที่เข้าร่วมบันทึกภาพแรงงานข้ามชาติกับยูเอ็น วีเมน พูดถึงงานอันตรายที่แรงงานหญิงต้องดูแล เช่น ตลาดวัวที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ผู้หญิงพม่าจะคอยต้อนฝูงวัวขึ้นรถบรรทุก โดยผู้หญิงเพียงคนเดียวต้องดูแลวัวหลายสิบตัว เสี่ยงต่อการถูกวัวเตะหรือดีด ซึ่งอาจได้รับบาดเจ็บหรือถึงขั้นเสียชีวิตได้ และช่วงที่ผ่านมาก็มีการระบาดของโรคแอนแทร็กซ์ในฝูงวัว ทำให้แรงงานกลุ่มนี้เสี่ยงต่อการล้มป่วย แต่ก็ไม่มีการคุ้มครองจากนายจ้างอย่างที่ควรจะเป็น
ปิยะวิทย์ระบุด้วยว่า แรงงานภาคเกษตรต้องเผชิญกับสารเคมีที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เช่น ยาฆ่าวัชพืช ทั้งยังต้องเจอกับสภาพอากาศที่รุนแรง ทั้งความร้อนและฝุ่นควันที่เกิดจากการปรับพื้นที่ในแปลงเกษตร การดูแลแรงงานข้ามชาติเหล่านี้จึงจำเป็นต้องร่วมมือกันตั้งแต่นายจ้าง หน่วยงานรัฐ และผู้จัดหาแรงงาน โดยจะต้องดูตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ขณะที่ปัจจุบันแรงงานจำนวนมากถูกกดค่าแรงเพราะนายจ้างไม่สามารถรับมือกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวได้ หากต้องขึ้นค่าแรงขั้นต่ำย่อมส่งผลกระทบต่อธุรกิจ
"ถ้าจะเข้าไปดูแล ตรงไหนดีที่สุดก็พูดลำบาก เวลาเข้าไปคุยกับนายจ้าง เขาบอกว่าถ้าเศรษฐกิจมันเป็นอย่างนี้ แล้วต้องจ้างราคานี้ เท่าค่าแรงขั้นต่ำ เขาก็ไปไม่ไหว พอไปไม่ไหว คนพวกนี้ก็จะเป็นคนกลุ่มแรกเลยที่ถูกกด แต่มันเป็นวงกลม ต้องดูตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพราะถ้าไม่กดคนกลุ่มนี้ คนจ้างก็ไม่ไหว เพราะเศรษฐกิจมันไม่ดี"
องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) ระบุว่า ผู้คนย้ายถิ่นฐานไปต่างแดนด้วยเหตุผลแตกต่างกันไม่ว่าจะเป็นการหลบหนีภัยสงครามหรือความขัดแย้ง ย้ายถิ่นเพื่อการศึกษา และการหางานทำเพื่อแก้ปัญหาความยากจน ส่วนในประเทศไทยปัจจุบันมีแรงงานข้ามชาติย้ายถิ่นฐานเข้ามาทำงานประมาณ 4-5 ล้านคน โดยประเทศต้นทางหลักๆ ได้แก่ เมียนมา เวียดนาม ลาว และกัมพูชา
อย่างไรก็ตาม แรงงานข้ามชาติประมาณ 1 ถึง 2.5 ล้านคนในจำนวนทั้งหมดเกือบ 5 ล้านคน เป็นผู้ย้ายถิ่นที่ไม่มีเอกสารอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ทำให้กลุ่มคนเหล่านี้เป็นกลุ่มเปราะบาง เสี่ยงต่อการถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้างและเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งมีพฤติกรรมทุจริต ถูกชักจูงเข้าสู่ขบวนการค้ามนุษย์และกลุ่มอาชญากรรมอื่นๆ ได้ง่าย แต่รัฐบาลไทยต้องหาทางควบคุมและแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจัง
รายงาน: ตติกานต์ เดชชพงศ
ภาพ: UN Women/Piyavit Thongsa-Ard และ Pornvit Visitoran