ไม่พบผลการค้นหา
กรมควบคุมโรค เตือนประชาชนในช่วงเทศกาลวันลอยกระทงปีนี้ ให้ระวังอุบัติเหตุจากการจุดประทัด ดอกไม้ไฟ และพลุ แนะผู้ปกครองดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด ห้ามเด็กจุดประทัดเด็ดขาด อาจทำให้ได้รับบาดเจ็บที่รุนแรงได้

นายแพทย์อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีและโฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวว่า วันลอยกระทงในปี 2561 นี้ ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 22 พ.ย. ซึ่งในแต่ละพื้นที่จะมีการจัดกิจกรรมตามประเพณีและมีประชาชนจำนวนมากร่วมงานดังกล่าว ซึ่งทุกปีจะมีผู้ได้รับอันตรายจากการจุดดอกไม้ไฟจำนวนไม่น้อย จากข้อมูลเฝ้าระวังการบาดเจ็บ 33 แห่ง ของสำนักระบาดวิทยา ระหว่างปี 2556-2560 พบผู้บาดเจ็บจากการจุดประทัด ดอกไม้ไฟ และพลุ เฉลี่ยปีละ 505 ราย ในปี 2560 พบ 279 ราย โดยร้อยละ 92.48 เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี และร้อยละ 90.3 เป็นเพศชาย ซึ่งพบว่ากลุ่มเด็กและเยาวชนน่าเป็นห่วงที่สุด เพราะอาจรู้เท่าไม่ถึงการณ์ซื้อประทัด ดอกไม้ไฟ และพลุ มาจุดเล่นเองตามลำพังหรือในกลุ่มเพื่อนรุ่นเดียวกัน ทำให้มีโอกาสที่จะได้รับบาดเจ็บที่รุนแรง เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น 

กรมควบคุมโรค ขอความร่วมมือหน่วยงานต่างๆ เฝ้าระวังและควบคุมการจุดประทัดดังกล่าว โดยเฉพาะผู้ปกครองต้องดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิดและควรสอนเด็กว่าประทัด ดอกไม้ไฟ และพลุไม่ใช่ของเล่นและเป็นวัตถุอันตรายสำหรับเด็ก และห้ามเด็กนำประทัด ดอกไม้ไฟ และพลุมาจุดเล่นเด็ดขาด และไม่ควรให้เด็กอยู่ใกล้กับบริเวณที่มีการจุดประทัด ดอกไม้ไฟ และพลุ

สำหรับผลกระทบต่อสุขภาพจากประทัด ดอกไม้ไฟ และพลุ มีหลายด้าน ดังนี้ 

1) อันตรายจากการเกิดไฟไหม้และการระเบิด ก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิต และทรัพย์สินที่เสียหาย การบาดเจ็บรุนแรงอาจสูญเสียอวัยวะสำคัญ หรือเสียชีวิตได้ 

2) อันตรายจากการได้รับสารเคมีต่างๆ ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนังและระบบทางเดินหายใจ ระคายเคืองต่อหู ตา จมูก และอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายในระยะยาวได้ 

3) อันตรายจากเสียงของระเบิดจากพลุและดอกไม้เพลิง มีผลทำให้เกิดอาการหูตึงชั่วคราว หากได้ยินติดต่อกันเป็นเวลานานอาจส่งผลให้เกิดอาการหูตึงถาวร และยังมีผลต่อสุขภาพจิต ทำให้เกิดความรู้สึกหงุดหงิด รำคาญ ส่งผลให้นอนไม่หลับ ทำให้สุขภาพร่างกายอ่อนแอ อาจส่งผลต่อผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้วให้เกิดอาการมากขึ้น