ไม่พบผลการค้นหา
เกิดเหตุโจมตีด้วยอาวุธเคมีในเมืองโกตา ฐานที่มั่นสุดท้ายของกลุ่มกบฏในซีเรีย มีผู้เสียชีวิตกว่า 70 ราย แต่รัฐบาลปฏิเสธความรับผิดชอบ โดยระบุว่าการกล่าวอ้างของฝ่ายกบฏว่าถูกโจมตีด้วยแก๊สพิษ เป็นเรื่องโกหก

White Helmet กลุ่มอาสาสมัครกู้ภัยในซีเรีย ทวีตภาพเหตุการณ์ที่ประชาชนในเขตตะวันออกของเมืองโกตา ฐานที่มั่นสุดท้ายของฝ่ายกบฏในซีเรีย เผชิญกับการโจมตีด้วยแก๊สพิษ โดยเหตุการณ์นี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 70 ราย และบาดเจ็บอีกกว่าพันคน 

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีใครสามารถยืนยันอย่างเป็นทางการได้ว่ามีการใช้อาวุธเคมีโจมตีประชาชนในซีเรียอีกครั้งจริงหรือไม่ โดยรัฐบาลสหรัฐฯเปิดเผยเพียงว่ากำลังติดตามตรวจสอบเหตุการณ์นี้อย่างใกล้ชิด และหากมีการใช้อาวุธเคมีจริง รัฐบาลรัสเซีย ซึ่งให้การสนับสนุนรัฐบาลนายบาชาร์ อัล-อัสซาด ประธานาธิบดีซีเรีย และร่วมในสงครามปราบปรามฝ่ายกบฏ จะต้องรับผิดชอบด้วย ส่วนรัฐบาลซีเรียยืนยันมาโดยตลอดว่าข้อหาที่ฝ่ายกบฏอ้างว่ารัฐบาลใช้อาวุธเคมีเป็นเรื่องโกหก

หน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนและสื่อในพื้นที่เมืองโกตารายงานตรงกันว่ามีการใช้อาวุธเคมีโจมตีประชาชน แต่ตัวเลขผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตแตกต่างกัน อยู่ที่ประมาณ 40-75 ราย โดยโรงพยาบาลในพื้นที่ยืนยันยอดผู้เสียชีวิตที่ 75 ราย แต่ในสมรภูมิมีรายงานว่าผู้เสียชีวิตมีกว่า 180 ราย แต่ยังไม่สามารถนำส่งโรงพยาบาลได้ เนื่องจากการสู้รบยังดำเนินอยู่ในพื้นที่

สื่อท้องถิ่นรายงานว่าการโจมตีเป็นลักษณะของการทิ้งระเบิดจากเฮลิคอปเตอร์ โดยสารเคมีที่ใช้น่าจะเป็นแก๊สซาริน ซึ่งเป็นสารพิษทำลายระบบประสาท และถูกสหประชาชาติระบุว่าเป็นหนึ่งในสารต้องห้ามที่เข้าข่ายอาวุธเคมี ผู้ที่โดนสารเคมีมีอาการชัก น้ำลายฟูมปาก หายใจไม่ออก ซึ่งเป็นอาการของผู้ถูกสารพิษกลุ่มสารทำลายระบบประสาท และแก๊สคลอรีน

000_1199BQ.jpg

รัฐบาลซีเรียมีประวัติต้องสงสัยว่าใช้อาวุธเคมีปราบปรามฝ่ายกบฏอย่างต่อเนื่อง โดยครั้งแรกเกิดขึ้นในปี 2013 ขีปนาวุธบรรจุแก๊สซารินถูกยิงใส่ฐานที่มั่นของกลุ่มกบฏในเมืองโกตาฝั่งตะวันออก สังหารประชาชนไปหลายร้อยราย สหประชาชาติยืนยันว่ามีการใช้อาวุธเคมีจริงในเหตุการณ์ดังกล่าว แต่ไม่ได้ชี้ชัดว่าฝ่ายใดเป็นผู้ก่อเหตุ แม้มหาอำนาจตะวันตกจะยืนยันว่ามีเพียงรัฐบาลซีเรียเท่านั้นที่มีศักยภาพในการครอบครองและใช้อาวุธเคมีก็ตาม

นอกจากนี้ ในเดือนเมษายน 2017 ยังมีผู้เสียชีวิตกว่า 80 รายจากการโจมตีด้วยแก๊สซารินในเมืองข่านชีคูน และสหประชาชาติร่วมกับองค์การต่อต้านการใช้อาวุธเคมี หรือ OPWC ก็ยืนยันว่ารัฐบาลซีเรียเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการโจมตีดังกล่าว และมีการใช้อาวุธเคมีอย่างน้อย 3 ครั้งในช่วง 7 ปีที่ผ่านมาของสงครามกลางเมืองซีเรีย ส่วนในช่วงต้นปี 2018 ก็มีการใช้อาวุธเคมีประเภทแก๊สคลอรีนโจมตีฝ่ายกบฏหลายครั้ง แต่ไม่มีหลักฐานยืนยันชัดเจน