ไม่พบผลการค้นหา
ความที่คนไทยเราเคยชินกับการอยู่ในสังคมประชาธิปไตย 99.99% มานานเนี่ย หลายๆ ครั้งก็ทำให้เรามีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงบางประเทศที่เป็นเผด็จการไปมากเหมือนกัน

ในความเข้าใจสังคมเผด็จการที่คลาดเคลื่อนของคนจากสังคมประชาธิปไตยอย่างเราที่พบบ่อยที่สุดประการหนึ่งก็คือความเข้าใจที่ว่าผู้นำเผด็จการนั้นไม่ใส่ใจและไม่จำเป็นต้องห่วงกังวลว่าประชาชนจะคิดยังไงเกี่ยวกับรัฐบาลของตัวเอง เพราะผู้นำเผด็จการไม่ได้เข้ามาด้วยการเลือกตั้ง ดังนั้น ไม่ต้องแคร์ว่าคะแนนนิยมตัวเองจะเป็นยังไง จะทำอะไรก็ได้ไม่ต้องเห็นศีรษะประชาชนอยู่ในสายตา 

ก็ขอบอกไว้ตรงนี้เลยนะคะว่านี่เป็นความเข้าใจที่ผิดโดยเฉพาะในกรณีที่เกี่ยวข้องกับสาธารณรัฐประชาชนจีนซึ่งปกครองโดยเผด็จการของพรรคคอมมิวนิสต์จีนตั้งแต่ปี ค.ศ. 1949 จวบจนถึงปัจจุบันนี้เข้าสู่ปีที่ 69 ย่าง 70 แล้วก็ยังเห็นศีรษะประชาชนในหลายแง่มุมอยู่นะคะ

เคยมีเพื่อนจีนคุยให้ฟังว่ารัฐบาลเผด็จการนั้นอยู่ยากกว่ารัฐบาลประชาธิปไตยนะเออ เพราะเหตุว่ารัฐบาลประชาธิปไตยพลาดแล้วอย่างมากก็คือสมัยหน้าสอบตกไม่ได้กลับมาเป็นรัฐบาลอีก แต่ยังไงซะก็ยังมีสมัยหน้าให้ลงสมัครรับเลือกตั้งใหม่ได้ แนวๆ เดียวกับเล่นหวย ชีวิตยังมีงวดหน้าเสมอ แต่รัฐบาลเผด็จการ ถ้าพลาดแล้วพลาดเลยนะ

ในกรณีจีน มีเผด็จการโดนโค่นอำนาจมาแล้วหลายครั้ง ตั้งแต่ราชวงศ์ชิง จนถึงสารพัดขุนศึก รัฐบาลก๊กมินตั๋งภายใต้การนำของจอมพลเจียงไคเช็ก จนถึงพวกแก๊งสี่คนที่นำการปฏิวัติวัฒนธรรม โดนโค่นไปแล้วยังไม่มีใครที่ได้กลับมาเป็นรัฐบาล ณ แผ่นดินใหญ่เป็นครั้งที่สองสักแก๊งเดียว และโดยมากก็ไม่ตายดีหรือไม่มีที่ยืนในสังคมจีนสมัยหลังเลยด้วยซ้ำ ดังนั้น เผด็จการต้องคิดให้จงหนักในเรื่องการชนะใจประชาชนเพราะถ้าประชาชนไม่ให้ความสนับสนุนแล้วท้ายที่สุดในเมื่อตัวเองยังปฏิวัติเข้ามาได้คนอื่นก็ปฏิวัติเข้ามายึดอำนาจรัฐบาลเผด็จการของคุณได้เหมือนกันค่า... อันนี้พูดถึงกรณีจีนนะคะ อย่าคิดลึก

ประเด็นที่จะยกตัวอย่างให้ฟังในวันนี้ก็คือ นโยบายประหลาดอันหนึ่งของประธานเหมาสมัยหลังสงครามเกาหลีหมาดๆ นโยบายหนึ่งนักวิชาการจีนศึกษาของไทยแปลชื่อไว้เสียไพเราะแบบนิยายกำลังภายในว่า “ขบวนการร้อยบุปผา” ซึ่งไม่เกี่ยวกับงานฝีมือขายพวงมาลัยแต่ประการใด แต่เป็นคำที่แปลมาจากสำนวนจีนตั้งแต่ยุคขงจื๊อที่แปลตรงตัวได้ประมาณว่า “ดอกไม้ร้อยดอกบานพร้อมกัน” หมายความว่าเป็นยุคเปิดกว้างทางความคิด ให้ทุกคนนำเสนอความคิด ปรัชญา นโยบายที่ดีเด่นของตัวเองมาประชันกัน เรียกว่าเป็นการระดมสมองแบบจีนโบราณนั่นแหละค่ะ เพราะช่วงปลายราชวงศ์โจวที่เป็นสมัยที่ขงจื๊อมีชีวิตอยู่ (ประมาณห้าร้อยปีก่อนคริสตกาล คือประมาณร่วมสมัยกับพระพุทธเจ้านั่นแหละ) เป็นยุคที่มีปราชญ์สารพัดสำนักเกิดขึ้นมากมายในแผ่นดินจีน เหมาก็ได้ไอเดียนี้มาว่าควรจะเปิดโอกาสให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นว่ารัฐบาลควรจะนำประเทศไปในทิศทางไหน และผลงานที่ผ่านมาของรัฐบาลเป็นอย่างไรบ้าง

ทั้งนี้ ความคิดเรื่องอยากจะฟังความคิดเห็นประชาชนนี้ก็มีที่มาที่ไปนะคะ ไม่ใช่อยู่ดีๆ ก็เกิดอยากฟังความเห็นขึ้นมาเฉยๆ และที่อยากฟังก็ไม่ใช่เพราะคิดว่าจะจัดการเลือกตั้งหรือเข้าสู่ความเป็นประชาธิปไตยอะไรหรอก ก็ยังยึดมั่นจะเป็นเผด็จการต่อไปนั่นแหละ เพียงแต่ว่ามันเกิดความเปลี่ยนแปลงในบริบทการเมืองโลกอย่างสำคัญ

กล่าวคือ ในปี ค.ศ. 1956 (พ.ศ. 2499) จีนเพิ่งจะผ่านแผนพัฒนาฉบับ 5 ปีแรกมาอย่างค่อนข้างสวยหรูงดงาม แม้จะเพิ่งสถาปนาประเทศมาไม่นานก็ประสบความสำเร็จในการปฏิรูปที่ดินและพัฒนาความเป็นอยู่ของประชากรที่เป็นชนชั้นกรรมาชีพในภาคเกษตร โดยเฉพาะชาวนา ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการปฏิวัติได้ดีขึ้นกว่ายุคก่อนหน้านั้นขึ้นมามาก และยังประสบความสำเร็จในการทำตัวเป็นพี่ใหญ่ส่งกำลังทหารไปช่วยบ้านพี่เมืองน้องคือเกาหลีเหนือรบกับกองกำลังของสหประชาชาติที่นำโดยสหรัฐอเมริกาในสงครามเกาหลีและสามารถช่วยรักษาเอกราชและอธิปไตยของฝ่ายคอมมิวนิสต์บนคาบสมุทรเกาหลีไว้ได้แม้ว่าจะถูกกดดันทางการเมืองและการทหารอย่างหนักจากอภิมหาอำนาจของโลกอย่างสหรัฐอเมริกาก็ตาม 

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นใกล้เคียงกับความสำเร็จของจีนในสงครามเกาหลีก็คืออสัญกรรมของสตาลินผู้เป็นจอมเผด็จการของสหภาพโซเวียตซึ่งเป็นประเทศลูกพี่ของจีนอีกต่อหนึ่ง และสิ่งที่ตามมาต่อจากนั้นก็คือหลังจากมีการต่อสู้ห้ำหั่นกันอย่างดุเดือดภายในกลุ่มผู้นำสหภาพโซเวียต

ปรากฏว่าผู้ที่ได้สืบทอดอำนาจเป็นผู้นำคนต่อมาคือ นิกิตา ครุสชอฟ นั้นไม่เห็นด้วยกับแนวทางการบริหารประเทศที่เน้นลัทธิบูชาตัวบุคคลของสตาลินและได้ประกาศแนวทาง de-Stalinization ซึ่งก็คือการลด ละ เลิกแนวทางต่างๆ ของสตาลินโดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับลัทธิบูชาตัวบุคคลนั่นเอง

ทีนี้ เหมา เจ๋อตุง ซึ่งเป็นแฟนคลับระดับติ่งเบอร์หนึ่งของสตาลินนั้นก็เลยเกิดความรับไม่ได้อย่างหนัก จึงคิดว่ารัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีนไม่อาจจะบริหารประเทศโดยเรียนรู้และรับคำแนะนำจากสหภาพโซเวียตได้อีกต่อไป เพราะผู้นำรุ่นใหม่ของโซเวียตกลายเป็นศิษย์นอกครูต่อต้านสตาลินขวัญใจเหมาไปเสียแล้ว

พูดง่ายๆ ก็คือเมื่อไม่อาจรอฟังคำแนะนำแกมสั่งจากสตาลินได้ต่อไป เหมาในฐานะผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนก็เกิดอาการไปไม่เป็นขึ้นมา ก็เลยคิดว่ากลับไปฟังเสียงประชาชนซึ่งเป็นเสียงสวรรค์น่าจะดีที่สุด ให้ประชาชนมาแสดงความคิดเห็นเหมือนดอกไม้ร้อยดอกบานพร้อมกันว่าจีนในยุคที่ไม่เดินตามสหภาพโซเวียตแล้วควรจะเดินต่อไปทางไหนดีหนา

สมัยนั้นก็ยังไม่มีสื่อสังคมออนไลน์ ประธานเหมายังไม่ทันได้เปิดเฟซบุ๊กหรือทวิตเตอร์หรอกค่ะ เขาใช้วิธีให้ประชาชนไปเขียนแสดงความคิดเห็นบนหนังสือพิมพ์กำแพงตามที่สาธารณะต่างๆ หรือส่งจดหมายมาแสดงความคิดเห็นหรือติชมกับผู้นำพรรคเลยก็ได้ ส่งกันมาได้เต็มที่อิสระเสรีไม่มีปิดกั้นค่ะ อยากฟังเสียงสวรรค์ อยากดูดอกไม้บานเต็มทุ่งเป็นร้อยๆ ดอกเพื่ออนาคตที่สดใสของสาธารณรัฐประชาชนจีน...

ผลเป็นยังไงคะ? โอ้โห... ทั่นผู้ชมขา ยังไม่ทันถึงปีเลยค่ะประธานเหมาต้องมาประกาศยุติแคมเปญนี้เพราะเขาว่าอยากเห็นดอกไม้ร้อยดอกทำไมท้ายที่สุดมีแต่ “หญ้าพิษ” ขึ้นมาเต็มไปหมด คือมีคนมาวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล มาด่าผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนโดยเฉพาะตัวเหมาเองเป็นจำนวนมาก มากจนรู้สึกว่ามันจะเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติเลยทีเดียว ก็เลยต้องมีการปรับเปลี่ยนแคมเปญค่ะ จากขบวนการร้อยบุปผากลายเป็นขบวนการปราบปรามฝ่ายขวา ก็มีการล้อมจับหมู่บรรดาคนที่แสดงความคิดเห็นต่อต้านรัฐบาลหรือวิพากษ์วิจารณ์ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ไปปรับทัศนคติเป็นการใหญ่ หลุดปากแสดงตัวออกมาแล้วนิ ก็เลยมีประชาชนซึ่งส่วนใหญ่เป็นปัญญาชนถูกลงโทษในข้อหามีความคิดเอียงขวาอนุรักษ์นิยม จักรวรรดินิยม ศักดินา ฯลฯ ราวสามแสนคนเลยทีเดียว

ประวัติศาสตร์เรื่อง “ขบวนการร้อยบุปผา” นี้ก็ยังเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันอยู่ในวงวิชาการอย่างต่อเนื่องนะคะ ว่าตกลงเหมาเป็นเผด็จการใจบางๆ อยากรับฟังความคิดเห็นประชาชนแล้วเกิดรับไม่ได้ในคำวิพากษ์วิจารณ์ หรือจริงๆ แล้วคือทำแคมเปญขึ้นมาหลอกให้เสี้ยนหนามฝ่ายขวาแสดงตัวออกมาเพื่อจะได้กวาดล้างได้สะดวกในเวลาต่อมา?

แต่ที่เราควรจะเรียนรู้ได้แน่นอนจากประวัติศาสตร์จีนตอนขบวนการร้อยบุปผานี้ก็คือ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลใด ไม่ว่าจะรู้สึกว่าตัวเองประสบความสำเร็จในการบริหารประเทศมากน้อยแค่ไหน หรืออยู่ในระบอบการปกครองแบบใด ถ้าเปิดโอกาสให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการทำงานของรัฐบาล... ก็จะต้องโดนด่าอย่างแน่นอนค่ะ

เพราะไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลเผด็จการคอมมิวนิสต์ยุคกลางศตวรรษที่ 20 หรือเผด็จการทหารศตวรรษที่ 21 หรือรัฐบาลประชาธิปไตย 99.99% ก็ตาม... ความสุขอันดับต้นๆ ของมวลชนทุกชาติทุกภาษาทุกวัฒนธรรมก็คือการสุมหัวกันนินทาผู้นำและวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลค่ะ

“อย่าบอกโรซี่”
คนทำงานวิชาการด้านประวัติศาสตร์จีน และจับตามองความสัมพันธ์ระหว่างจีนไทย และประเทศใหญ่น้อย
0Article
0Video
0Blog