ไม่พบผลการค้นหา
การศึกษาครั้งใหม่ในอุตสาหกรรมอาหารเผยข้อมูลเชิงลึกว่า การแสดงให้เห็น ‘ความโปร่งใส’ เป็นหัวใจสำคัญของการสร้างความเข้าใจ และเข้าถึงผู้บริโภคสมัยใหม่

วันนี้ ผู้บริโภครายย่อยหลายร้อยล้านคนทั่วโลกกำลังตั้งคำถามกับตัวเองว่า “ฉันควรซื้อสิ่งๆ นี้จริงหรอ?” แม้มันดูเหมือนเป็นคำถามง่ายๆ แต่จริงๆ แล้วกลับยากจะหาคำตอบ เมื่อการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารปริมาณมากเปรียบเสมือนแรงกระตุ้นความตื่นตัวเรื่อง ‘ความโปร่งใส’ ในการทำธุรกิจ

ปัจจุบัน ฝั่งผู้ผลิตต่างเร่งตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคด้วยการพยายามสรรหากระบวนการช่วยตรวจสอบความถูกต้อง ทั้งเรื่องสายพันธุ์ แหล่งผลิต คุณภาพน้ำ สภาพอากาศ สวัสดิภาพสัตว์ การค้าแบบเป็นธรรม การปฏิบัติต่อแรงงาน ฯลฯ เพื่อสร้างความไว้วางใจให้ผู้บริโภคที่กำลังเติบโตบนกระแสความยั่งยืน และปลอดภัย

อย่างกรณีผู้ผลิตไก่สดฟอสเตอร์ ฟาร์ม (Foster Farms) ซึ่งประกาศแปะคิวอาร์ โค้ด (QR Code) ลงบนบรรจุภัณฑ์ และเชื่อมโยงกับแพลตฟอร์มโดริ (DORI™) บนสมาร์ทโฟน ซึ่งมันมาพร้อมอิโมจิผู้หญิงหน้าตาเป็นมิตร เพื่อทำหน้าที่ดั่งผู้ช่วยเพิ่มความคล่องตัวในการเลือกซื้อสินค้า และเป็นเครื่องมือใหม่ในการแบ่งปันข้อมูลผลิตภัณฑ์กับผู้บริโภคที่ใส่ใจเรื่องความโปร่งใสมากเป็นพิเศษ

1.jpg
  • DORI ™ แพลตฟอร์มให้ข้อมูลสายพันธุ์ไก่ของฟอสเตอร์ ฟาร์ม เปิดตัวครั้งแรกเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา

บริษัทด้านข้อมูลผลิตภัณฑ์ (Label Insight) จากสหรัฐฯ และสถาบันการตลาดอาหาร (Food Marketing Institute: FMI) ซึ่งรวมกันทำการศึกษาความจำเป็นของการสร้างความโปร่งใสในอุตสาหกรรมอาหาร ได้เปิดเผยข้อมูลไตรมาส 3/2018 ที่เก็บจากการพูดคุยกับผู้บริโภคอายุมากกว่า 18 ปี จำนวน 2,022 คน จนกระทั่งพบว่า “ผู้บริโภคจะแสดงความจงรักภัคดีต่อผลิตภัณฑ์ที่สร้างความสัมพันธ์อันลึกซึ้งผ่านการแลกเปลี่ยนข้อมูล”

ผลการศึกษาระบุว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับประเด็นความโปร่งใสเพิ่มมากยิ่งขึ้น และต้องการเชื่อมโยงตัวเองกับข้อมูลอาหาร โดยมากกว่า 75 เปอร์เซ็นต์ “แสดงแนวโน้มการเปลี่ยนใจไปใช้แบรนด์อื่นๆ ที่ให้ข้อมูลผลิตภัณฑ์เชิงลึกมากกว่าข้อมูลพื้นฐานบนฉลาก” ทั้งๆ ที่จากการศึกษาเมื่อปี 2016 มีผู้บริโภคเพียงแค่ 39 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ที่เห็นพ้องต้องกันว่า พวกเขาอยากเปลี่ยนแบรนด์หากไม่ได้รับข้อมูลที่เพียงพอต่อความต้องการ

ผู้บริโภค 61 เปอร์เซ็นต์ยังบอกว่า พวกเขายินดีจ่ายเงินเพิ่มมากขึ้น เพื่อแลกกับผลิตภัณฑ์ที่มีข้อมูลเชิงลึกมากกว่า และผู้บริโภค 89 เปอร์เซ็นต์พร้อมเปลี่ยนไปใช้ผลิตภัณฑ์แบรนด์ใหม่ๆ หากไม่พึงพอใจกับข้อมูล ขณะเดียวกัน 47 เปอร์เซ็นต์จะหยิบสมาร์ทโฟนมาเสิร์ชหาข้อมูลเพิ่มเติ่มระหว่างเดินช้อปปิ้ง ซึ่งนั่นแสดงให้เห็นชัดเจนว่า ความคิดของผู้บริโภคกำลังเปลี่ยนแปลงไปในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

ด้านสถาบันการตลาดอาหารชี้ชัดด้วยว่า 86 เปอร์เซ็นต์ของผู้บริโภคยอมรับตรงกันว่า ถ้าผู้ผลิตอาหาร หรือผู้ค้าปลีกสามารถเข้าถึงคำจำกัดความที่ ‘สมบูรณ์’ และ ‘เข้าใจง่าย’ เกี่ยวกับส่วนประกอบทั้งหมดของอาหาร มันช่วยส่งผลให้ผู้บริโภคเกิดความไว้วางใจในผลิตภัณฑ์มากยิ่งขึ้น

สำหรับกลุ่มผู้บริโภคสูงอายุ พวกเขายิ่งต้องการ ‘ความโปร่งใสแบบหมดเปลือก’ เช่น การแสดงลิสต์รายการส่วนผสมทั้งหมด คำอธิบายสารประกอบอย่างละเอียด และบอกข้อมูลทางโภชนาการชัดเจน โดยเฉพาะกับกลุ่มผู้บริโภคเบบี้บูมเมอร์ (Baby Boomer) และเจเนเรชัน เอ็กซ์ (Gen X) ที่ทวีความต้องการด้านข้อมูลทุกมุมมองมากกว่ากลุ่มมิลเลเนียล (Millennial) เสียอีก เนื่องจากพวกเขาจำเป็นต้องใส่ใจ และดูแลสุขภาพเพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ ไม่ใช่ผู้บริโภคกลุ่มมิลเลนเนียลจะโนว์แคร์เรื่องข้อมูลอาหารเสียสิ้นเชิง เพียงแค่พวกเขามีสิ่งอื่นๆ ที่ต้องเน้นความสำคัญด้วยเช่นกัน ซึ่งไม่ใช่แค่เปรียบเทียบคุณภาพ ราคา หรือแหล่งผลิต คือส่วนใหญ่กลุ่มมิลเลนเนียลจะมองหาข้อมูลชนิดเดียวกันกับกลุ่มเบบี้บูมเมอร์ และเจเนเรชัน เอ็กซ์ แต่พวกเขาจะเลือกเพ่งพินิจข้อมูลอย่างลึกซึ้ง ทำให้ความสนใจเปลี่ยนไปเป็นข้อมูลเกี่ยวกับสารก่อภูมิแพ้ การรับรองทางการแพทย์ และรายละเอียดอื่นๆ เช่น สวัสดิภาพสัตว์ การค้าที่เป็นธรรม และการปฏิบัติด้านแรงงาน

จริงๆ แล้ว ข้อมูลเกี่ยวกับส่วนผสมของอาหารสำคัญกับผู้บริโภคเป็นอย่างมาก ไม่ใช่เพียงแค่ความสนใจของผู้บริโภคในประเด็นต่างๆ เช่น จริยธรรม แต่เป็นเพราะเกือบ 47 เปอร์เซ็นต์ของครอบครัวอเมริกันมีบางคนต้องควบคุมอาหาร หรือปฏิบัติตามโปรแกรมที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ

นอกจากนั้น การศึกษายังพบว่า การมีเด็กๆ อยู่ร่วมบ้าน ส่งผลต่อการเพิ่มความต้องการความโปร่งใส เนื่องจากผู้บริโภคที่มีลูกจะยิ่งเน้นย้ำความสำคัญของข้อมูลส่วนผสม สารอาหาร และประโยชน์ต่อสุขภาพ

ส่วนทางด้านผู้บริโภคผ่านระบบอีคอมเมิร์ซ นับเป็นกลุ่มที่คาดหวังกับข้อมูลมากกว่ากลุ่มอื่นๆ แต่ไม่ใช่เพราะพวกเขามีแนวโน้มได้รับการศึกษามากขึ้น หรือรายได้ครัวเรือนสูงขึ้น แต่ดูเหมือนพวกเขาคาดหวังว่า โลกออนไลน์จะสามารถนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับส่วนประกอบของอาหารได้มากกว่าจากข้อมูลตามร้านค้า

อ้างอิง:


On Being
198Article
0Video
0Blog