ไม่พบผลการค้นหา
นักวิชาการประวัติศาสตร์ชี้โลกอยู่ในยุคพลิกผัน แต่ไทยยังไม่สามารถพลิกตัวให้ทัน ระบบการเมืองและระบบยุติธรรมถูกทำลายต้องใช้เวลาฟื้นตัวอีกนาน อย่าคาดหวังผู้นำคนถัดไปให้มาก เพราะความเสียหายที่ผ่านมานั้นมหาศาล

ศ.ธงชัย วินิจจะกูล อภิปรายในหัวข้อ "เรื่องเล่าหลังกรงขัง" ซึ่งจัดโดยกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย โดยช่วงหนึ่งวิพากษ์แนวคิดซึ่งเขาเห็นว่าเป็นความพยายามรีแบรนด์ แต่ไม่มีเนื้อหาสาระ

“ไทยแลนด์ 4.0 คำคำนี้อาจจะตั้งชื่อให้ดูเท่ แต่ไม่มีสาระอะไร อาจเป็นการรีแบรนด์ รีแพคเกจ เป็นไปได้ ผมไม่รู้เจตจำนงคนที่ทำขึ้น “

นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ กล่าวว่า ขณะนี้โลกกำลังสนใจเรื่องการเข้าสู่ “ยุคพลิกผัน” (disruption era) ทั้งโลกกำลังสนใจเรื่องนี้ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการปฏิวัติของโลก การปฏิวัติดิจิทัลทำให้เกิดการเปลี่ยนตั้งแต่หัวถึงเท้า และสังคมไทยหนีไม่พ้น แต่คำถามคือจะรับมืออย่างไรซึ่งเป็นโจทย์ของเราทุกคน

“ถ้าไทยแลนด์ 4.0 เป็นแค่การรีแพคเกจก็น่าเสียดาย สักแต่ว่ารีแบนด์โดยไม่คิดจริงจัง ความจริงการเปลี่ยนแปลงมีความหมายมาก ไทยอาจจะไม่เปลี่ยนตามตะวันตกแต่ได้รับผลแน่ๆ”

ศ.ธงชัย กล่าวว่า ความเปลี่ยนแปลงนั้นเห็นตัวอย่างที่ชัดเจนเช่น การเล่นเฟซบุ๊กยังส่งผลถึงการเปลี่ยนแปลงทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจ ปัจเจกคนแต่ละคนสามารถเข้าถึงและจัดการข้อมูลได้ด้วยตัวเอง

20 ปีก่อนเรายังบ่นเรื่องการเข้าถึงข้อมูล แต่ขณะนี้เข้าถึงข้อมูลง่ายจนล้น แต่สิ่งที่เป็นเรื่องจำเป็นตามมาก็คือความสามารถในการจัดการข้อมูล

“จะเชื่ออะไร จะสกรีนจะทิ้งอะไร เพราะข้อมูลล้นจนเกินกว่าที่มนุษย์จะรับรู้ แต่ที่มีเยอะๆ เพื่อเปิดโอกาสให้คนเลือกใช้ตามต้องการ สิ่งที่เป็นขยะของผมอาจเป็นประโยชน์สำหรับคนอื่น ข้อมูลที่มีล้นหลามมีประโยชน์ตรงนี้”

เขากล่าวต่อไปว่า ประเด็นที่ 2 ที่ต้องคิดเกี่ยวกับเรื่องการปฏิวัติดิจิทัลก็คือว่า นี่เป็นการปฏิวัติครั้งที่ 4 Internet of things คือการเคลื่อนไหวของกิจกรรม ไม่ใช่แค่ข่าวสารเท่านั้น แต่มีกิจกรรมที่ทำผ่านอินเตอร์เน็ตซึ่งจะเปลี่ยนคุณลักษณะประกอบการทางธุรกิจ และจะเปลี่ยนพฤติกรรมการดำรงชีวิต

ในทางการเมือง คนจะเกิดอัตลักษณ์ที่หลากหลาย จะเกิดอัตลักษณ์ซ้อน สอง-สาม- สี่ มีอัตลักษณ์หลายอย่างพร้อมกัน ถึงที่สุดจะสามารถชี้เฉพาะเจาะจงได้ง่ายขึ้น มีเวทีประกาศความเป็นตัวเองได้ ทุกคนทำได้ ซึ่งภาวะเช่นนี้มีผลในทางการเมือง เพราะผลประโยชน์ของคนแตกย่อยออกไป ผลประโยชน์ของคนหนึ่งไม่เหมือนอีกคนหนึ่ง ทำให้ควบคุมยาก เกิดพลวัตรทางการเมืองแบบใหม่ ซึ่งรัฐบาลที่ต้องการควบคุมมากอยู่ได้ยากมากขึ้น

ศ.ธงชัย มองว่า ผลของกระแสโลกไม่จำเป็นต้องมาถึงเมืองไทยอย่างตรงไปตรงมา นักกิจกรรมที่กลัวความเปลี่ยนแปลงต้องยอมรับว่า ไม่ว่าจะอย่างไร การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้จะมาถึงเมืองไทยแน่ๆ ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องที่ควรต้องกลัว เพราะมีทั้งโอกาสและมีคนที่ได้รับผลเสีย

ในส่วนของการศึกษา เขาเห็นว่าคำถามที่สำคัญคือจะเทรนคนขึ้นมาแบบไหนในยุคที่ทุกคนต้องปรับตัว

สำหรับรัฐบาลนั้น เขาเห็นว่า รัฐประชาธิปไตยออกแบบมาสำหรับการปรับตัวอยู่แล้ว เพราะออกแบบมาให้เกิดการถกเถียงแลกเปลี่ยนและปรับ ระบบอื่นที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยต่างหากที่ปรับยาก ระบบคุณพ่อรู้ดีจะปรับไม่ได้ เพราะระบบใหม่นั้นซับซ้อนเกินกว่าที่ใครคนเดียวจะรู้ทุกอย่าง

“คุณต้องปล่อยให้มีไดนามิค (พลวัตร) แค่คุมกติกาให้ปลดพลังสร้างสรรค์อย่างไปตีหัวคนอื่น รัฐต้องปกป้องคนที่จะได้รับผลกระทบ และดูแลโครงสร้างพื้นฐานที่ผลิตคน กระแสโลกตอนนี้ตอบสนองในทางที่ผิด มันเกิดพาราดอกซ์ ปฏิภาคย้อนแย้ง ยุคนี้คุณต้องผลิตคนที่รู้จักปรับตัว มีทักษะที่ปรับได้ คิดเป็น ต้องมีคนที่พร้อมจะมีพื้นฐานสำหรับยืน ไม่ใช่ยืนอยู่กับที่เดิมไปตลอดชีวิต ทำอาชีพเดียว เอาเข้าจริงตอนนี้ก็เปลี่ยนแล้ว ที่เราพูดว่าคนสมัยนี้โกลบอล คนต่างชาติภาษาเยอะมาก มนุษย์เปลี่ยนไปแล้ว อุดมศึกษาต้องเปลี่ยนตาม ต้องผลิตคนที่พร้อมจะปรับต้อนรับยุค Disruption เราจะอยู่อย่างเดิมไม่ได้แล้ว”

12 ปีวิกฤติการเมืองไทย ทำลายระบบการเมืองและระบบบยุติธรรมจนยากจะฟื้น

ศ.ธงชัย ตั้งคำถามว่าความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ จะเข้ากันได้หรือไม่กับระบบสังคมการเมืองที่แสนจะไม่มีพลวัตร แต่เรียกตัวเองว่า Thailand 4.0 ซึ่งเขาตอบคำถามของตัวเอง “น่าห่วงมากๆ” 

เขาให้เหตุผลว่าวิกฤติการเมือง 12 ปีที่ผ่านมา ก่อผลยั่งยืนอย่างหนึ่งซึ่งอีกนานกว่าจะแก้ได้ นั่นก็คือการทำลายการก่อรูปก่อร่างของสถาบันทางการเมืองที่กำลังเติบโตมาและทำลายกระบวนการยุติธรรม

“หลายคนสนใจรัฐสภาและเลือกตั้ง ยิ่งนานผมยิ่งสนใจกระบวนการยุติธรรมเพราะผมว่าฟื้นยากกว่าเยอะ อันนี้เรื่องใหญ่ และผมว่าสิบสองปีที่ผ่านมา ระบบการเมืองสำคัญ แต่ต่อให้คุณฟื้นระบบการเมืองได้ กระบวนการยุติธรรมที่น่าศรัทธาได้ก็ต้องการเวลามากกว่านั้นมันไม่ล้มตามการเมืองแต่ไม่ฟื้นทันทีที่การเมืองฟื้น”

“มันต้องใช้เวลาสร้างอีกนานมาก ผมไม่เห็นวี่แววจะทำอะไรกับกระบวนการยุติธรรม ไม่รู้ด้วยซ้ำจะเริ่มยังไง วิกฤตจิที่ผ่านมาคือทำลายสถาบันการเมือง กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม”

ศ.ธงชัยกล่าวด้วยว่า สังคมไทยมีแนวโน้มน่าวิตกอีกประการคือ นอกจากทำลายสถาบันแล้วยังกลับไปยึดติดกับตัวบุคคลมากขึ้นอีกอย่างน่ากลัว การใช้ ม. 44 คือการบอกว่าขึ้นอยู่กับผู้นำ จะว่ายังไงก็ว่าไป ไม่มีหลักมีเกณฑ์ จนกลายอย่างผิดพลาดเอง

เศรษฐกิจซึมยาวๆ

ในทางเศรษฐกิจ ศ.ธงชัย มองว่าจะอยู่ในภาวะซึมยาวและตกต่ำลงทุกด้าน เป็นกราฟรูปตัว L และภาวะตกต่ำในทางกฎหมายจะตกต่ำยาวนานกว่า ต่อให้มีการเลือกตั้งในวันพรุ่งนี้ แต่ภารกิจที่สำคัญก็คือการต้องก่อร่างสร้างตัวกันใหม่

“ยุคต่อไปฟื้นตัว ก่อร่างสร้างตัวได้ก็บุญแล้ว ไม่ว่าใครมาเป็นผู้นำก็อย่าคาดหวังสูง อย่าโทษเขามากเกินไป มันอีกนาน ความเสียหายมันมหาศาล ฝากกำลังใจ ความมุ่งมั่น มาร่วมมือกัน มาทำกันอีกสักยก ในภาวะของเราแบบนี้ทำเท่าที่เรายังทำไหวและมีแรง มันเป็นภาระของคนรุ่นหลัง พวกคุณมีภาระกิจ สร้างประเทศไทย สร้างสถาบันขึ่นมาใหม่ ทิศทางที่น่ากลัวคือการไปอิงกับตัวบุคคลมากไป ปล่อยให้เกิดการทำตามอำเภอใจไม่ว่าจุดไหน ราวกับว่าประเทศไทยจะเดินไปได้ด้วยผู้รู้จำนวนน้อยเหล่านั้น แม้แต่เศรษฐกิจ โครงการต่างๆ กลับทำให้ความร่ำรวย ฯลฯกระจุก คนระดับล่างจมสนิท ตัวเลขไทยไม่ลงเพราะข้างบนเขาดีขึ้น มันคือภาวะที่ทุกคนต้องพยายามทำ เราไม่มีทางอื่น เราต้องการการสร้างสถาบัที่ลงหลักปักฐาน มีหลักมีเกณฑ์ไม่ใช่ปล่อยให้เดินไปแบบนี้ นี่คือสิ่งที่ไทยกำลังเป็นโดยเฉพาะในระยะสี่ห้าปีที่่ผ่านมา”

ศ.ธงชัยกล่าวและย้ำว่าขณะนี้ได้เวลาสร้างเนื้อสร้างตัวกันใหม่ ถ้าเห็นแก่ประเทศชาติ ไม่ใช่อยู่ในมือผู้มีบารมีคนจำนวนนิดเดียว ต้องสร้างสังคมให้มีหลักมีเกณฑ์