ไม่พบผลการค้นหา
องค์การแรงงานระหว่างประเทศสำรวจปัญหาในอุตสาหกรรมประมงไทย พบแรงงานบางส่วนยังมีความเสี่ยงถูกบังคับใช้แรงงาน แม้ว่าการแก้ปัญหามีความคืบหน้าในภาพรวม

องค์การแรงงานระหว่างประเทศออกรายงานสรุปผลสำรวจสภาพการจ้างในอุตสาหกรรมประมงของไทย วันนี้ (7 มี.ค.) โดยรายงานระบุว่า แรงงานประมงบางส่วนยังคงถูกบังคับใช้แรงงาน ถูกยึดหนังสือเดินทาง และได้รับการจ่ายค่าจ้างล่าช้า

อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาเหล่านี้นับว่ามีความคืบหน้าทั้งบนเรือประมงและในโรงงานแปรรูปอาหารทะเล

ประเทศไทยส่งออกอาหารทะเลมีมูลค่าปีละกว่า 6,000 ล้านดอลลาร์ฯ เมื่อปีที่แล้ว อุตสาหกรรมนี้จ้างแรงงานกว่า 600,000 คน ราว 300,000 คนในจำนวนนี้เป็นแรงงานย้ายถิ่นจากประเทศเพื่อนบ้าน

ในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมประมงไทยถูกจับตามองหลังพบปัญหาการใช้แรงงานบังคับ การค้ามนุษย์ และการใช้ความรุนแรงทั้งบนเรือประมงและในโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์ รัฐบาลทหารได้แก้ไขปัญหาดังกล่าวหลังจากสหภาพยุโรปขู่ที่จะยุติการนำเข้าปลาจากประเทศไทยหากปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข

เจสัน จัดด์ ผู้จัดทำรายงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ เปิดเผยสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า นักวิจัยได้สุ่มสำรวจแรงงานประมงในไทยจำนวน 434 คน

พบว่า ในระยะหลัง นายจ้างมักปฏิบัติตามกฎระเบียบใหม่ เช่น จ่ายค่าจ้างตามอัตราขั้นต่ำ และออกหนังสือสัญญาจ้างให้แก่แรงงาน

อย่างไรก็ตาม ยังคงพบการบังคับใช้แรงงานโดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานชาวกัมพูชาและเมียนมา โดยพบว่าแรงงานบนเรือประมงร้อยละ 24 ถูกชะลอการจ่ายค่าจ้างนานหลายเดือน และแรงงานราว 1 ใน 3 ถูกยึดหนังสือเดินทางเพื่อป้องกันไม่ให้ลาออกจากงาน

แต่แรงงานในโรงงานแปรรูปมีสภาพการทำงานดีกว่าลูกเรือประมง โดยแรงงานที่ถูกยึดหนังสือเดินทางในกลุ่มหลังนี้มีแค่ร้อยละ 7 และไม่พบการจ่ายค่าจ้างล่าช้า

ในภาพรวมนั้น ลูกเรือประมงที่ทำงานโดยไม่ได้ถูกบังคับมีร้อยละ 29 ส่วนคนงานในโรงงานที่ทำงานโดยไม่ได้ถูกบังคับมีร้อยละ 56