ไม่พบผลการค้นหา
ทนายความพร้อมด้วย 2 ป้าทุบรถ เดินทางเข้ารายงานตัวตามหมายเรียกครั้งที่ 2 เพื่อรับทราบข้อกล่าวหา พร้อมแจ้งความกลับเจ้าของรถกระบะที่จอดขวางหน้าบ้าน

น.ส. รัตนฉัตร แสงหยกตระการ และ น.ส.ราณี แสงหยกตระการ ผู้ก่อเหตุทุบรถกระบะที่จอดขวางหน้าบ้านพัก ในซอยศรีนครินทร์ 55 แยก 2 แขวงหนองบอน เขตประเวศ เข้ารับทราบข้อกล่าวหาใน 3 ข้อหา คือ ข้อหาทำให้เสียทรัยพ์ ข้อหาพกพาอาวุธไปในที่สาธารณะโดยไม่มีเหตุอันสมควร และข้อหาข่มขู่ หลังถูกออกหมายเรียกครั้งที่ 2 โดยมีนายอนันต์ชัย ไชยเดช ทนายความ เดินทางมาด้วย 

นอกจากนี้ น.ส. รัตนฉัตร ยังได้แจ้งความให้ดำเนินคดีกับ น.ส.รชนิกร เลิศวาสนา เจ้าของรถกระบะที่จอดขวางทางเข้า-ออกหน้าบ้านในข้อหา ตามมาตรา 397 ผู้ใดกระทำด้วยประการใดๆ ต่อผู้อื่น อันเป็นการรังแก ข่มเหง คุกคาม หรือกระทำให้ได้รับความอับอายหรือเดือดร้อนรำคาญ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน และปรับไม่เดิน 10,000 บาท อีกด้วย

นอกจากนี้ในที่ประชุมคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการประกอบกิจการตลาดบริเวณปากซอยศรีนครินทร์ 55 เขตประเวศ โดยนายนิรันดร์ ประดิษฐ์กุล รองประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานคณะกรรมการดังกล่าว แถลงสรุปผลการตรวจสอบ ว่า จากข้อมูลข้อเท็จจริงที่ได้รวบรวมมา คณะกรรมการได้สรุปข้อเท็จจริงทั้งหมด มีมติเห็นตรงกันว่าการจัดตั้งตลาดทั้ง 5 แห่งนี้ไม่ถูกต้อง โดยจะนำข้อสรุปดังกล่าวส่งมอบผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครดำเนินการตามหน้าที่ต่อไป

ซึ่งข้อเท็จจริงคือ พื้นที่ตลาดทั้ง 5 แห่ง เดิมเป็นพื้นที่ออกกำลังกาย มีการตั้งแผงขายอาหารริมทางเท้า ต่อมาเริ่มมีการตั้งเป็นตลาดไม่มีโครงสร้าง จนปี 2551 เริ่มมีอาคารสร้างเป็นตลาดแรก คือ ตลาดสวนหลวง และตามมาอีก 3 ตลาด คือ ตลาดเปิ้ลมาร์เก็ต ตลาดยิ่งนรา ตลาดรุ่งวาณิชย์ และตลาดร่มเหลืองหลังสุดเป็นตลาดไม่มีโครงสร้างอาคาร สภาพปัจจุบันตลาดทั้ง 5 ไม่มีสภาพเป็นตลาด

สำหรับข้าราชการที่เกี่ยวข้องแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ สำนักการโยธา ซึ่งดูแลเรื่องอาคาร การก่อสร้างอาคาร และทางสำนักงานเขต ดูแลเรื่องการขออนุญาตจัดตั้งตลาด และผู้อำนวยการสำนักงานเขต ที่เกี่ยวข้อง 4 คน ตามที่ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2551 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งพบว่ามีบางช่วงที่มีการเก็บค่าปรับ บางคดีปรับสูงสุดหลายแสนบาท บางช่วงก็ปล่อยปละละเลยไม่ได้เก็บค่าปรับ ส่วนเรื่องของโทษต้องรอการตัดสินจากทางศาลปกครอง ซึ่งจะมีโทษออกมาทั้งหมด 3 แบบ คือโทษทางอาญา โทษทางวินัย และโทษทางแพ่ง โดยโทษทางอาญาต้องรอให้ทาง ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด ทั้งนี้ ตามขั้นตอนการตรวจสอบของข้าราชการ สามารถดำเนินการย้อนหลังกับผู้ที่พ้นตำแหน่งได้ทั้งหมด ซึ่งขึ้นอยู่กับการพิจารณาของผู้ว่าฯ กทม.

ด้าน พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้สั่งการให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงรายบุคคลอีกครั้ง ว่ามีการละเลย บกพร่องต่อหน้าที่จริงหรือไม่ คาดจะใช้เวลาไม่เกิน 1 สัปดาห์ หากพบว่ามีความผิด จะต้องตั้งคณะกรรมการตรวจสอบวินัยขึ้นมาอีก 1 ชุด