ในการเสวนา เรื่อง “ทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา พัฒนาหรือทำลาย” จัดโดยสมัชชารักษ์แม่น้ำลำคลอง โดยนายอภิชาต อนุกูลอำไพ นายกสมาคมทรัพยากรน้ำแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หลังนายกรัฐมนตรีตั้งคณะกรรมการดำเนินการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีกรุงเทพมหานครนำเสนอโครงการในลักษณะเป็นสะพานยกสูงเหนือระดับน้ำท่วม งบประมาณ 14,000 ล้านบาท โดยผลการศึกษาของที่ปรึกษาออกแบบเป็นการสร้างสะพาน ถนนลงไปในแม่น้ำเจ้าพระยา ของกรุงเทพมหานคร มีความกว้างประมาณ 10 เมตร ยาว 7 กิโลเมตร ในแต่ละฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยาจากสะพานพระราม 7 ถึงสะพานปิ่นเกล้า ความยาว 14 กิโลเมตร เห็นว่าการออกแบบไม่สอดคล้องกับหลักการและเจตนารมณ์ของการพัฒนาเพียงมิติเชิงเส้นริมแม่น้ำ เชื่อว่าจะส่งผลกระทบในหลายๆ มิติทั้งด้านภูมิสถาปัตย์ ประเพณีวัฒนธรรมริมน้ำ การท่องเที่ยว การคมนาคมขนส่งทางน้ำ การระบายน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วม
“แม่น้ำเจ้าพระยาต่างจากแม่น้ำในต่างประเทศที่เป็นน้ำมาจากภูเขา เพราะระดับน้ำมีอิทธิพลจากน้ำฝน การขึ้นลงของน้ำจึงต่างกัน ดังนั้นจะนำตัวอย่างจากต่างประเทศมาใช้ดำเนินการสร้างไม่ได้” นายอภิชาติกล่าว
ด้านนายเจตกำจร พรหมโยธี นายกสภาสถาปนิก กล่าวว่า ที่ผ่านมากรุงเทพมหานครไม่ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับแผนและรูปแบบโครงสร้างมากนัก ที่สำคัญยังมีความไม่ชัดเจนว่าวิศวกรที่จะคุมงานก่อสร้าง มีใบอนุญาตตามกฎหมายกำหนดหรือไม่ สิ่งที่น่าเป็นห่วงในการรออกแบบ คือ เรื่องเสาทางเดินเป็นลักษณะเสาเดียว เพราะเป็นอันตราย ที่ผ่านมาได้มีโอกาสเข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมการที่ดำเนินการก่อสร้าง แต่ยังไม่ได้ข้อยุติว่าจะดำเนินการอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบที่นำเสนอ
ด้านนายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ TDRI ด้านการท่องเที่ยว กล่าวว่า สองฝั่งแม่น้ำถือเป็นสมบัติสาธารณะ ที่มีกฎหมายคุ้มครอง ซึ่งแม่น้ำเจ้าพระยามีระบบนิเวศขนาดใหญ่ เฉพาะในกรุงเทพมหานครมีคลองทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวามีประมาณ 200 คลอง ที่เชื่อมโยงกับแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ผ่านมาไม่มีหน่วยงานเฉพาะที่ดูแล ทำให้การแก้ปัญหาไม่บูรณาการกัน หากพัฒนาพื้นที่เลียบแม่น้ำแล้ว ต้องมีผู้รับผิดชอบหรือคณะกรรมการรับผิดชอบโดยตรง เพื่อให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน ไม่สามารถพัฒนาเฉพาะด้านการท่องเที่ยวได้
ขณะที่นายจาริต ติงศภัทิย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่า การพัฒนาพื้นที่ดังกล่าว เท่าที่เห็น ยังเป็นคำถามใหญ่ว่าใครได้ประโยชน์ทางด้านเศรษฐศาสตร์ เพราะยังไม่มีความชัดเจนว่าโครงการจะเป็นเช่นไร แต่ที่แน่ๆ มีผู้รับเหมาได้ผลประโยชน์ เพราะมีการก่อสร้าง ดังนั้นจึงยังตอบไม่ได้ ต้องรอดูต่อไป
อย่างไรก็ตาม วันพรุ่งนี้ (5 มิ.ย.) เวลา 10.00 น. จะเดินทางไปยื่นหนังสือ ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อขอให้ทบทวนรูปแบบทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาของกรุงเทพมหานคร
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: