ไม่พบผลการค้นหา
นักดำน้ำหลายคนบอกว่าภายใต้ความลึกของท้องทะเลสิ่งที่พวกเขาสัมผัสได้คือความเงียบ ความงาม และอิสระ ซึ่งทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าหากมีโอกาสควรจะไปลองสักครั้ง ทว่าบางที 'โอกาส' กลับไม่ได้มีเหลือพอให้ทุกคน

Wheelchair Scuba Thailand คือโครงการที่เปิดโอกาสให้กับผู้พิการ ได้ดำดิ่งลงไปสัมผัสกับอิสระใต้ผืนน้ำ ที่พวกเขามองว่าทุกคนควรมีโอกาสในการเข้าถึง เท่าๆ กัน

ภาณุพล ธนะจินดานนท์ หรือ 'ณุ' ผู้ริเริ่มโครงการเท้าความให้ฟังว่า ตนเองเคยเป็นพี่เลี้ยงพานักเรียนม.ปลาย ไปเดินป่าภายใต้โครงการของชมรมนักนิยมธรรมชาติ ซึ่งนานๆ ครั้งก็มีโอกาสได้พาผู้พิการที่เป็นเยาวชนทำโครงการลักษณะเดียวกันนี้ด้วย เมื่อเวลาผ่านไปหลายปี และกิจกรรมประสบความสำเร็จไปหลายครั้ง ณุ จึงอยากทดลองทำสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมา

“บอกพี่ในชมรมว่าพาเด็กพิการขึ้นภูกระดึงกันไหม ตอนแรกทำเพราะคิดว่าท้าทาย แต่ผลลัพธ์คือมันสนุกมาก เราเลยอยากทำกิจกรรมกับผู้พิการต่อ อยากให้เป็นกิจกรรมที่ท้าทายและได้ผจญภัยเหมือนการขึ้นภูกระดึงนี่แหละ เผอิญว่าเป็นนักดำน้ำอยู่แล้วก็เลยเกิดไอเดียในการนำผู้พิการไปดำน้ำขึ้นมา

ทำครั้งแรกไม่มีข้อมูลอะไรเลย ไม่รู้มาก่อนว่าเมืองนอกก็มีโครงการลักษณะนี้ (หัวเราะ) อย่างแรกก็ต้องหาครูก่อน ติดต่อไปประมาณ 3 คน มาร่วมด้วยเอาคนสุดท้าย จากนั้นก็ไปหาคนพิการมาร่วมโครงการ ไม่ได้เปิดเพจอะไรเจอคนไหนก็ลองชวน ใช้เวลาเป็นปีกว่าจะได้เริ่มโครงการ (หัวเราะ)” 

wheelchair scuba 2 copy.jpg
  • ภาณุพล ธนะจินดานนท์ ผู้ก่อตั้งโครงการ Wheelchair Scuba Thailand

ด้วยความที่มาจากสายงานอาสา ณุจึงเลือกใช้เงินทุนของตัวเองมากกว่าเก็บเงินจากผู้เข้าร่วม แต่เมื่อโครงการใหญ่ขึ้นปัญหาที่ตามมาแน่นอนว่าเป็นเรื่องค่าใช้จ่าย

“ครั้งแรกดำน้ำในสระก่อน ค่าใช้จ่ายตอนนั้นมีแค่ค่าสระเป็นเงินประมาณ 5,000 บาท ซึ่งเราก็พอจ่ายได้ แต่ลึกๆ อยากไปลงทะเลมากกว่า เพื่อนๆ ที่เป็นครูสอนดำน้ำพอทราบเรื่องก็ช่วยกันกระจายข่าวแล้วก็รับเงินบริจาค แต่ก็เก็บเงินครูด้วยนะ​ (หัวเราะ) เรามองกิจกรรมนี้เหมือนการไปเที่ยวที่ได้ทำงานอาสาด้วย ทุกคนก็ยินดีที่จะจ่ายอยู่แล้ว 

พอโครงการที่สองเราเริ่มหาเงินด้วยการใช้เว็บไซต์เทใจ เพื่อรับบริจาคกับคนทั่วไป เงินก็เข้ามาประมาณ 2,000 บาท เผอิญมีรุ่นพี่ที่เป็นนักดำน้ำบริจาคมาให้ 100,000 บาท ก็เลยหยุดรับบริจาคเลย (หัวเราะ) เพราะเงินส่วนนี้เพียงพอสำหรับโครงการแล้ว ครั้งต่อๆ ไปก็หาเงินจากการประกวดบ้าง โชคดีที่คนที่เคยมาช่วยมักจะไปหาสปอนเซอร์มาให้ต่อหรือบางคนก็ออกเงินส่วนตัวให้ 

ครั้งหนึ่งเราเคยไปดำน้ำที่เขาหลัก ก็มีเพื่อนจากจังหวัดพังงาบอกว่าสนใจโครงการนี้อยากให้ทำเป็นกิจกรรมประจำจังหวัด เพราะว่าพังงากำลังทำพิพิธภัณฑ์ใต้น้ำพอดี หากโปรโมทร่วมกับ Wheelchair Scuba Thailand ก็ค่อนข้างน่าสนใจ ทุกวันนี้เราจัดเฉลี่ยประมาณปีละ 1 ครั้ง ความถี่จะมากกกว่านี้ก็ได้แต่มันขึ้นอยู่กับสปอนเซอร์ล้วนๆ” ณุ เล่าถึงการจัดการเรื่องเงิน ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญมากในการสานต่อโครงการ 

ถ้าเปรียบการดำน้ำภาคสระเสมือนโรงเรียนเตรียมความพร้อม การดำน้ำในท้องทะเลก็คือสนามจริงที่ไม่มีช่องว่างให้ความผิดพลาด แน่นอนว่าการผู้พิการดำดิ่งลึกลงไปในมหาสมุทรอาจจะถูกมองว่าเป็นเรื่องที่น่ากลัวและค่อนข้างเสี่ยง แต่ณุบอกว่าหากมีการควบคุมที่ดีพอ กิจกรรมนี้มีความปลอดภัยสูงมากและมีตัวอย่างให้เห็นแล้วในต่างประเทศ

Wheelchair Scuba 4.jpg
  • ผู้เข้าร่วมโครงการจะมีบัดดี้คอยให้ความช่วยเหลือตลอดเวลาที่อยู่ในน้ำ

“เนื่องจากการพาผู้พิการไปดำน้ำทะเลเป็นเรื่องใหม่สำหรับพวกเรา ครูแต่ละท่านก็ยังไม่มีประสบการณ์ด้านนี้ เมื่อมาประชุมกันเราก็พบว่าที่จริงสิ่งที่น่ากลัวคือการขึ้นลงเรือ คุยกันหลายวิธีมากสุดท้ายได้ทางออกเป็น ‘เปลลำเลียง’ แบบที่กู้ภัยใช้เวลามารับผู้ป่วยก็แก้ปัญหาไปได้ก็คลายความกังวลไป

ปัจจัยอื่นเราสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงได้ ถ้ามีคลื่นลมก็สามารถย้ายที่ได้ ระดับความลึกของน้ำที่ลงไปก็สามารถกำหนดได้ ผู้พิการแต่ละคนจะถูกประกบด้วยครูและผู้ช่วยอย่างละ 1 คน เพื่อให้การดูแลเป็นไปอย่างทั่วถึง แต่ข้อเสียคือเราจะรับผู้พิการได้น้อย เคยรับได้สูงสุด 9 คน เมื่อรวมครูกับผู้ช่วยก็เต็มเรือแล้ว”

หากคิดจะดำน้ำสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้เลยก็คือครูผู้สอน สำหรับ Wheelchair Scuba Thailand ก็มีหนึ่งในกำลังสำคัญคือ ‘ครูดึ๋ง’ หรือ พุทธคุณ ปรุงคณานนท์ อดีตนักบินฝึกหัดผู้ชื่นชอบการผจญภัยหลากหลาย แต่ติดใจความช้าและความสวยงามของโลกใต้น้ำ

ปัจจุบันครูดึ๋งผ่านประสบการณ์สอนดำน้ำมาเกือบ 20 ปี รวมถึงเป็นผู้สอนในระดับ Instructor Trainer และ Course Director ซึ่งเป็นขั้นสูงสุดสำหรับการสอนให้นักว่ายน้ำเป็นครูอีกทีหนึ่ง 

wheelchair scuba 1.jpg
  • พุทธคุณ ปรุงคณานนท์ ครูสอนดำน้ำ

“การดำน้ำสำหรับคนทั่วไปก็ต้องใช้ความพยายามประมาณหนึ่ง แต่สำหรับผู้พิการไม่ว่าจะพิการแขน ขา หรือว่าส่วนไหน เวลาที่มาเรียนดำน้ำก็จะต้องใช้ความระมัดระวังมากขึ้น ทุกอย่างจะทำเหมือนกันหมดยกเว้นการเคลื่อนที่ ปกตินักดำน้ำจะเคลื่อนไหวด้วยการใช้ตีนกบ แต่สำหรับคนนั่งวีลแชร์บางคนอาจจะขาไม่แข็งแรง หรือไม่มีขาเลยก็จะใช้มือเปล่าๆ ว่ายแทน หรือจะใส่ถุงมือที่เป็นผังผืดก็ได้ สำคัญคือต้องจุดศูนย์ถ่วงของแต่ละคนให้เจอ และสังเกตุระยะการเคลื่อนที่เพื่อให้สามารถหยุดพักได้หากไม่ไหว” ครูดึ๋งอธิบายถึงการสอนผู้พิการที่ต้องใช้วิธีแตกต่างกัน แต่บอกว่าสุดท้ายทุกคนก็ติดใจการดำน้ำเหมือนกันหมด เพราะสวย กว้าง และเคลื่อนที่ได้อย่างอิสระ 

แม้จะชื่อของโครงการจะเป็น Wheelchair Scuba Thailand แต่ก็ไม่ได้จำกัดแต่ผู้พิการด้านขาเท่านั้น แต่เปิดรับหลากหลายรูปแบบ ครูดึ๋งเล่าให้ฟังว่าในรอบล่าสุดมีอดีตนักดำน้ำ ที่ปัจจุบันพิการทางสายตามาเข้าร่วมด้วย 

“คำถามแรกที่เราคิดกันคือตาบอดแล้วจะลงไปดูอะไร แต่พี่คนนี้พิเศษคือเขาเป็นนักดำน้ำมาก่อน และมีประสบการณ์มากกว่า 150 ครั้ง เขาบอกว่าอาการของตนเองคือจอประสาทตาเสื่อม แม้จะมองไม่เห็นแต่อยากเอาหน้าไปสัมผัสน้ำทะเลอีกสักครั้งหนึ่ง ได้ยินแค่นี้เราก็ละลายแล้ว ต้องหาวิธีที่จะพาเขาไปให้ได้” 

สิ่งที่น่าดีใจอย่างหนึ่งสำหรับครูดึ๋งคือ ทันทีที่เปิดโครงการนี้ออกไปมีจิตอาสาสมัครเข้ามาเยอะมาก แน่นอนว่าทุกคนต้องเรียนวิธีสำหรับดูแลผู้พิการในการดำน้ำล่วงหน้า 

“ผมก็ต้องไปเรียนวิธีดูแลผู้พิการกับชาวเยอรมันเหมือนกัน ซึ่งเขาบอกว่าที่เราสอนกันอยู่ถือว่าถูกต้อง หลังการดำน้ำครูทุกคนจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่ใช่พวกเขาที่เป็นฝ่ายให้แก่นักเรียนกลุ่มนี้ เพราะแต่ละครั้งที่ได้ไปสอนจะได้รับกำลังใจกลับมาอย่างล้นหลาม” ครูดึ๋งทิ้งท้ายพร้อมบอกว่าอยากให้ทุกคนเข้าใจผู้พิการมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ 

ชมพูนุท บุษราคำ หรือ 'เจิน' คือหนึ่งในผู้เข้าร่วมโครงการกับ Wheelchaie Scuba Thailand เจิน เล่าว่าเธอชื่นชอบกิจกรรมที่มีความท้าทาย เมื่อเห็นกิจกรรมนี้จึงอยากเข้าร่วม แม้ว่าจะคุ้นเคยกับการว่ายน้ำในสระอยู่แล้ว แต่เจินบอกว่ากับการดำน้ำเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ความตื่นเต้นและอยากทดลองอะไรใหม่ๆ สามารถเอาชนะความกลัวในครั้งนี้ได้ 

Wheelchair Scuba 3.JPG
  • ชมพูนุท บุษราคำ ผู้เข้าร่วมโครงการ

“เห็นกิจกรรมนี้จากเฟสบุ๊กเลยติดต่อไป ต้องเล่าก่อนว่าการดำน้ำจะมี 2 ภาค คือภาคสระกับภาคทะเล ซึ่งตอนนั้นภาคทะเลเต็มแล้ว แต่เราคิดว่าอย่างน้อยได้ไปลงสระก็ถือเป็นโอกาสที่ได้ลองอะไรใหม่ๆ ตอนแรกก็รู้สึกกลัวแต่อยากลองมากกว่าก็เลยตัดสินใจเข้าร่วม สุดท้ายมีคนสละสิทธิ์เราจึงมีโอกาสได้ไปดำน้ำภาคทะเลด้วย

ตอนเด็กเคยจมน้ำทะเล ครอบครัวและคนรอบข้างก็เลยเป็นกังวลว่าจะทำได้หรือเปล่า ตอนแรกพ่อกับแม่ก็ไม่อยากให้ไป แต่เราบอกว่าอยากลอง อยากทำอะไรที่ไม่เคยทำ รู้สึกว่าถ้าผ่านกิจกรรมนี้ไปได้มันสามารถลดความกลัวของตัวเองต่อสิ่งต่างๆ ภายภาคหน้าได้ด้วยเหมือนก้าวไปอีกขั้นของชีวิต เราไม่ครบ 32 แน่นอนว่ามันเป็นข้อจำกัด แต่ไม่ใช่ข้อจำกัดที่ห้ามไม่ให้เราทำอะไรที่คนปกติสามารถทำได้” 

เจินบอกว่า ความรู้สึกแรกที่ได้สัมผัสความลึกใต้ท้องทะเลคือความกลัวที่แฝงไว้ด้วยความตื่นเต้น กับสิ่งแวดล้อตรงหน้าที่แต่เดิมเคยสัมผัสแต่ในจอโทรทัศน์ หรืออควาเรียม

“มันเป็นความรู้สึกที่ดีกว่ามองผ่านกระจก เมื่อเราเห็นสิ่งที่อยู่ตรงหน้าผ่านตาของตัวเอง ปกติเวลาดำน้ำจะมีบัดดี้หนึ่งคน ไว้ข่วยเหลือกันเวลาเกิดเหตุฉุกเฉิน เราเป็นผู้พิการเวลาลงไปใต้น้ำก็ไม่สามารถว่ายได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ครูและผู้ช่วยนอกจากดูแลความปลอดภัยแล้ว ยังช่วยให้เราลงไปใต้น้ำได้ลึกขึ้น เพราะไม่สามารถลงไปด้วยตัวเองได้ แม้จะมีครูคอยดูแลต้องเตรียมพร้อมร่างกายก่อนไปทำกิจกรรมก็เป็นเรื่องสำคัญ อย่างเราก็ไปเวทเทรนนิ่ง เพื่อให้กำลังแขนดีขึ้น

ถ้าสังคมให้โอกาสจะเห็นว่าผู้พิการสามารถทำสิ่งต่างๆ ได้มากมาย และไม่จำเป็นต้องขลุกอยู่ที่บ้านเพียงอย่างเดียว เราเป็นคนชอบทำกิจกรรมอยู่แล้ว อยากให้มองว่าเราเป็นคนปกติไม่ใช่คนพิเศษ แม้ในบางครั้งที่ต้องการความช่วยเหลือก็อยากให้ทุกคนช่วยเราโดยไม่ได้มองว่าแปลกกว่าคนอื่น” เจิน เล่าถึงการดำน้ำครั้งแรก พร้อมบอกว่าผู้พิการมีหลายแง่มุมมากกว่าที่ถูกนำเสนอออกมา 

แม้ Wheelchair Scuba Thailand จะเดินหน้ามาไกลกว่าที่หวังไว้ตอนแรก แต่สิ่งที่ ณุ หวังคือวันหนึ่งโครงการของเขาจะสิ้นสุดลง

“ถ้าใจผมคือร้านดำน้ำทุกร้านสามารถให้ผู้พิการเข้าไปใช้บริการได้ ผมแค่จุดประเด็นนี้ขึ้นมาเพื่อให้ทุกคนเห็นว่ามันสามารถทำได้ ถ้ามันเป็นความฝันของพวกคุณก็ลุยเลย ผมไม่ได้คาดหวังว่าเราจะต้องทำโครงการนี้ทุกปี สิ่งที่หวังไว้คือเราไม่ต้องทำต่างหาก

ผู้พิการไม่ได้ต้องการความสงสารหรือความเห็นใจ แต่อย่าปิดโอกาสเพราะที่จริงพวกเขาสามารถทำได้ แต่เราดันไม่ให้ทำแค่นั้นเอง ก็คล้ายกับผมสมัยก่อนตอนที่ยังไม่ได้คลุกคลีกับคนพิการก็จะเป็นกังวลแทน แต่ตอนนี้เจอกันก็บอกให้ลุยเลย (หัวเราะ)” ณุ ทิ้งท้ายพร้อมย้ำว่าสิ่งที่ผู้พิการต้องการจริงๆ ก็คือ ‘โอกาส’ นั่นเอง 

ภาพจาก : Wheelchair Scuba Thailand

ขอบคุณสถานที่ : All Star Dive Academy , Zen Cha Tea