ไม่พบผลการค้นหา
กรีนพีซประเทศไทยร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เรียกร้องภาครัฐเปิดเผยค่าฝุ่นละออง PM 2.5 สู่สาธารณะ ต่อยอดดัชนีชี้วัดคุณภาพอากาศ หลังอากาศนิ่งในกรุงเทพฯ ค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน
27023993_10155543930167098_7326575518894645143_o.jpg

ในงานเสวนา "มลพิษทางอากาศข้ามพรมแดน ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้" จัดโดย กรีนพีซ ประเทศไทย ชี้ให้เห็นว่า ฝุ่นละอองขนาดเล็กขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 เปรียบเสมือนพาหะนำสารพิษต่างๆ โดยเฉพาะสารปรอท สารหนู และแคดเมียม ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง เข้าสู่ร่างกายลงไปถึงระดับเซลล์ โดยไม่ผ่านการดักจับของขนจมูก 

นายธารา บัวคำศรี ผู้ประสานงานรณรงค์ ประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า แม้สถานการณ์มลพิษทางอากาศในกรุงเทพฯ จะคลี่คลายไปแล้ว แต่ภาครัฐจำเป็นต้องรายงานค่าฝุ่นละออง PM 2.5 เป็นประจำทุกวัน เพื่อให้ประชาชนรับรู้สถานการณ์ และไม่ตื่นตระหนกเมื่อเกิดภาวะวิกฤติ 

ส่วนกรณีที่ กรมควบคุมมลพิษ ชี้แจงว่า กำลังติดตั้งเครื่องตรวจวัดค่า PM 2.5 ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ คาดว่าจะแล้วเสร็จปี 2563 นายธารา มองว่า นานเกินไป ดังนั้น ในระยะเร่งด่วน ภาครัฐควรใช้วิธีคำนวณคร่าวๆ และในระยะยาวควรนำค่า PM 2.5 มาใช้เป็นหนึ่งในดัชนีชี้วัดคุณภาพอากาศ

ด้าน นางเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่า 'สารปรอท' ที่เกิดจากอุตสาหกรรมเหมืองแร่ และโรงไฟฟ้าถ่านหิน สามารถกระจายตัวได้ไกล ดังนั้น จึงน่ากังวลว่า หากจับตัวกับฝุ่นละอองขนาดเล็กแล้ว อาจเข้าสู่ร่างกายของประชาชนได้ ไม่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังลอยไปได้ไกลถึงประเทศเพื่อนบ้าน จึงถือเป็นภัยคุกคามของประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้