ความคืบหน้ากรณีการตรวจพบหญิงตั้่งครรภ์ติดเชื้อไวรัสซิกา ล่าสุด วันนี้ (7 ธ.ค.) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า ขณะนี้ผู้ติดเชื้อยังตรวจไม่พบความผิดปกติของทารกในครรภ์ โดยได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ดำเนินมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันอย่างต่อเนื่องในกลุ่มเจ้าหน้าที่และผู้ป่วยที่เข้ารับการบริการที่โรงพยาบาลศรีธัญญา เพื่อป้องกันการระบาดที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งจากการสอบสวนโรคโดยทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว และการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกเพิ่มเติม ปรากฎว่ายังคงมีหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อเพียง 1 ราย
ทั้งนี้ โรคติดเชื้อไวรัสซิกา มียุงลายเป็นพาหะนำโรค เมื่อถูกยุงลายที่มีเชื้อไวรัสซิกากัด อาจจะเริ่มปรากฎอาการใน 4 - 7 วัน อาการที่พบบ่อย คือ มีไข้ ออกผื่น ตาแดง ปวดข้อ ข้อบวม ปวดหลัง และอาจมีอาการอื่นๆได้ เช่น อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ต่อมน้ำเหลืองโต และอุจจาระร่วง ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง และหายได้เอง ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันเฉพาะ การรักษาจึงต้องรักษาตามอาการเพื่อบรรเทาการเจ็บป่วย หากมีอาการไข้ ออกผื่น ตาแดง หรือปวดข้อ โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ ให้รีบปรึกษาแพทย์ ในกรณีมีไข้ แนะนำให้รับประทานยาพาราเซตามอล ห้ามรับประทานยาแอสไฟริน หรือยาแก้ปวดลดไข้กลุ่มอื่น
การป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสซิกาที่ดีสุด คือ ระวังไม่ให้ยุงกัด นอนในมุ้งและทายากันยุง รวมทั้งการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยขอให้ยึดหลัก 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค คือ โรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา
1.เก็บบ้าน ให้สะอาด โล่ง ไม่ให้มีมุมอับทึบ เป็นที่เกาะพักของยุง
2.เก็บขยะ เศษภาชนะรอบบ้าน โดยทำต่อเนื่องสัปดาห์ละครั้ง ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และ
3.เก็บน้ำ สำรวจภาชนะใส่น้ำ ต้องปิดฝาให้มิดชิด ป้องกันยุงลายไปวางไข่