ไม่พบผลการค้นหา
หลังจากซบเซาไปนาน ย่านการค้าของคนจีนในปัตตานีกำลังฟื้นคืนชีวิตอย่างช้าๆ ด้วยเสน่ห์ของความเก่าที่ดึงดูดกิจกรรมทั้งเพื่อศิลปะและการท่องเที่ยว แต่ที่มาพร้อมกับความเก่าก็คืออดีตซึ่งมักจะเป็นประเด็น

ถนนปัตตานีภิรมย์วิ่งขนานแม่น้ำปัตตานีไปบรรจบถนนเส้นสั้นชื่อเป็นภาษามลายูว่าอาเนาะรู อาณาบริเวณรอบถนนสองเส้นนี้เป็นพื้นที่ที่เรียกกันว่าตลาดเก่า “กือดาจีนอ” กือดาที่แปลว่าตลาด และจีนอที่หมายถึงจีน เกือบสุดถนนสายนี้เป็นที่ตั้งของศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ย่านนี้จึงอาจถือได้ว่าเป็นสัญลักษณ์ของความสัมพันธ์ระหว่าง “จีนอ” กับปัตตานีก็ว่าได้

บ้านหลายหลังบนถนนอาเนาะรูเป็นบ้านเก่าหน้าตาย้อนยุค ใกล้หัวมุมถนนมีร้าน “โรงเตี๊ยม” ในร้านนอกจากอาหารและเครื่องดื่มแล้วยังเสิร์ฟความทรงจำในอดีตผ่านสิ่งละอันพันละน้อยมากมาย ที่สำคัญถัดจากร้านนี้ไปเป็นบ้านที่เก่าที่สุดบนถนนอาเนาะรู

anohrue5.JPGanohrue1.JPG

“คนแถวนี้เขาเรียกบ้านกงสี” คุณพันธุ์ฤทธิ์ วัฒนายากร เปิดบ้านให้ชม “เป็นบ้านของต้นตระกูลคณานุรักษ์ คือบ้านของหลวงสำเร็จกิจกรจางวาง รับราชการในสมัยรัชกาลที่ 3”

บ้านกงสีมีลักษณะเรียบง่ายอย่างยิ่ง ขื่อบนเพดานแต่ละอันทำจากไม้ทั้งต้น ตรงกลางบ้านเป็นห้องโถงขนาดไม่ใหญ่ ด้านในตั้งโต๊ะหมู่บูชาเทพเจ้าและบรรพบุรุษ ด้านซ้ายและขวาของโถงประกบด้วยห้องสองห้อง ห้องด้านซ้ายเป็นที่พักอาศัย ขณะนี้เต็มไปด้วยรูปภาพของบรรพบุรุษ

ส่วนห้องด้านขวาที่ขณะนี้เป็นที่เก็บของและภาพวาดจากเมืองจีนที่สีสันสดใหม่ราวกับเพิ่งวาดเมื่อไม่นานมานี้ ห้องนี้ในอดีตเคยใช้เป็นที่คุมขังนักโทษ ประตูบ้านเป็นบานไม้ใหญ่ใช้ระบบสลักลงดานด้วยเดือยไม้แบบพิเศษ มองจากด้านนอกจะเห็นหลังคาที่แอ่นลงตรงกลางและกระเบื้องเก่าที่หาไม่ได้แล้ว สภาพบ้านกงสีแทบจะไม่บ่งบอกว่ามีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3

bankongsee.jpg

“คุณทวดผมได้ยินว่าเมืองไทยมีพระมหากษัตริย์เป็นจีนฮกเกี้ยนคือพระเจ้าตากสิน ก็เลยรวบรวมคนฮกเกี้ยนด้วยกันนั่งสำเภามา" อย่างไรก็ตาม เมื่อมาถึงกรุงเทพฯในสมัยรัชกาลที่สาม ก็สืบรู้ว่าเจ้าเมืองสงขลาเป็นจีนฮกเกี้ยน เลยล่องเรือต่อมาจากกรุงเทพมาขึ้นที่สงขลา” คุณพันธุ์ฤทธิ์เล่า

“ค้าขายอยู่ที่สงขลาได้ซักพักก็ได้ข่าวว่า ปัตตานีมีเรื่องวุ่นวายระหว่างไทยพุทธกับมุสลิม ก็เลยอาสาเจ้าเมืองสงขลามาช่วยปราบ พอปราบชนะ เจ้าเมืองสงขลาก็เลยตั้งให้เป็น หลวงสำเร็จกิจกรจางวาง ควบคุมเก็บภาษีอากรของคนจีนและคนไทยพุทธส่งไปให้เจ้าเมืองสงขลา ตอนนั้นปัตตานีแบ่งเจ้าเมืองมุสลิมฝ่ายหนึ่ง เจ้าเมืองสงขลาก็ดูแลคนจีนกับคนไทยฝ่ายหนึ่ง”

panrit.jpg

คุณพันธุ์ฤทธิ์ วัฒนายากร

บุตรหลานของหลวงสำเร็จกิจกรจางวางรุ่นถัดๆ มาได้เข้ารับราชการและดำรงตำแหน่งสำคัญหลายต่อหลายคน บ้านที่อยู่ในรัศมีโดยรอบบ้านกงสีล้วนเป็นของคนในตระกูลหรือที่เกี่ยวดองกับตระกูลคณานุรักษ์ทั้งสิ้น คนในตระกูลนอกจากรับราชการแล้วยังทำธุรกิจหลายอย่าง ตัวหลวงสำเร็จกิจกรจางวางได้รับพระราชทานที่ดินที่บันนังสตาเพื่อทำเหมืองดีบุก ซึ่งเป็นกิจการที่ทำสืบทอดกันเรื่อยมา

anohrue3 (1).JPG

“คุณทวดผม (พระจีนคณานุรักษ์) เมื่อก่อนทำเหมืองแร่ สมัยก่อนการคมนาคมไม่สะดวกมาก ๆ ไปทำเหมืองแร่ที่ยะลา ที่บันนังสตา ก็ล่องแพจากปัตตานี แพต้องทวนน้ำขึ้นไป ก็ต้องจ้างคนผูกเชือกสองฝั่งคลอง ลากขึ้นไปถึงยะลา ใช้เวลาเดือนหนึ่งกว่าจะถึง” หรือการเดินทางไปธารโตที่อยู่ใกล้ๆเบตงนั้นต้องใช้เวลาถึง 3 เดือน พวกเขาทั้งล่องเรือและขี่ช้าง ผลของการเดินทางอันใช้เวลายาวนานในแต่ละหนทำให้พระจีนคณานุรักษ์ได้ภรรยาเพิ่มหลายคน ในขณะที่ในด้านธุรกิจ นอกจากเหมืองดีบุกแล้ว พวกเขายังได้สัมปทานทำโรงงานไฟฟ้าพลังงานน้ำมัน คุณพันธุ์ฤทธิ์บอกว่าเวลาไฟดับคนในบ้านต้องวิ่งแก้ปัญหากันจ้าละหวั่น

ช่วงที่ต้นตระกูลคณานุรักษ์มาอยู่ปัตตานีนั้น ชุมชนคนจีนเริ่มย้ายออกจากกรือเซะไปอยู่แถวถนนอาเนาะรู ถนนเส้นนี้ติดท่าเรือมีเรือประมงนำปลาขึ้นมาขาย ถนนจึงกลายเป็น “กือดาจีนอ” ขายสินค้าสารพัดอย่าง จากชุมชนมุสลิมที่ทำการประมงและขายเครื่องหอม เครื่องเทศ สินค้าการเกษตร ผลไม้ ขณะที่คนจีนนั้นขายสินค้า “พวกเทคโนโลยีสมัยโบราณ” ความสัมพันธ์ระหว่างจีน มุสลิม ไทย

ในความเห็นของคุณพันฤทธิ์นั้นเป็นความสัมพันธ์ฉันพี่น้อง “อยู่กันแบบไม่มีเหตุการณ์อะไรเลย อยู่กันแบบพี่น้อง ไม่ต้องไปไกลหรอกสมัยผม ยังทันว่าคุณตาผมที่เป็นนายกเทศมนตรีตอนนั้น อนันต์ ตังคณารักษ์ แกก็เป็นที่นับหน้าถือตาของทั้งไทยพุทธ ทั้งมุสลิม บ้านแกไม่เคยปิดเลย ในบ้านทำกับข้าวเป็นกระทะใหญ่ๆ มุสลิมก็ได้ ไทยพุทธก็ได้ เข้าไปกินได้ตลอดเวลา” ในช่วงเวลาที่ผ่านมาตระกูลคณานุรักษ์จึงไม่ได้มีแต่คนเชื้อสายจีนล้วนๆ คุณพันฤทธิ์บอกว่ามี “คนใน” แต่งเข้าตระกูลไม่น้อย “อิทธิพลมลายูเยอะ เพราะว่าเราอยู่ในถิ่นเขา อย่างญาติพี่น้องผมเองก็ไปแต่งงานกับมลายูมุสลิมก็เยอะ ในตระกูลวัฒนายากร ตระกูลคณานุรักษ์ ยิ่งตระกูลคณานุรักษ์แต่งงานกับมุสลิมเยอะ”

ชุมชนชาวจีนและถนนอาเนาะรูได้มีโอกาสต้อนรับบุคคลสำคัญหลายคน รัชกาลที่ 5 เคยเสด็จเยือนปัตตานีและศาลเจ้าแม่ล้มกอเหนี่ยวผ่านถนนเส้นนี้มาแล้ว “คุณทวดผม พระจีนคณานุรักษ์รับเสด็จ ท่านบันทึกไว้ว่ารับเสด็จรัชกาลที่ห้าขึ้นจากท่าน้ำ แล้วก็ปูผ้าขาวเพราะว่าถนนมีโคลน เอาผ้าขาวปูไปจนถึงศาลเจ้า”

เมื่อสภาพชุมชนเปลี่ยน ศูนย์กลางการค้าขายในเมืองก็ย้ายตามชุมชนออกไปสู่ที่อื่นๆ ยิ่งเวลาผ่านไป ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นรอบด้านทำให้ธุรกิจในตระกูลคณานุรักษ์เปลี่ยนไปด้วย สัมปทานโรงไฟฟ้าหมดอายุลง กิจการเดินเรือและเรือประมงยกเลิก แม้แต่เหมืองดีบุกก็กลายเป็นสวนยาง กิจการปั๊มน้ำมัน โรงน้ำแข็งและกิจการอื่นๆ อีกหลายอย่างทยอยปิดไปตามยุคที่ราคาสินค้าตก คุณพันธุ์ฤทธิ์เล่าว่า บุตรหลานต่างขยับขยายไปธุรกิจทำอย่างอื่นและหลายคนไม่ได้กลับบ้าน สภาพของถนนอาเนาะรูและปัตตานีภิรมย์จมลงสู่ความเงียบ

anohrue9.JPG

แต่มาวันนี้ “ความเก่า” ของชุมชนกือดาจีนอกำลังกลายเป็นตัวผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง จังหวัดปัตตานีมีแผนจะพัฒนาย่านนี้ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว เนื่องจากศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวก็เป็นที่ที่มีคนไปเยือนเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว โดยเฉพาะในช่วงที่มีงานสมโภช ขณะนี้มีโครงการจัดทำวอล์กกิงสตรีต บูรณะบ้านเรือนรอบๆ ให้มีสภาพใกล้เคียงกับของเดิม ที่มุมถนนปัตตานีภิรมย์กำลังมีการบูรณะบ้านเดิมของขุนพิทักษ์รายา โดยเจ้าของคือคุณอนุศาสน์ สุวรรณมงคล นักธุรกิจเจ้าของโรงแรมซีเอส ปัตตานี ที่มีเป้าหมายจะเปิดบ้านนี้ให้เป็นพิพิธภัณฑ์

anohrue14 (1).JPG

อีกด้านหนึ่งนั้น คนรุ่นใหม่หลายคนก็กำลังถูกดูดด้วยความเก่าของกือดาจีนอเช่นกัน มีการเข้าไปลงทุนและทำกิจกรรมต่างๆในพื้นที่ ร้านกาแฟหน้าตาสุด “คูล” เริ่มปรากฏตัว เช่นร้านออลกู้ดที่เสิร์ฟกาแฟพร้อมวิวริมแม่น้ำก็เป็นร้านของลูกหลานคนในย่านตลาดเก่าที่ “กลับบ้าน” เพื่อดูแลธุรกิจครอบครัว อันเป็นเหตุผลที่ดึงคนรุ่นใหม่ไม่น้อยกลับคืนสู่ปัตตานี

อีกแห่งที่อาจจะถือได้ว่าเป็นกลุ่มที่เข้าไปบุกเบิกก็คือร้านกาแฟหน้าตาสุดชิค In_t_af Cafe & Gallery หรือ อินตออาฟ ที่ดัดแปลงมาจากโกดังเก่านำมาตกแต่งใหม่ในสภาพดิบเท่

ติดๆ กันคือ “มลายูลิฟวิ่ง” ซึ่งเป็นที่รวมตัวของกลุ่มสถาปนิกในพื้นที่ที่จัดกิจกรรมมาแล้วหลายรอบและแทบจะเป็นโชว์เคสของทัศนะการใช้พื้นที่แบบใหม่ กล่าวคือผนวกความเก่าเข้ากับความใหม่และยึดโยงกับสิ่งที่มีอยู่ เราจึงได้เห็นต้นไม้เก่ากลางบ้านพร้อมโครงอาคารบางส่วนที่ผุพังผสมผสานกับส่วนที่ทันสมัย พื้นที่ตรงนี้ศิลปินนักถ่ายภาพรุ่นใหม่อย่าง เช่น มูฮัมหมัดซอเร่ เดง เคยใช้เป็นสถานที่จัดแสดงงานภาพถ่ายเดี่ยวของเขามาแล้ว

melayuliving2.JPGmelayuliving1.JPG

กลุ่มมลายูลิฟวิ่งยังจัดกิจกรรมเดินชมย่านเมืองเก่าซึ่งราชิต ระเด่นอาหมัด ประธานกลุ่มอธิบายว่ากลุ่มได้รับทุนจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมความรู้เรื่องพื้นที่นี้ มีการทำแผนที่เพื่อเดินย่านเมืองเก่าที่ประกอบด้วย ถนนอาเนาะรู ปัตตานีภิรมย์ และ ถนนฤาดี ซึ่งเมื่อพวกเขานำชื่อรวมกันได้ชื่องานว่า “ถนนอา-รมย์-ดี”

“ไฮไลต์เริ่มตั้งแต่ย่านนี้ เป็นย่านการค้าเก่า ทำการค้ากับต่างประเทศมาก่อน ของบางอย่างที่ปีนังมี เราก็มี ปัตตานีภิรมย์ก็เป็นย่านการค้าติดแม่น้ำ มีปัตตานีเบย์ที่ทำเรื่องท่าเรือ ส่งของ ที่ถนนฤาดีก็มีป้ายอีซูซุเก่าที่คนญี่ปุ่นเขาบอกนี่เป็นโลโก้แรกๆ ของอีซูซุ”

พื้นที่ที่กลุ่มมลายูลิฟวิ่งเปิดขึ้นมาจึงกลายเป็นการผสานศิลปะเข้ากับความเก่า กิจกรรมของพวกเขากำลังดึงคนที่ทำงานในสายงานศิลปะต่างๆไปพบกันในประเด็นภาคใต้ ราชิตระบุว่ากลุ่ม “อยากจะสื่อถึงพื้นที่เหมือนล้านนา มลายูคือพื้นที่สามจังหวัด ไม่เกี่ยวกับศาสนา แล้วเราต้องการให้เขามองว่ามุสลิมเอย ไทยพุทธ หรือว่าคนจีน แต่ก่อนเคยอยู่ร่วมกันได้ปกติ ตรงนี้เราก็รู้สึกว่ายิ่งอยู่ย่านแบบนี้มันยิ่งทำให้รู้สึกว่า เราทำงานอะไรก็ได้ที่ให้เขาได้รู้สึกว่ามันไม่เกี่ยวกับศาสนา ไม่เกี่ยวกับอะไรเลย”

การฟื้นกือดาจีนอของปัตตานีขณะนี้จึงเป็นการกระทำผ่านงานศิลปะและการเป็นหุ้นส่วนในเชิงเศรษฐกิจ แต่ถึงที่สุดแล้วสิ่งที่พวกเขาทำก็คือการฟื้นส่วนหนึ่งของอดีตของพื้นที่ซึ่งไม่ได้มีเพียงด้านที่สดใสเท่านั้น แต่หลายอย่างล้วนมีร่องรอยข้องแวะกับความขัดแย้ง โดยเฉพาะความสัมพันธ์ของคนกลุ่มที่เป็นข้าราชการและชุมชน ในที่อื่นๆของประเทศนั้น การอธิบายตัวตนของพื้นที่ขัดแย้งมักจะทำโดยต้องมองข้ามบางสิ่งบางอย่าง การฟื้นอดีตของตลาดเก่าของปัตตานีจึงนับเป็นความท้าทายด้วยว่า พวกเขาจะรับมือสิ่งที่อยากจำและที่ควรจำอย่างไร