ไม่พบผลการค้นหา
ชาวพม่ามุสลิมจำนวนมากที่แม่สอดไม่ได้รับการรับรองสัญชาติเมียนมาเพื่อทำ บัตรแรงงาน เพราะถูกเหมารวมว่าเป็นชาวโรฮิงญา ซึ่งทางการเมียนมาไม่ยอมรับว่าเป็นพลเมือง

วันที่ 31 ธันวาคมนี้ จะถึงกำหนดสิ้นสุดคำสั่งหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44 ที่ให้ระงับการใช้กฎหมายแรงงานฉบับใหม่ชั่วคราว เพื่อเปิดโอกาสให้แรงงานทำบัตรแรงงานเล่มสีแดงและเขียว แม้บางคนจะเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย โดยหลังจากนี้ แรงงานทั้งหมดจะต้องผ่านกระบวนการ MOU มาจากเมียนมา แต่ขณะนี้ มีคนได้บัตรแรงงานไปเพียง 220,000 คนจากที่ประเมินไว้ว่ามีแรงงานต่างด้าวในไทยทั้งหมด 400,000 คน โดยส่วนหนึ่งของคนที่ยังไม่ได้บัตรแรงงานก็คือ ชาวพม่ามุสลิม ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโรฮิงญา

แรงงานจะต้องจ่ายเงิน 310 บาทที่ร้านเซเว่น อีเลเว่นเพื่อจองคิวไปขอใบรับรองสัญชาติ และเมื่อถึงคิวแล้วขั้นตอนการขอใบอนุญาตทำงานมี 4 ขั้นตอน ได้แก่

1. การรับรองสัญชาติ ซึ่งทางการของประเทศต้นทางจะเป็นผู้เก็บข้อมูล ซักประวัติว่ามาจากที่ไหน รู้รายละเอียดเกี่ยวกับหมู่บ้านนั้นจริงหรือไม่ ตรวจสอบอัตลักษณ์บุคคล และออกเอกสารรับรองสัญชาติ

2. ตรวจคัดกรองโรค ชำระค่าธรรมเนียมตรวจสุขภาพ 500 บาท ค่าประกันสุขภาพอีก 500 บาท

3. ทำวีซ่ากับตรวจคนเข้าเมือง และจ่ายเงิน 500 บาท

4. ยื่นเรื่องขอใบอนุญาตทำงาน พร้อมจ่ายเงิน 510 บาทให้กรมการจัดหางาน

แต่สำหรับชาวมุสลิมจำนวนมาก กระบวนการจบลงตั้งแต่ขั้นตอนที่ 1 คือการรับรองสัญชาติ

เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการของกรมการจัดหางานของอำเภอแม่สอด จังหวัดตากจะให้ข้อมูลกับวอยซ์ ทีวีว่า จากคนที่มายื่นเรื่องส่วนใหญ่ จะได้รับใบรับรองสัญชาติ จากศูนย์พิสูจน์สัญชาติของทางการเมียนมา หรือ ศูนย์ CI และบัตรแรงงานจากกรมการจัดหางานของไทย แม้จะได้มีเอกสารบัตรประชาชนเมียนมาและทะเบียนบ้านไม่ครบถ้วนก็ตาม รวมถึงชาวมุสลิมที่ไม่ใช่ชาวโรฮิงญาด้วย

อย่างไรก็ตาม ชาวมุสลิมหลายคนเปิดเผยกับวอยซ์ทีวีว่า ขั้นตอนการขอบัตรแรงงานของพวกเขาจบลงตั้งแต่ขั้นตอนแรก เนื่องจากทางการเมียนมาไม่รับรองสัญชาติให้กับชาวมุสลิม โดยให้เหตุผลว่า พวกเขาไม่มีบัตรแต่การทำบัตรประชาชนของชาวมุสลิมในเมียนมาก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย มะโหน่ย แรงงานชาวพม่าสุมลิม จากรัฐกะเหรี่ยงระบุว่า คนมุสลิมที่มีบัตรประชาชนเมียนมามีไม่มากนัก เพราะส่วนใหญ่จะถูกปฏิเสธไม่ให้ชาวมุสลิมทำบัตรประชาชน และการที่ชาวมุสลิมมีชื่อในทะเบียนบ้านเมียนมาก็ไม่เพียงพอให้ศูนย์ CI รับรองว่า พวกเขาเป็นพลเมืองเมียนมา ต่างจากชาวพุทธที่แม้จะไม่มีบัตรประชาชนก็ยังได้รับการรับรองสัญชาติ

คุณซันนี่ นายจ้างที่ตลาดค้าวัวที่แม่สอดเปิดเผยว่า เขาได้ติดต่อนายหน้าทำเรื่องขอรับรองสัญชาติและทำบัตรแรงงานต่างด้าวให้ลูกจ้างชาวพม่าทั้งหมด 20 คน ซึ่งเป็นชาวพุทธ 2 คน และชาวมุสลิมอีก 18 คนไปในวันเดียวกันเมื่อ 2 เดือนก่อน โดยรอเพียง 2 สัปดาห์ แรงงานชาวพุทธก็สามารถทำเรื่องและได้บัตรแรงงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่ชาวมุสลิมกลับถูกปฏิเสธคำขอใบรับรองสัญชาติเมียนมา เขาจึงไปสอบถามกับศูนย์ CI แล้วได้คำตอบว่า ชาวมุสลิมก็เหมือนกับชาวโรฮิงญาทั้งหมด แม้เจ้าหน้าที่ศูนย์ CI จะรู้ว่า แรงงานเหล่านี้ไม่ใช่ชาวโรฮิงญา

ปัญหาการไม่รับรองสัญชาติให้ชาวมุสลิมทำให้มีช่องโหว่ให้นายหน้าหลอกเอาเงินนายจ้างและแรงงานชาวมุสลิมได้ง่ายขึ้น โดยซอว์ ซอว์ แรงงานชาวมุสลิมที่อยู่ไทยมากว่า 5 ปีและเคยมีบัตรแรงงานสีชมพูมาแล้ว ระบุว่า เขาต้องเสียเงิน 4,310 บาทที่เขาเก็บจากรายได้วันละไม่กี่ร้อยบาทให้กับนายหน้า ให้ช่วยกรอกเอกสารการขอบัตรแรงงาน แต่ผ่านไปเป็นเดือนแล้ว นายหน้าอ้างว่า ศูนย์ CI ไม่รับรองสัญชาติให้ชาวมุสลิม ทำให้ซอว์ ซอว์และแรงงานพม่ามุสลิมหลายคนได้เงินคืนเพียงครึ่งเดียว โดยที่ไม่ได้แม้แต่บัตรคิวจากเซเว่นอีเลเว่น ในการไปยื่นเรื่องที่ศูนย์ CI